posttoday

ทำไมไทยไม่ต้องวิตก วิกฤตขาดแคลนอาหารจากสงครามยูเครน

27 พฤษภาคม 2565

หวั่นสงครามก่อภัยความอดอยากระดับโลก หลายประเทศระงับส่งออกสินค้าอาหาร

1. สืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อมานานกว่า 3 เดือน ทำให้หลายประเทศทั่วโลกกำลังกังวลเกี่ยวกับวิกฤตขาดแคลนอาหารที่กำลังจะมาถึง เซม เอิซเดเมียร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของเยอรมนี กล่าวกับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น Westdeutsche Allgemeine Zeitung ว่าสงครามระหว่างสองประเทศอาจก่อให้เกิดภัยความอดอยากในระดับโลก

2. สงครามส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานอาหารของโลก เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ที่สุด ขณะที่ยูเครนก็ได้ชื่อว่าเป็น "ตะกร้าขนมปังของยุโรป" เนื่องจากเป็นแหล่งปลูกข้าวสาลี ข้าวโพด และธัญพืชอื่นๆ

3. โดยยูเครนส่งออกข้าวสาลีและข้าวโพดคิดเป็นสัดส่วน 12% และ 17% ของอุปทานทั่วโลกตามลำดับ ส่วนรัสเซียส่งออกข้าวสาลีเกือบ 17% ของอุปทานทั่วโลก ตามรายงานของ Business Insider ส่งผลให้ราคาอาหารเริ่มพุ่งสูงขึ้นนับตั้งแต่รัสเซียเปิดปฏิบัติการทางทหารในยูเครนเมื่อเดือนก.พ. ขณะที่ราคาข้าวสาลีพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบหลายปี รวมไปถึงราคาพลังงาน ราคาอาหารและสินค้าเกษตรอื่นๆ รวมถึงปุ๋ยก็เพิ่มขึ้นด้วย

4. Bloomberg รายงานว่าธนาคารโลก (World Bank) เตือนว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์รวมทั้งอาหาร และราคาพลังงานจะยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไปตลอดทั้งปี อันเนื่องมาจากสงครามในยูเครนที่ยืดเยื้อ และราคาสินค้าเหล่านี้อาจยังคงสูงไปจนถึงสิ้นปี 2024 เนื่องจากห่วงโห่อุปทานที่หยุดชะงัก

5. ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมาโดยเตือนถึงวิกฤตอาหารโลกที่เริ่มต้นขึ้นแล้ว อ้างอิงข้อมูลจากสถาบัน Peterson Institute for International Economics (PIIE) พบว่า ขณะนี้มีหลายประเทศที่มีนโยบายห้ามส่งออกสินค้าอาหาร

6. อย่างไรก็ตาม นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เชื่อมั่นว่าไทยมีความสามารถในการผลิตอาหารเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ โดยชี้ว่าไทยใช้วัตถุดิบภายในประเทศประมาณร้อยละ 75 และนำเข้าจากต่างประเทศร้อยละ 25

7. นายสนั่นกล่าวว่าไทยยังคงเป็นผู้ผลิตและส่งออกพืชผลทางการเกษตรและปศุสัตว์รายใหญ่ อาทิ ข้าว อ้อย และไก่ แต่ก็ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับเลี้ยงสัตว์อย่าง ข้าวสาลี และถั่วเหลือง ตลอดจนขาดแคลนปุ๋ยสำหรับภาคการเกษตร ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งจัดหาสินค้าจากประเทศอื่นเพื่อทดแทนการนำเข้าจากรัสเซีย แต่ยังคงเน้นย้ำว่าไทยคือ "Food Production Base ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก"

8. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2022 "The Hybrid Edition" ว่า "ยังไม่มีสัญญาณที่น่าเป็นห่วง" เกี่ยวกับการขาดแคลนอาหารในประเทศไทย ขณะที่ในไตรมาสแรกของปีนี้ไทยสามารถส่งออกสินค้าอาหารได้มากกว่า 286,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่แล้ว

Photo by REUTERS/Valentyn Ogirenko/File Photo