posttoday

เขย่าบัลลังก์สีจิ้นผิง ศึกนอกรุมจีนจะเอาให้ตาย มรสุมภายในยิ่งแรง

19 พฤษภาคม 2565

ไม่มีช่วงเวลาไหนที่บัลลังก์ของสีจิ้นผิงจะสั่นคลอนได้เท่ากับตอนนี้อีกแล้ว จับตา The Purge แผ่นดินจีน เปิดทางสีจิ้นผิงกุมอำนาจเด็ดขาด

ไม่มีช่วงเวลาไหนที่บัลลังก์ของสีจิ้นผิงจะสั่นคลอนได้เท่ากับตอนนี้อีกแล้ว

ไม่ใช่เพราะสงครามยูเครน ไม่ใช่เพราะไต้หวัน ไม่ใช่เพราะการยั่วยุของสหรัฐและพันธมิตร

แต่มาจากนโยบายภายในที่เขา "ยึดมั่น" อย่างยิ่ง นั่นคือ "การทำให้โควิดเป็นศูนย์อย่างมีพลวัตร" (Dynamic zero COVID)

ในเวลานี้ไม่มีประเทศไหนในโลกที่จะไล่กักตัวผู้ติดเชื้อ ไล่ตามตรวจผู้ใกล้ติดกันแบบบ้ำระห่ำเหมือนจีนอีก เพราะมันถึงเฟสที่จะต้องอยู่ร่วมกับโรคกันได้แล้ว และที่สำคัญการทำแบบจีนใช้งบประมาณมหาศาล และดูเหมือนต้องทำกันไม่รู้จักจบสิ้น ยิ่งทำให้เศรษฐกิจของชาติป่นปี้

เศรษฐกิจของจีนอ่อนแอลงบ้างเพราะมาตรการนี้ รัฐบาลจีนก็ยังพอรับได้ แต่นอกจีนนั้นเขารับกันไม่ได้ เพราะจีนเป็นกลไกหนึ่งของเศรษฐกิจโลก ยิ่งจีนปิดประเทศ ล็อคดาวน์ศูนย์กลางการเงิน/เศรษฐกิจ และปิดๆ เปิดๆ โรงงาน ซัพพลายเชนของโลกก็ยิ่งสั่นคลอน

เสียงกดดันให้จีนเลิกใช้นโยบายแบบนี้ดังขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่เพราะต้องการแทรกแซง แต่เพราะจีนทรุดโลกก็จะทรุดตามไปด้วย แม้แต่ ผอ. องค์การอนามัยโลกยังทนไม่ไหว บอกว่าแนวทางของจีนนั้น “จะไม่ยั่งยืน”

ปรากฏว่า ความเห็นของ ผอ. อนามัยโลกถูกถล่มในจีน หลังจากนั้นก็ถูกเซนเซอร์หายเข้ากลีบเมฆไป

ดูเผินๆ เหมือนคนจีนจะสามัคคียึดมั่นกับ Dynamic zero COVID แต่เปล่าเลย ในจีนตอนนี้บรรยากาศเขม็งเกลียวเพราะเจ้าสิ่งนี้

คลิปและข่าวหลุดอกมาจากจีนในต่อเนื่องเรื่องการประกาศในพื้นที่ล็อคดาวน์ มีทั้งความไม่พอใจที่ถูกล็อคแบบไร้ความหวัง การช่วยเหลือของภาครัฐไร้ประสิทธิภาพ

เซี่ยงไฮ้นั้นเกิดการประท้วงถี่เป็นพิเศษ แต่ "คิดเล่นๆ" เรายังพอเข้าใจได้ว่าคนเซี่ยงไฮ้มีชีวิตที่สุขสบายกว่าพื้นที่อื่นๆ ในจีน จึงอาจจะทนไม่ไหวเมื่อเจอกับมาตรการเข้มงวด พออยู่ในกฎระเบียบขึ้นมาจึงโวยวาย

แต่ไปๆ มาๆ ที่ปักกิ่งอันเป็นกล่องดวงใจของรัฐบาลจีนก็เกิดเรื่องทำนองเดียวกัน คราวนี้นักศึกษามหาวิทยาลัยปักกิ่งรวมตัวกันก่อหวอด ไม่พอใจที่จะมีการตั้งกำแพงปั้นหอพักกันเลย ทั้งๆ ที่นักศึกษาถูกล็อคห้ามเข้าห้ามออกจนลำบากลำบนกันอยู่แล้ว

มีรายงานวาจุดตรวจเชื้อในจีนบางแห่งต้องวางกำลังเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบกันแล้ว จากที่เดิมไม่มีแบบนี้ (ซึ่งที่ประเทศไหนๆ ก็ไม่น่าจะมี) นั่นแสดงถึงความตึงเครียดได้อย่างดี

และในโลกออนไลน์มีการเผยแพร่บทความยกย่องผู้นำคนจีนรุ่นก่อน เช่น จูหรงจี ในการควบคุมการระบาดโรค Hepatitis A ในปี 1988 ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นการตีวัวกระทบคราด

ยังไม่นับมนุษย์โซเชียลบางคนที่บ่น "คิดถึงทศวรรษที่ 90" ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จีนเหมือนหนุ่มสาวที่ร่าเริงกับยุคใหม่ ไม่ตึงเครียดเหมือนทุกวันนี้

ก่อนนี้ ผู้เขียนเขียนเคยบอกว่าชาตินิยมในจีนกำลังแข็งแกร่ง ซึ่งมันจริงในแง่ของการรับแรงกระแทกจากการ "บูลลี่" ภายนอก

แต่พอเจอเข้ากับความล้มเหลวของนโยบายภายใน ชาตินิยมจีนก็เริ่มปริแตก คนจีนตอนนี้เริ่มเถียงกันเองแล้วว่า ควรจะเชื่อมั่นกันแนวทางรับมือโควิดที่รัฐบาลเชื่อมั่นศรัทธาแค่ไหนดี

นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่เป็นความท้าทายทางการเมืองต่อสีจิ้นผิงโดยตรง เพราะนี่คือนโยบายที่เคยทำให้จีนรอดมาโดยตลอดการระบาดใหญ่ หากรอดไปได้จนสิ้นสุดการระบาด มันจะเป็นผลงานชิ้นโบแดงของประธานสี

แต่พอส่วนใหญ่ของโลกเขากำลังจะออกจากการระบาดใหญ่ จีนกลับติดกับดักของตัวองซะอย่างนั้น และผลงานชิ้นโบแดงกำลังกลายเป็นภยันตรายทางการเมืองต่อรัฐบาลจีน

สีจิ้นผิงที่ไม่ค่อยพูดไม่ค่อยโผล่ช่วงการระบาดใหญ่ ยังต้องมีแอ็กชั่นผ่านการประชุมกรมการเมือง เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งที่ประชุมประกาศกร้าวว่าจะ "ยึดมั่นในนโยบายทั่วไปของ 'Dynamic zero COVID' อย่างแน่วแน่ และต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยวกับคำพูดและการกระทำใดๆ ที่บิดเบือน ตั้งข้อสงสัยหรือปฏิเสธนโยบายป้องกันการแพร่ระบาดของประเทศเรา”

มันอาจวิเคราะห์ได้ว่าเป็นทั้งการตอบโต้แรงกดดันภายนอกในจีนเลิกนโยบายปิดบ้านปิดเมือง หรืออาจมองได้ว่าเป็นการติงความไม่พอใจของประชาชน "บางกลุ่ม" และยังอาจมองได้ว่าเป็นการเตือนไปยังกลุ่มการเมืองอื่นๆ ที่อาจฉวยโอกาสนี้สั่นคลอนอำนาจของสีจิ้นผิง

ใครไม่ทราบก็ควรทราบไว้ว่า การเมืองจีนนั้นแม้จะมีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้กุมอำนาจสูงสุด แต่ในพรรคนั้นมีกลุ่มก้อนทางการเมืองที่แตกต่างกัน พูดภาษาจีนเรียกว่า "พ่าย" หรือ "สี่" ภาษาการเมืองไทยคือ "มากันคนละสาย"

เพียงแต่เขาจะไม่ประกาศตัวกันว่าใครเป็นสายใคร เพราะเป็นเรื่องต้องห้ามของพรรค

ขณะนี้ ยังไม่มีสัญญาณการหาแพะทางการเมืองในจีน แต่มันมีโอกาสจะมีหรือไม่นั้นเป็นเรื่องน่าคิดเพราะสถานการณ์การเมืองของจีนปีนี้ไม่ธรรมดา

ในปีนี้ ซึ่งคาดว่าเป็นครึ่งหลังของปี จะมีการประชุม "คณะกรรมาธิการถาวรกรมการเมืองแห่งกรรมาธิการศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน" ครั้งที่ 20

การประชุมนี้จะเป็นการคัด "หัวกะทิ" ของผู้บัญชาการการเมืองจีน และจะบอกได้ว่าสีจิ้นผิงจะอยู่หรือจะไป หากอยู่ต่อสมาชิกใหม่ที่จะมาแทนคณะกรรมาธิการกรมการเมืองจะเป็นคนของเขาหรือไม่ เพราะหากใช่ มันจะยิ่งเสริมอำนาจของสีจิ้นผิง

ตามปกติแล้ว ในการประชุมครั้งนี้เป็นวาระที่สีจิ้นผิงต้องลงจากตำแหน่งได้แล้ว แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีอาการว่าจะสละเก้าอี้ แถมยังกุมมั่นกว่าเดิมด้วยการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเรื่องการครองตำแหน่งผู้นำแบบไม่มีกำหนด และผลักดัน "แนวคิดสีจิ้นผิง" ซึ่งทำให้เขามีสถานะประหนึ่งผู้นำในตำนานของจีนที่มี "แนวคิด" ให้คนทั้งประเทศต้องดำเนินตาม นั่นคือเหมาเจ๋อตงและเติ้งเสี่ยวผิง

พูดสั้นๆ คือสีจิ้นผิงไม่ลงแน่ แต่ความวุ่นวายตอนนี้นั่นแหละที่จะทำให้เขาต้องทำงานหนักเพื่อทำให้พรรคฯ มั่นใจได้ว่าเขาเป็นที่พึ่งได้

เสียงต่อว่าต่อขานเรื่อง 'Dynamic zero COVID' ในเซี่ยงไฮ้นั้นสะเทือนมาถึงสีจิ้นผิงด้วย เพราะในโซเชียลมีเดียไม่พอใจบอกให้เขายอมรับว่าทำผิดพลาด และถึงขนาดเรียกร้องให้ "หลี่เฉียง" เลขาธิการพรรคฯ เซี่ยงไฮ้ลาออกกันเลยทีเดียว

สื่อต่างประเทศระบุว่าหลี่เฉียงคนนี้เป็นคนของสีจิ้นผิงและเป็นบุคคลที่จะถูกดันเข้ามานั่งคณะกรรมาธิการกรมการเมือง แต่เมื่อสถานการณ์ออกมารูปนี้ มันจะทำให้เก้าอี้ของสีจิ้นผิงสั่นคลอนไปด้วย

สื่อฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลจีนอย่าง The Epoch Times วิเคราะห์ว่าสถานการณ์ในเซี่ยงไฮ้ที่ล็อคดาวน์จนประชาชนอดอยากไม่น่าเกิดขึ้นได้ เว้นแต่มีคนตั้งใจให้เกิดหรือมีบางคน "ล้อฟรี" กับการจัดการล็อคดาวน์ ซึ่งอาจเป็น "สาย" ฝ่ายตรงกันข้ามกับท่านผู้นำประเทศ

เรื่องนี้ต้องฟังหูไว้หู เพราะเป็นสื่อ The Epoch Times แต่ถึงไม่ฟังจากสื่อรายนี้ มันมีเงื่อนงำให้ชวนคิดได้เหมือนกันว่า "ความไม่เป็นเอกภาพในเซี่ยงไฮ้เกิดจากอะไรกันแน่?" คำตอบนั้นมี 2 ข้อคือ 1. เจ้าเมืองไร้ประสิทธิภาพ 2. มีคนคิดเลื่อยขาเก้าอี้ ซึ่งจะสะท้อนไปถึงบัลลังก์ของผู้นำประเทศด้วย

ดังนั้น เพื่อรักษาความชอบธรรมของเจ้าของไอเดีย 'Dynamic zero COVID' เอาไว้ ดีไม่ดีในเมืองจีนอาจเกิดเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีก นั่นคือการ Purge (การกวาดล้างทางการเมือง)

หนทางเดียวก็คือต้องปราบโควิดในเซี่ยงไฮ้ให้เร็วที่สุด และหลังจากนั้นทำการ "Purge" ผู้ที่เป็นเบี้ยหมากทางการเมือง แต่จะไม่ถึงกับระดับม้าระดับระดับโคน ยิ่งไม่ต้องพูดถึงตัวขุนอย่างหลี่เฉียง

นับตั้งแต่การระบาดเกิดขึ้นมา ในพื้นที่ต่างๆ มีการ Purge กันเป็นล่ำเป็นสัน ต้องจับตาว่าคราวนี้จะมีหรือไม่

Purge ไม่ใช่ชื่อภาพยนต์ทริลเลอร์เลือดสาด แต่เป็น "ประเพณีทางการเมือง" อย่างหนึ่งในประเทศคอมมิวนิสต์ ที่จะกวาดล้างฝ่ายที่มี "อุดมการณ์ไม่ถูกต้อง"

เช่นพวกที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายขวาอีแอบ เป็นพวกปฏิกิริยา ฯลฯ แต่มีไม่น้อยที่เป็นคนบริสุทธิ์ที่ถูกเหมารวมกำจัดทิ้งไปด้วย เพื่อไม่ให้เป็นก้างขวางคออำนาจ

เมื่อ Purge แต่ละที นอกจากสมาชิกพรรคคอมิวนิสต์จะโดนกันระนาวแล้ว ยังมีปัญญาชน นักเขียน นักข่าว หมอ วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ บุคคลสาขาอาชีพต่างๆ โดนหางเลขไปด้วย เพราะถูกมองว่าเป็น "ฝ่ายเทคนิค" ที่รองรับ "อุดมการณ์ที่ไม่ถูกต้อง"

Purge ครั้งใหญ่ๆ ในโลกคอมมิวนิสต์ก็เช่น Great Purge (การกวาดล้างใหญ่) ของสตาลิน และ Cultural Revolution (การปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรม) ของเหมาเจ๋อตง ทำให้ผู้คนในสหภาพโซเวียตและจีนสิ้นวาสนา ต้องถูกบีฑา เช่นฆ่ามากมาย ในจีนนั้นตายกันเป็นหลักล้าน

นั่นเป็นเรื่องสมัยสงครามเย็น เชื่อว่าจีนคงจะไม่ทำ Purge ที่บ้าระห่ำกันอีก เพราะจีนนั้นศิวิไลซ์แล้วและการทำ Purge มันน่ากลัวนักหนา

แต่ที่เป็นได้มากกว่าคืออาจจะมีการหา "ผู้รับผิดชอบ" คือระดับปลายแถว

แต่ก็น่าคิดว่ามันจะลามไประดับการตำหนิและวิจารณ์ผ่านที่ประชุมใหญ่ของพรรคหรือไม่ การชำแหละนโยบายเพื่อชี้จุดบกพร่องแบบนี้ อาจนำไปสู่ความเปลี่ยนทางการเมืองครั้งใหญ่ได้เช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น การประชุม "ที่ประชุมใหญ่ 7,000 คน" เป็นการประชุมสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในปี 1962 เพื่อ "ประเมิน" นโยบายของเหมาเจ๋อตงที่ต้องการยกระดับจีนด้านอุตสาหกรรมและการเกษตร แต่ล้มเหลวไม่เป็นท่าจนทำให้มีผู้คนตายหลายล้าน นั่นคือนโยบาย "ก้าวกระโดดใหญ่"

การประเมินครั้งนี้ที่จริงมันคือการตำหนิกลายๆ ทำให้เหมาเจ๋อตงต้องวิพากษ์ตนเองซึ่งก็คือยอมรับผิด และหลบฉากถอนตัวจากการเมือง ไปเป็น "ผู้นำกิตติมศักดิ์" ถูกริดรอนอำนาจบริหารไป ผู้ที่เข้ามามีอำนาจบริหารแทนคือหลิวซ่าวฉีและเติ้งเสี่ยวผิง

แต่เหมาเจ๋อตงไม่ยอมรามือง่ายๆ ในวันที่ 16 พฤษภาคม 1966 เหมาเจ๋อตงก็ได้โอกาสเอาคืน ดำเนินการออกเอกสารที่ชื่อ "จดหมายเหตุ 5/16" เนื้อหาสำคัญคือการวางแนวทาง "การปฏิวัติวัฒนธรรม" เพื่อทำให้การนำในวงการต่างๆ ทั้งการเมือง แรงงาน การเกษตร วรรณคดี ศิลปะ วิทยาศาสตร์ ต้องอยู่ในมือของชนชั้นแรงงาน ไม่ใช่ "ชนชั้นกระฎุมพี" และต่อต้าน "พวกปฏิกริยาต่อต้านการปฏิวัติ"

เป้าหมายนี้ดูเผินๆ เหมือนเป็นการขับเคลื่อนเพื่อสร้างวัฒนธรรมจีนใหม่ที่เป็นสังคมนิยมและอิงกับชนชั้นแรงงาน แต่เป้าหมายจริง คือการกวาดล้างกลุ่มอำนาจที่เขี่ยเหมาเจ๋อตงตกกระป๋องไป หนึ่งในนั่นคือ หลิวซ่าวฉีและเติ้งเสี่ยวผิง โดยเฉพาะเติ้งเสี่ยวผิงถูกเล่นงานด้วยข้อหาเป็นพวกฝ่ายขวาอีแอบ และต่อต้านการปฏิวัติ

ทั้งสองคนจึงถูก Purge อย่างรุนแรง หลิวซ่าวฉี ทั้งๆ ที่เป็นประธานาธิบดียังถูกเล่นงานจนเสียชีวิต เติ้งเสี่ยวผิงถูกทารุณกรรมอย่างหนัก แต่ก็เอาตัวรอดมาได้

เหมาเจ๋อตงกลับมามีอำนาจอีกครั้ง พร้อมด้วยพลังมหาประชาชน (โดยเพาะพวกคนหนุ่มสาวที่ชักจูงง่ายที่เรียกว่า "ยุวชนแดง") ที่เขาชักนำด้วยสโลแกนการปฏิวัติวัฒนธรรมให้มาร่วมกันกวาดล้างวัฒนธรรมเก่า สร้างโลกสังคมนิยมใหม่ แต่กลับเป็นเครื่องมือเครื่องไม้ในการกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในห้เหมาโดยไม่รู้ตัว

นี่คือตัวอย่างของการใช้อุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ บงการมติมหาชนเพื่อทำการ Purge ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

จากตัวอย่างทางประวัติศาสตร์ที่ยกมา บางคนคงได้กลิ่นทะแม่งๆ แล้วอดคิดไม่ได้ว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่หนอ?

แต่ก็อย่างที่บอกว่าในช่วงการระบาดใหญ่ จีนทำ Purge กันเรื่อยๆ ที่โดนมักเป็นตัวเล็กๆ ตัวใหญ่ๆ ระดับหลี่เฉียงแห่งเซี่ยงไฮ้นั้นมีน้อย เว้นแต่ที่อู่ฮั่น

ขณะที่จีนเราต้องเดาไปก่อน ที่เกาหลีเหนือที่กำลังเจอสถานการณ์เดียวกับจีนคือ "ด่านแตก" ไม่รีรอที่จะส่งสัญญาณการ Purge กันแล้ว

เกาหลีเหนือนั้นใช้แนวทาง zero COVID เหมือนจีน แต่มันไม่ Dynamic ตรงที่เกาหลีเหนือบอกกับชาวโลกหน้าตาเฉยไม่มี้ไม่มีโควิดเลยในบ้านเมืองเรา ซึ่งมันแทบเป็นไปไม่ได้ และที่ผ่านมาก็พบการระบาดประปรายโดยบอกว่าเป็น "ไข้"

คราวนี้ก็เช่นกัน เกาหลีเหนือยังปากแข็งบอกว่าเป็น "ไข้" ที่ทำให้คนนับล้านคนติดพร้อมๆ กันใน้วลาอันสั้น

เรื่องนี้ก็เรื่องหนึ่ง แต่หากสังเกตดีๆ คิมจองอึนนั่งหัวโต๊ะประชุมกรมการเมือง วันแรกสิ่งแรกๆ ที่ทำคือตำหนินโยบายการรับมือการระบาด หลังจากผ่านมาถึงวันที่ 16 สถานการณ์เลวร้ายลง คิมจองอึนเป็นประธานประชุมกรมการเมืองอีก และเป็นอีกครั้งที่ตำหนิมาตรการรับมือ

มาถึงวันที่ 18 อีกครั้งที่คิมจองอึนตำหนิระดับบริหารว่าทำงานไม่น่าพอใจ การย้ำๆ แบบนี้ เป็นการเตือนว่าผู้รับผิดชอบอาจหัวขาดเอาง่ายๆ 

แม้ว่าคนผู้นั้นจะไม่ใช่เจ้าของไอเดียและนโยบายแบบนี้มันควรจะมาจากคิมจองอึนก็ตาม นี่เป็นศิลปะของการเป็นผู้นำที่โหดเหี้ยมอย่างหนึ่ง คือ "ต้องรู้จักหาแพะรับบาป"

ในเกาหลีหนือคนที่ถูก Purge จนต้องจบชีวิตมีหลายเหตุผล ตั้งแต่ขวางทางอำนาจท่านผู้นำ เป็นเครือข่ายฝ่ายตรงข้าม หรือแม้แต่เถียงท่านผู้นำ เช่น ชเว ยอง-กอน รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงป่าไม้ เกิดไปคัดค้านนโยบายป่าไม้ของคิมจองอึนก็เลยชะตาขาด ถูกประหารในปี 2015

แต่ในจีน สีจิ้นผิงไม่ได้มีอำนาจสั่งเป็นสั่งตายแบบคิมจองอึน โครงสร้างของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีการถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะมี "สาย" ต่างๆ แต่นอกจากสีจิ้นผิงจะต้องกุมเสียงส่วนใหญ่ให้ได้แล้ว เสียงส่วนที่เหลือก็ต้องประสานให้มีเอกภาพ การใช้สายตนเองเข้าไปนั่งคงไม่พอ แต่ต้องทำคณะกรรมการบริหารทั้งหมดมั่นใจว่าสีจิ้นผิงคือคนที่พึ่งพาได้

ผลจากการประชุมกรมการเมืองเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมค่อนข้างชัดว่าเสียงส่วนใหญ่หนุนสีจิ้นผิง

และที่สำคัญ หากลองเข้าไปนั่งในความคิดของผู้นำจีนแล้ว สิ่งที่ควบคุมได้ยากกว่าคือปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายใน จีนสามารถเคลียร์ได้ในเวลาอันสั้น ดังจะเห็นได้จากในเวลาที่เขียนบทความนี้เซี่ยงไฮ้เคลมแล้วว่าควบคุมการระบาดได้ และบรรยากาศคุกรุ่นในหมู่ประชาชนเริ่มเบาบางลงไปบ้าง

ที่จริงแล้วรัฐบาลเริ่มการ Purge ในระดับประชาชนแล้ว โดยสั่งให้แพล็ตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ จัดการเคลียร์โพสต์ที่ "เป็นพิษ" ต่ออุดมการณ์การเมืองหลักของประเทศออกไป นี่คือก้าวแรกในการสร้างเอกภาพทางความคิด คล้ายๆ กับการปฏิวัติวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง

ดังนั้นภัยภายในไม่ยากจะจัดการ แต่ภัยคุกคามจากมหาอำนาจอื่นต่อจีนไม่ซาลงเลย กลับจะหนักขึ้นทุกวัน ระดับนำของจีนสายต่างๆ คงจะมองเห็นแล้วว่าหากขัดขากันองในเวลานี้มีแต่จะตายยกรัง เพราะอีกฝ่ายปั่นบรรยากาศการเผชิญหน้าไม่หยุดหย่อน

ด้วยมาตรการที่ดูไม่ธรรมดาของรัฐบาลจีน (เช่น ขอความร่วมมือจากประชานไม่ให้เดินทางไปต่างประเทศ) กระทั่งคนในจีนเองก็ยังรู้สึกหวั่นๆ ว่า "เรากำลังเตรียมรบกับใครหรือเปล่า?"

ดังนั้น มีแต่ต้องสนับสนุนสีจิ้นผิงนั่งเทอมสามต่อไปเท่านั้นเพื่อฟันฝ่าอุปสรรคใหญ่หลวงครั้งนี้

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo - REUTERS/Florence Lo