posttoday

อย่าปล่อยให้อาวุธเคมีกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการโจมตี

29 สิงหาคม 2559

การโจมตีด้วยอาวุธเคมีหลายครั้ง โดยประธานาธิบดีอัสซาด แห่งซีเรีย ทำให้สหประชาชาติกังวลว่าสิ่งนี้อาจกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่

การโจมตีด้วยอาวุธเคมีหลายครั้ง โดยประธานาธิบดีอัสซาด แห่งซีเรีย ทำให้สหประชาชาติกังวลว่าสิ่งนี้อาจกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่

ขณะนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ประธานาธิบดีบาร์ซา อัล อัสซาด ผู้นำซีเรีย และกลุ่มไอเอสในอิรักได้ใช้อาวุธเคมีในการโจมตี นอกจากนั้นตลอด 2 ปีครึ่งที่ผ่านมาก็ยังมีหลักฐานออกมาสนับสนุนเช่นกันว่า ประธานาธิบดีอัสซาดเคยใช้การโจมตีในลักษณะนี้มาแล้ว ด้วยสารคลอรีน กับหลายเมืองในจังหวัดอิลดิบ ของซีเรีย

รายงานดังกล่าวได้รับการเปิดเผยโดยสหประชาชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประธานาธิบดีอัสซาดนั้นใช้อาวุธเคมีมาแล้วหลายครั้ง นั่นทำให้ทางคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกังวลว่า อาวุธเคมี กำลังจะกลายเป็นมาตราฐานใหม่ของการโจมตี ในยุคปัจจุบัน และนำมาสู่ความพยายามผลักดันมาตราการห้ามใช้อาวุธเคมี

นอกจากนั้นการโจมตีในแบบของอัสซาดยังเป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มไอเอสใช้อาวุธเคมีในการต่อต้านกลุ่มเพชเมอร์กา นักรบชาวเคิร์ดใน เมืองโมซุล ของอิรักเช่นกัน เนื่องจากกลุ่มไอเอสก็ได้เล็งเห็นแล้วว่าประสิทธิภาพของอาวุธเคมีนั้นร้ายแรงขนาดไหน

ในวันที่ 30 สิงหาคมนี้ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติจะทำการประชุมหารือเกี่ยวกับประเด็นนี้ แน่นอนว่าอาจมีมาตราการที่ออกมาเพื่อใช้ควบคุมประธานาธิบดีอัสซาด จากศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่กับกลุ่มไอเอสนั้นเป็นการยาก เนื่องจากไม่มีกฏใดจะสามารถควบคุมกลุ่มก่อการร้ายได้ ซึ่งนอกจากบทลงโทษจากการใช้อาวุธเคมีแล้ว สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งขณะนี้คือการกระทำตอบโต้

Hamish de Bretton-Gordon ที่ปรึกษาด้านการใช้อาวุธเคมี ผู้ทำงานเป็นเอ็นจีโอในอิรัก และซีเรียกล่าวว่า การกำหนดเขตพื้นที่ห้ามบินสำหรับเฮลิคอปเตอร์ ยานพาหนะทีใช้ในการบรรทุก และปล่อยอาวุธเคมีจะช่วยลดการโจมตีด้วยอาวุธเคมี นอกจากนั้น การเฝ้าติดตาม ไปจนถึงการอนุญาตให้เครื่องบินรบจากพันธมิตรระหว่างประเทศสามารถโจมตีเฮลิคอปเตอร์เหล่านั้นได้ หากตรวจพบว่ามีการใช้อาวุธเคมีขึ้น ก็เป็นแนวทางในการป้องกันเช่นกัน

เหล่านี้จะช่วยชีวิตของผู้คนในซีเรียได้ถึงหลายร้อยคนต่อสัปดาห์ รวมไปถึงกลุ่มเพชเมอร์กาผู้พยายามขับไล่กลุ่มไอเอสออกไปจากเมืองโมซุล ทั้งนี้ยังต้องติดตามกันต่อไปว่าข้อตกลงหลังการประชุมในวันพรุ่งนี้ โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะออกมาเป็นอย่างไร

ทั้งนี้คลอรีนเป็นสารอันตราย เพราะมีฤทธิ์กัดกร่อนเนื้อเยื่อ หากเข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจ อย่างที่ถูกนำใช้เป็นอาวุธเคมีในรูปของแก๊ซจะส่งผลให้เกิดความรู้สึกจะแสบเคือง และเผาไหม้ทางเดินหายใจ หากสัมผัสในปริมาณสูงเนื้อเยื่อปอดอาจถูกทำลายถาวร และมีโอกาสเสียชีวิตจากการขาดอากาศได้ จึงเป็นสารต้องห้ามตามอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธเคมี อย่างไรก็ตาม คลอรีนมีสีและกลิ่นเฉพาะตัว ดังนั้นผู้ประสบภัยจากคลอรีนมักจะรู้ตัวรวดเร็ว