posttoday

โค้ชอย่างไรให้คุ้มค่า

24 มีนาคม 2559

การโค้ชเป็นกระบวนการที่สร้างสรรค์ในการช่วยให้บุคคลเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนา

โดย...ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ

การโค้ชเป็นกระบวนการที่สร้างสรรค์ในการช่วยให้บุคคลเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนา โดยได้นำศักยภาพในตนเองออกมาใช้สูงสุด การโค้ชเน้นการเปลี่ยนแปลงที่มีความสมดุลที่รวมถึงความคิดและความรู้สึก ไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนแปลงแบบชั่วครั้งชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรานำการโค้ชมาใช้พัฒนาผู้บริหาร หรือผู้บริหารใช้การโค้ชในการพัฒนาผู้ใต้บังคับบัญชา การโค้ชไม่ใช่ไม้กายสิทธิ์ที่สามารถใช้แล้วเห็นผลที่คาดหวังได้ทันที องค์กรที่ใช้เครื่องมือการโค้ชที่ครบทุกมิติ ใช้ได้ง่าย และเป็นเครื่องมือที่มีการติดตามผล มีความสำคัญต่อความคุ้มค่าต่อการลงทุน

บริษัทที่เป็นพาร์ตเนอร์แห่งหนึ่งของ แอคคอม แอนด์ อิมเมจ อินเตอร์เนชั่นแนล คือ บริษัท Organization Navigation Dynamics ผู้เชี่ยวชาญด้านการโค้ช ด้วยประสบการณ์กว่า 25 ปี สำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่มีผลงานการโค้ชที่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มบริษัทที่อยู่ในอันดับ Fortune 100 ศูนย์วิจัยของพาร์ตเนอร์ของเราที่นี้ ได้ทำการศึกษาติดตามความคุ้มค่าของการนำการโค้ชมาใช้ในองค์กร โดยศึกษาผู้บริหาร 500 คน จาก 12 ประเทศ รวมองค์กรที่ต่างกันทางอุตสาหกรรมและธุรกิจกว่า 10 ประเภท โดยการเปรียบเทียบผลงานทั้งสามมิติ คือ หนึ่ง ประสิทธิผลด้านพัฒนาตนเอง สอง ด้านพัฒนาสัมพันธภาพในทีม และสาม ด้านภาพใหญ่คือประสิทธิผลขององค์กร โดยศึกษาก่อนและหลังการโค้ช ด้วยเครื่องมือการโค้ชที่ครบทุกมิติ ผลที่ออกมาผู้บริหารมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในทุกด้าน (ดังในภาพ)

การศึกษานี้ยังระบุความสำคัญของการใช้การโค้ชที่ทั่วถึงทั้งองค์กร คือ การใช้โค้ชจากภายนอก และการสร้างโอกาสในการได้รับการโค้ชให้กับบุคลากรในองค์กรอย่างทั่วถึง ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยของสหพันธ์โค้ชนานาชาติ ที่เผยผลออกมาในปี 2558 องค์กรที่เข้าร่วมสำรวจจากหลากหลายประเทศ ที่สร้างวัฒนธรรมการโค้ช ได้พิจารณาใช้การโค้ชทั้งสามรูปแบบ คือ โค้ชจากภายนอก (External Coach) คือใช้ผู้ที่เป็นโค้ชโดยอาชีพ เข้ามาโค้ชผู้บริหาร สอง สร้างโค้ชภายในองค์กร (Internal Coach) สาม พัฒนาผู้จัดการในองค์กรเป็นโค้ช (Manager as a Coach) โดยอบรมให้ผู้บริหารและผู้จัดการมีทักษะการโค้ช