posttoday

คริปโตคือ'โคตรแชร์ลูกโซ่'เสียงวิจารณ์อีกมุมต่อ'สกุลเงินแห่งอนาคต'

15 พฤษภาคม 2565

ที่ผ่านมานักคิดนักวิจารณ์ฝ่ายซ้ายที่โจมตีทุนนิยมมาโดยตลอด ก็ไม่เป็นมิตรกับเงินคริปโตอยู่แล้ว แต่พวกเขาคิดแบบไหน และนักลงทุนควรฟังพวกเขาหรือไม่?

1. นักสืบ (และแฉ) ขบวนการลงทุนคริปโตที่มีชื่อเสียงในโลกแห่ง Youtube ที่สุดคนหนึ่งคือ Coffeezilla เขามีผู้ติดตามมากถึง 1.07 ล้านคนและหลังการล่มสลายของ Terra/LUNA สเตเบิลคอยน์ที่ไม่ "สเตเบิล" เอาเลย เขาทำคลิปอธิบายการล่มสลายของพวกมันถึง 2 คลิป ซึ่งแน่นอนว่ามีผู้ชมล้นหลามตามเคย

2. ในคลิปเรื่อง LUNA Is Crashing... Here's Why เขาบอกว่า "เหตุผลหนึ่งที่ผู้คนลงทุนมากมายใน UST และ LUNA ก็เพราะโปรโตคอลการออมที่เรียกว่า Anchor ซึ่งให้คำมั่นว่าผู้คนจะได้รับผลตอบแทนที่มั่นคงประมาณ 20% ซึ่งมันบ้าเอามากๆ อย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่าสเตเบิลคอยน์นั้นควรเป็นเครื่องเตือนใจสิ่งที่เบอร์นี่ แมดอฟฟ์ (Bernie Madoff) เคยให้สัญญาไว้ว่าจะผลตอบแทนที่มั่นคง 10% ต่อปีและโปรโตคอล Anchor เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าที่ทำให้หลายคนกล่าวหาว่าเป็นแชร์ลูกโซ่"

3. แมดอฟฟ์ที่ถูกเอ่ยถึงคือนักต้มตุ๋นและนักการเงินชาวอเมริกันที่ดำเนินโครงการต้มตุ๋นพอนซี (Ponzi scheme) หรือแชร์ลูกโซ่ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ มูลค่าประมาณ 64,800 ล้านดอลลาร์ ครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นประธานตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก เขาได้พัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายทางอิเล็กทรอนิกส์และแนวคิดของการชำระเงินสำหรับขั้นตอนการสั่งซื้อ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการจ่าย "เงินใต้โต๊ะที่ถูกกฎหมาย"

4. Terra และ LUNA ก็ถูกมองว่าเป็นแชร์ลูกโซ่เหมือนกัน Coffeezilla วิจารณ์ว่า "นักลงทุน LUNA ที่มักเรียกตัวเองว่า LUNATICs (ซึ่งสามารถแปลว่าคนบ้าได้ด้วย) บอกว่าทุกคนรู้ดีว่าอัตราเหล่านี้ไม่ยั่งยืน และอ้างว่ามันถูกใช้เป็นกลวิธีในการสร้างเติบโต (growth tactic) เพื่อชักนำผู้คนเข้าสู่ระบบนิเวศ (ของการลงทุน) และในที่สุดพวกมัน (อัตราตอบแทน) ก็จะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ณ วันที่ผ่านมามี 14,000 ล้าน ดอลลาร์ล็อคเอาไว้ในแผนการผลตอบแทนฟรี 20% ต่อปี และนี่เป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนหลักของที่ทำให้คนมาลงทุน และผลตอบแทน 20% นี้ถูกมองว่าเป็นการลงทุนที่ยอดเยี่ยมสำหรับหลายๆ คนจนกระทั่งตลาดคริปดิ่งเหวในช่วงสุดสัปดาห์และ LUNA และ UST ถูกถล่ม"

5. Coffeezilla เป็นนักแฉโครงการลงทุนคริปโตที่ไม่ชอบมาพากล แต่เขาคิดเหมือนกับนักคิดฝ่ายซ้ายที่นิยมลัทธิมาร์กซ์ ซึ่งไม่ได้วิพากษ์คริปโตมากเท่านักลงทุนในระบอบทุนนิยม แต่เพราะฝ่ายซ้ายวิพากษ์ทุนนิยมเป็นปกติอยู่แล้ว และคริปโตถูกมองว่าเป็นการแสดงออกถึงความเป็นทุนนิยม "โคตรๆ" จึงมีการเตือนถึงภาวะที่อันตรายของมันมาโดยตลอด

6. ตัวอย่างเช่น Sohale Mortazavi เขียนบทความใน Jacobin ซึ่งเป็นนิตยสารฝ่ายซ้ายอเมริกันเขียนบทความเรื่อง "คริปโตเคอร์เรนซีคือแชร์ลูกโซขนาดมหึมา" แค่เริ่มต้นเขาก็บอกตรงๆ เลยว่า "คริปโตคือกลเม็ดหลอกลวง" และยกประเด็นที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนดีเบตมาโดยตลอดเรื่องที่คริปโตไม่มีคุณค่าในตัวมันเองเหมือนทองคำหรือแม้แต่ธนบัตร (ในที่นี้ต้องเข้าใจก่อนว่า ฝ่ายซ้ายให้น้ำหนักกับสิ่งที่จับต้องได้มากกว่าการเก็งกำไร)

7. Mortazavi เขียนว่า "เนื่องจากคริปโตเคอร์เรนซีไม่ได้สร้างมูลค่าทางวัตถุใดๆ การสิ้นเปลืองทรัพยากรมหาศาลนี้ทำให้ทั้งขบวนการกลายเป็นเกมผลรวมเชิงลบ (Negative-sum game)" นั่นหมายความว่าไม่ว่าผู้เล่นคนไหนก็อาจกลายเป็นคนแพ้ได้ เพราะไม่มีใครได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันในท้ายที่สุด

8. เขาบอกว่า "เราอาจสรุปแบบไม่ให้ราคากับสิ่งเหล่านี้ได้เลยว่าเป็นการทดลองที่หายนะในทางทฤษฎีการลงทุน "กับคนโง่ยิ่งกว่า" (Greater fool theory) ซึ่งนักลงทุนพยายามทำกำไรจากสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงเกินไปหรือไร้ค่าโดยการขายให้กับ "คนที่โง่ยิ่งกว่า" คนต่อไป" และย้ำหลักการเศรษฐศาสตร์ทั่วไปว่า "การบงการราคามีบทบาทมากกว่าอุปสงค์ในการผลักดันราคาให้สูงขึ้น"

9. Greater fool theory ในด้านการเงิน หมายถึงการที่บางครั้งเราสามารถสร้างรายได้จากการซื้อสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงเกินไป คือสินค้าที่มีราคาซื้อสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงอย่างมาก หากสินทรัพย์เหล่านั้นสามารถขายต่อในราคาที่สูงกว่าได้ในภายหลัง ในบริบทนี้ "คนโง่" คนหนึ่งอาจจ่ายสำหรับสินทรัพย์ที่เกินราคา โดยหวังว่าเขาจะขายให้กับ "คนที่โง่ยิ่งกว่า" และทำกำไรได้ ซึ่งวิธีนี้ใช้ได้ตราบใดที่มี "คนที่โง่ยิ่งกว่า" รายใหม่ๆ เพียงพอที่ยินดีจ่ายราคาที่สูงขึ้นและสูงขึ้นสำหรับสินทรัพย์นั้นๆ

10. แต่ในที่สุด นักลงทุนไม่สามารถปฏิเสธได้อีกต่อไปว่าราคาไม่ได้สอดคล้องกับความเป็นจริง ทำไปสู่การขายออก จนอาจทำให้ราคาลดลงอย่างมากจนใกล้มูลค่าที่ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น แต่ในบางกรณีอาจเป็นศูนย์ แน่นอนว่า กรณีหลังคล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับ LUNA ซึ่งมันไม่ใช่สเตเบิลคอยน์รายแรกที่ "Run" (ล้ม) แบบนี้ แต่มีคอยน์ตระกูลเดียวกันล้มมาแล้วหลายตัว แต่พอล้มแล้วก็เกิดใหม่ พร้อมด้วยเงื่อนไขที่น่ายั่วยวนใจ "นักลงทุน" (หรืออาจเป็น Greater fool) มากขึ้นเรื่อยๆ  

ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

Photo REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo