posttoday

เจาะอุตฯความงามอาเซียน

06 เมษายน 2559

ธุรกิจความสวยความงามอีกหนึ่งอุุตสาหกรรมที่สำคัญของไทย ด้วยมีแนวโน้มการเติบโตที่สวนทางกับเศรษฐกิจทั้งในประเทศและระดับโลก

โดย...ปิยนุช ผิวเหลือง

ธุรกิจความสวยความงามอีกหนึ่งอุุตสาหกรรมที่สำคัญของไทย ด้วยมีแนวโน้มการเติบโตที่สวนทางกับเศรษฐกิจทั้งในประเทศและระดับโลก โดยเฉพาะกลุ่มกำลังซื้อในตลาดประเทศเกิดใหม่ในอาเซียน ทั้งกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่ต่างหันมาสนใจสินค้ากลุ่มนี้มากขึ้นและกำลังเป็นโอกาสของผู้ประกอบการธุรกิจไทยในอุตสาหกรรมดังกล่าวเวลานี้    

อนุชนา วิชเวช ผู้อำนวยการโครงการ บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า สถานการณ์การส่งออกอุตสาหกรรมความงามของไทยในปัจจุบันนี้ มีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเติบโตต่อเนื่อง 8-10% แบ่งสัดส่วน 27% เป็นการทำตลาดส่งออกในภูมิภาคอาเซียน คือ มาเลเซีย เมียนมา เวียดนาม  กัมพูชา และลาว โดยสินค้าสำคัญ คือ ผลิตภัณฑ์เส้นผม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก และดูแลผิว (สกินแคร์) ที่มีสัดส่วนการทำตลาดกว่า 40%

“ตลาดความงามของอาเซียนยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอีกมาก โดยในปี 2559 นี้ คาดมีมูลค่ารวมกว่า 5 แสนล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 3-6% ในแต่ละปี ขณะที่ตลาดเครื่องสำอางระดับบนหรือพรีเมียมของเอเชียตั้งแต่ปี 2555-2558 เติบโตขึ้นสูงเป็นอันดับ 1 ทั่วโลก เฉลี่ยปีละ 19% จากรวมมูลค่าตลาดกว่า 2.1 แสนล้านบาท” อนุชนา กล่าว

ส่วนแนวโน้มความต้องการสินค้าความงามของผู้บริโภคในตลาดอาเซียนนั้น พบว่าเมียนมาและกัมพูชา นิยมใช้เครื่องสำอางไทยและติดตามกระแสความงาม โดยมีไทยเป็นต้นแบบ โดยคนกัมพูชาเชื่อว่ารูปลักษณ์ที่ดีสื่อถึงสถานะทางการเงินที่ดีด้วย ทำให้ 39% ของชาวกัมพูชาใช้สกินแคร์อย่างต่อเนื่อง 21% ของชาวกัมพูชามีการแต่งหน้าทุกวัน และ 40% ของชาวกัมพูชาเล็งเห็นว่าการพบแพทย์ผิวหนังเป็นสิ่งที่สำคัญ

สำหรับผู้บริโภคในลาว แม้จะมีกำลังซื้อไม่มากแต่ค่อนข้างให้การตอบรับที่ดีกับสินค้าไทยต่อเนื่อง ส่วนเวียดนามผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอื่น และมีทัศนคติที่ดีต่อสินค้าแบรนด์ไทย ส่วนตลาดอินโดนีเซียมีความน่าสนใจด้วยเป็นตลาดที่ใหญ่ ล่าสุดมีมูลค่ากว่า 1.2 แสนล้านบาท เติบโต 17% ต่อปี แต่ยังมีข้อจำกัดในด้านการขนส่งสินค้า ด้วยภูมิศาสตร์ที่มีพื้นที่เป็นหมู่เกาะ รวมถึงข้อจำกัดในด้านการนำเข้าสินค้าของรัฐบาลอินโดนีเซีย ที่สนับสนุนให้สินค้าทุกชนิดมีเครื่องหมายฮาลาล

นอกจากนี้ ยังพบว่าผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมจากไทยยังครองมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก และผลิตภัณฑ์สกินแคร์อันดับ 12 ของโลก จากปัจจุบันสินค้าความงามของไทยมีมูลค่ามากถึง 2.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าตลาดภายในประเทศ 1.5 แสนล้านบาท โดยอุตสาหกรรมความงามในตลาดโลกยังมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี จากเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 4.5%  และในปี 2560 ตลาดสินค้าความงามทั่วโลกคาดจะมีมูลค่ารวมกว่า 9.3 ล้านล้านบาท

ด้าน เกศมณี เลิศกิจจา นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย กล่าวว่า กระแสความงามในตลาดอาเซียนยังนิยมบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติและนิยมผิวเรียบเนียนและขาว ซึ่งผู้ประกอบการไทยได้เล็งเห็นถึงความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงรัฐบาลไทยมีนโยบายสนับสนุนด้านนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์มากขึ้น 

เกรซ ล้อบุณยารักษ์ เจ้าของผลิตภัณฑ์พลูคาวสกัด ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กล่าวว่า ได้เปิดตัวสินค้าอย่างเป็นทางการราว 1 เดือนที่ผ่านมา พร้อมวางแผนธุรกิจเพื่อนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเข้าไปทำตลาดต่างประเทศ ทั้งจีนและเมียนมา ด้วยมองเห็นโอกาสจากแนวโน้มการตอบรับที่ดีของผู้บริโภคจากทั้งสองประเทศ ซึ่งมองว่าการนำสินค้าเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในระดับสากล จะยังเป็นการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ธุรกิจได้อีกช่องทางหนึ่ง

ทั้งนี้ จากแนวโน้มดังกล่าว บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย เตรียมจัดงาน “อาเซียนบิวตี้ 2016” ระหว่างวันที่ 28-30 เม.ย. ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค คาดมีผู้ประกอบการกว่า 200 ราย จาก 25 ประเทศ มีผู้ร่วมงานกว่า 8,000-1 หมื่นรายในปีนี้ มีเงินสะพัดกว่า 800 ล้านบาท จากปีก่อน 600 ล้านบาท

ทิศทางดังกล่าวผู้ประกอบการธุรกิจไทยต้องจับตาพร้อมปรับแผนธุรกิจและผลิตภัณฑ์ เพื่อรองรับกับกำลังซื้อกลุ่มใหม่ในตลาดอาเซียน