posttoday

โดรนยูเครนพิฆาตนาวี กับมิสไซล์เรือดำน้ำรัสเซีย ใครจะแน่กว่ากัน

10 พฤษภาคม 2565

ทั้งฝ่ายยูเครนและฝ่ายรัสเซียก็อ้างว่าอาวุธเด็ดของตัวเองโจมตีเป้าหมายของฝ่ายตรงข้ามจนเสียหายไปตามๆ กัน

เมื่อเร็วๆ นี้กระทรวงกลาโหมยูเครนเผยว่าโดรนติดอาวุธ Bayraktar TB2 ของยูเครนได้ทำลายเรือระบายพลของรัสเซียที่อยู่ใกล้กับเกาะงู (Snake Island) รวมถึงยังทำลายระบบป้องกันขีปนาวุธของรัสเซียที่อยู่บนเกาะนั้นด้วย และยังจมเรือตรวจการณ์ชั้น Raptor อีก 2 ลำในเวลาไล่เลี่ยกัน

โดรนติดอาวุธ Bayraktar TB2 เป็นอากาศยานต่อสู้ไร้คนขับแบบเพดานบินปานกลางระยะเวลาทำการนาน (MALE) ที่สามารถควบคุมได้จากระยะไกลหรืออาจปฏิบัติการได้แบบอัตโนมัติ ผลิตโดยบริษัท Baykar Makina Sanayive Ticaret ในตุรกี โดยยูเครนสั่งซื้อมาใช้งานตั้งแต่ปี 2019

Bayraktar TB2 มีสมรรถนะในการโจมตีเป้าหมายด้วยความแม่นยำสูง มาพร้อมความสามารถในการทำลายเป้าหมายที่หลากหลาย ทั้งบนบก ในผิวน้ำ ทำให้ได้รับความนิยมในกองทัพต่างๆ ทั่วโลก

มีประสิทธิภาพสูงด้านการสอดแนม การเฝ้าระวังและการลาดตระเวน (ISR) รวมถึงภารกิจโจมตีด้วยอาวุธประเภทขีปนาวุธระยะใกล้ ครองสถิติในประวัติศาสตร์ด้านการบินของตุรกีโดยบินอยู่บนอากาศได้นานถึง 27 ชั่วโมง 3 นาที ที่ระดับความสูง 25,030 ฟุต

Bayraktar TB2 ถูกออกแบบในลักษณะเป็นหางผีเสื้อ และมีการใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นตัวขับเคลื่อนโดรน มีการใช้เส้นใยคาร์บอนเป็นวัสดุหลัก และที่สำคัญคือโดรนชนิดนี้มีระบบควบคุมและสนับสนุนภาคพื้นจากองค์กรนาโต ผู้ควบคุมโดรนชนิดนี้จะมีอยู่ 3 คนด้วยกันก็คือ ฝ่ายนักบิน ฝ่ายผู้ส่งข้อมูล และฝ่ายบัญชาการภารกิจ

มีระดับความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 220 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีความเร็วในระดับมาตรฐาน (Cruise Speed) อยู่ที่ 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

แม้ว่าจะมีประสิทธิภาพด้อยกว่าโดรนทหารราคาแพงอย่าง Predator, Reaper หรือ Israeli Heron แต่ Bayraktar TB2 มีต้นทุนต่ำและมีขีดความสามารถในการทำลายล้างเป้าหมายเหมือนกันกับระบบโดรนทหารของสหรัฐที่ใหญ่และมีราคาแพงกว่า

เว็บไซต์เกี่ยวกับการทหาร Oryx ระบุว่า แม้ว่าโดรน Bayraktar TB2 จะขึ้นชื่อในเรื่องมือสังหารนักล่าที่ทำลายเป้าหมายที่อยู่บนพื้นดินด้วยขีปนาวุธที่ใช้เลเซอร์นำทางได้อย่างมีประสิทธิภาพค่อนข้างสูง แต่ก็สามารถโจมตีเป้าหมายทางทะเลได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ถ้าจะให้ระบุเฉพาะเจาะจงก็คือ การทำหน้าที่เป็นคนชี้เป้าให้กับขีปนาวุธต่อต้านเรือ Neptune ของยูเครนที่เคยใช้จมเรือธง Moskva ของรัสเซีย

เมาโร จิลลิ นักวิจัยอาวุโสด้านเทคโนโลยีทางการทหารและความมั่นคงนานาชาติจาก ETH Zurich เผยกับ Al Jazeera ว่า “มันขึ้นอยู่กับระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซียมากๆ โดรนอย่าง TB2 ถูกระบบต่อต้านขีปนาวุธทางอากาศตรวจจับได้ง่าย ถ้าจะให้มีประสิทธิภาพจะต้องใช้ด้วยความเชี่ยวชาญร่วมกับระบบการสงครามอิเล็กทรอนิกอื่นที่ปิดปั้นเรดาร์ของศัตรู และต้องใช้ด้วยเทคติกที่เหมาะสม”

ส่วน The National Interest บอกว่า แม้จะมีข้อมูลเฉพาะเกี่ยวกับโดรนนี้ไม่มากเนื่องจากเหตุผลด้านความมั่นคง แต่เทคโนโลยีนี้ค่อนข้างมีผลกระทบกับการป้องกันชายฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากยูเครนนำโดรน Bayraktar TB2 จำนวนมากมาใช้และสามารถสร้างเครือข่ายจุดเฝ้าระวังที่กระจายไปทั่วจุดที่ถูกคุกคาม

โดรนยูเครนพิฆาตนาวี กับมิสไซล์เรือดำน้ำรัสเซีย ใครจะแน่กว่ากัน

ส่วนทางฝั่งรัสเซียมีการประกาศอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกว่า เรือดำน้ำที่อยู่ในทะเลดำโจมตีเป้าหมายทางการทหารของยูเครนด้วยขีปนาวุธร่อน Kalibr

ขีปนาวุธร่อน 3M-54 Kalibr หรือที่นาโตเรียกว่า SS-N-27 Sizzler และ SS-N-30A มีทั้งชนิดที่ยิงจากเรือ เรือดำน้ำ และยิงจากอากาศยาน บางรุ่นมีการขับเคลื่อน 2 สเตจซึ่งจะเร่งความเร็วให้อยู่ในระดับเหนือเสียงในช่วงสุดท้ายก่อนจะไปถึงเป้าหมาย เพื่อให้ระบบป้องกันของศัตรูมีเวลาในการตอบสนองน้อยลง และยังสามารถบรรจุหัวรบที่มีระเบิดหนัก 500 กิโลกรัมหรือหัวรบเทอร์โมนิวเคลียร์

ขีปนาวุธนี้สามารถยิงจากเรือที่แล่นอยู่บนผิวน้ำด้วยระบบการยิงในแนวตั้ง (VLS) จากนั้นจรวดจะพุ่งสู่ระดับความสูงที่ปลอดภัยกับตัวเรือแล้วจุดเครื่องยนต์เพื่อร่อนหลบหลีกสิ่งกีดขวาง ก่อนจะพุ่งเข้าหาเป้าหมายอย่างแม่นยำด้วยระบบนำร่อง GNSS และระบบพิกัดสัญญาณดาวเทียม GLONASS หรือระบบ GPS เวอร์ชั่นรัสเซีย

ส่วนพิสัยสูงสุดนั้นหลายแหล่งข้อมูลระบุต่างกัน อาทิ กระทรวงกลาโหมสหรัฐประเมินว่าอยู่ที่ 1,400 กิโลเมตร ส่วน เซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุว่ามีพิสัย “เกือบ 1,500 กิโลเมตร” ขณะที่หลังการยิงครั้งแรกเมื่อเดือน ต.ค. 2015 กระทรวงกลาโหมรัสเซียบอกว่ามีพิสัย 2,000 กิโลเมตร

ขีปนาวุธรุ่นที่ใช้ในประเทศ (3M54T / 3M54K) และรุ่นส่งออก (3M54TE/3M54KE) เคลื่อนที่ด้วยความเร็วต่ำกว่าเสียง ก่อนจะขยับเป็นความเร็วเหนือเสียงที่ 2.9 มัค (เร็วกว่าความเร็วเสียง 2.9 เท่า) เมื่อเคลื่อนเข้าใกล้เป้าหมาย ซึ่งความเร็วระดับนี้ทำให้ระบบป้องกันขีปนาวุธที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถตรวจจับได้

ภาพ: wikipedia/Bayhaluk