posttoday

ชนะเลือกตั้งแบบฝังคู่แข่งจมดิน ยังไงถึงเรียกว่า'Landslide'?

23 พฤษภาคม 2565

คำว่า Landslide กลายเป็นฮิตในการเมืองไทยไปแล้วในตอนนี้ หลังจากชัยชนะแบบ Landslide ของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และก่อนหน้านี้คือคำประกาศของ แพทองธาร ชินวัตร ที่ประกาศภารกิจแลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน

1. Landslide ที่แปลเป็นภาษาไทยว่า "ชัยชนะอย่างถล่มทลาย" หมายถึงผลการเลือกตั้งโดยที่ผู้สมัครหรือพรรคที่ได้รับชัยชนะได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น ในภาษาอังกฤษคำนี้ได้รับความนิยมในปี ค.ศ. 1800 เพื่ออธิบายถึงชัยชนะที่ฝ่ายค้านถูก "ฝัง" จากฝ่ายผู้มีชัยชนะที่ชนะด้วยคะแนนท่วมท้นจนคะแนนนั้นฝังฝ่ายตรงข้าม เหมือนดินที่ถล่มลงมาทับทุกสิ่งทุกอย่างบนเส้นทางของมัน 

2. ชัยชนะแบบ Landslide ไม่มีนิยามชัดเจนว่าต้องชนะด้วยอัตราส่วนคะแนนเท่าไรถึงจะเรียกว่าท่วมท้นจนฝังฝ่ายตรงข้ามแบบไม่ได้ผุดได้เกิด ในพจนานุกรม Cambridge Dictionary ระบุเพียงแค่ว่ามันเป็น "a clear victory in an election" หรือชัยชนะที่ชัดเจนในการเลือกตั้ง พูดภาษาบ้านๆ ก็คือ "ชนะใสๆ" นั่นเอง ขณะที่พจนานุกรม Merriam-Webster นิยามว่ามันคือ "to win an election by a heavy majority" คือ การชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่อย่างมาก 

3. Mary McMahon นักเขียนของเว็บไซต์ HistoricalIndex ในบทความเรื่อง What Is a Landslide Election? พยายามอธิบายว่าคำจัดความนั้นต่างกันออกไป โดยบางคนบอกว่าอัตราส่วนคะแนนต้องมากกว่า 5 จุดขึ้นไป (ซึ่งผู้เขียนบอกว่าค่อนข้างต่ำ) ในขณะที่คนอื่นบอกว่าอัตราคะแนนควรอยู่ที่ 10 หรือ 15 จุด และชี้ว่า "หากผู้สมัครได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย แสดงว่าได้รับมอบอำนาจจากประชาชนอย่างเข้มแข็ง"

4. จากข้อมูลของเว็บไซต์ FairVote ซึ่งให้ข้อมูลเรื่องการเลือกตั้งอย่างเป็นการในสหรัฐระบุว่า Landslide ต้องได้คะแนนเสียงในอัตราส่วนเหนือกว่าคู่แข่ง 20% หรือหากไม่อิงเปอร์เซนต์หนังสือบางเล่มเกี่ยวกับการเมืองสหรัฐระบุว่าชัยชนะแบบ Landslide ต้องชนะกันเหนือคู่แข่งเป็นล้านคะแนนขึ้นไป 

5. แล้วทำไมถึงชนะแบบ Landslide เรื่องนี้ Mary McMahon ยังตั้งข้อสังเกตว่า ชัยชนะแบบ Landslide นั้นเกิดขึ้นยาก โดยเฉพาะในประเทศขนาดใหญ่ เพราะเขตเลือกตั้งมักถูกแบ่งออกเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้สมัครรับคะแนนเสียงจากพลเมืองของฝ่ายตรงข้ามได้ยาก "โดยปกติแล้ว การเลือกตั้งอย่างถล่มทลายจะเกิดขึ้นเมื่อพลเมืองของประเทศหนึ่งไม่พอใจกับแนวทางการบริหารของรัฐบาล และพวกเขาเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคฝ่ายค้านโดยหวังว่าจะปรับปรุงสถานการณ์ของพวกเขา" 

6. ตัวอย่างการเลือกตั้งที่ชนะกันแบบ Landslide เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ปี 1984 โรนัลด์ เรแกน ได้รับคะแนนเสียงคะณะเลือกตั้ง 525 คะแนน (97.6%) ในขณะที่วอลเตอร์ มอนเดล ได้รับเพียง 13 คะแนน (2.4%) และปี 1988) จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช  ได้รับคะแนนเสียงคณะเลือกตั้ง 426 คะแนน (79.2%) ในขณะที่ไมเคิล ดูคากิส ได้รับเพียง 111 คะแนน (20.8%) ทั้ง 2 กรณีนี้เป็น Landslide ของกาเรมืองสหรัฐครั้งสำคัญที่สุดและล่าสุด

7. ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ได้คะแนน (อย่างไม่เป็นทางการ) 1,386,215 คะแนน ขณะที่อันดับที่ 2 คือ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ได้ 254,647 คะแนน เพียงแค่ 2 อันดับนี้อัตราส่วนเปอร์เซนต์ของคะแนนยังห่างกันเกือบ 85%

ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ภาพจาก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์