posttoday

เงินเฟ้อทั่วโลกกำลังอันตราย ของแพงไม่หยุด-ประชาชนหมดความอดทน

07 พฤษภาคม 2565

การขึ้นดอกเบี้ยขอธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีเหตุผลใหญ่ๆ คือความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ และยังบอกด้วยวา่จะไม่ยอมหยุดแค่นี้หากเงินเฟ้อยังเป็นภัยคุกคาม แต่เงินเฟ้อไม่ได้คุกคามแค่สหรัฐ มันกำลังเป็นหายนะในหลายๆ ประเทศอยู่ในตอนนี้

1. หลังจากการรุกรานยูเครนของรัสเซียทำให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ราคาน้ำมันดิบจะปรับลงมาบ้างเพราะแนวโน้มความต้องการในจีนที่จะลดลงเพราะการล็อคดาวน์ แต่มันไม่ได้ทำให้น้ำมันและก๊าซที่คนทั่วไปต้องหาซื้อมาใช้มีราคาลดลง ตรงกันข้ามมันยิ่งทำให้ข้าวของยิ่งแพงขึ้นจนน่าตกใจ 

2. ศรีลังกา ที่เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ล่าสุด ถ้อยแถลงของประธานาธิบดีของประเทศประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน โดยแถลงการณ์ระบุว่า “ประธานาธิบดีได้ตัดสินใจแล้ว เนื่องจากสถานการณ์ฉุกเฉินสาธารณะในศรีลังกา และเพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยสาธารณะ การปกป้องความสงบเรียบร้อยของประชาชน และการบำรุงรักษาเสบียงและบริการที่จำเป็นต่อชีวิตของชุมชน” 

3. เหตุมันเกิดจากการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่มีความรุนแรงเป็นระยะๆ ท่ามกลางการขาดแคลนอาหารนำเข้า เชื้อเพลิง และยารักษาโรค โดยธนาคารกลางของประเทศกล่าวว่าอัตราเงินเฟ้อของศรีลังกาวัดจากในดัชนีราคาผู้บริโภคในกรุงโคลัมโบ เพิ่มขึ้น 29.8% ในเดือนเมษายน การเพิ่มขึ้นนี้ได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นรายเดือนของในหมวดอาหารและไม่ใช่อาหาร เทียบกับ 18.70% ในเดือนมีนาคม

4. ชีวิตของชาวศรีลังตกอยู่ในความยากลำบากแสนสาหัส สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า หลังจากหนึ่งเดือนของการเก็บใบชามากกว่า 18 กก. ในแต่ละวัน ครอบครัวคนเก็บใบชาซึ่งเป็นสินค้าหลักของประเทศได้รับเงินประมาณ 30,000 รูปี หรือมูลค่าประมาณ 80 ดอลลาร์เท่านั้น ซึ่งไม่พอแม้แต่ซื้ออาหารเป็นผักมารับประทาน

5. รอยเตอร์รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อในกลุ่มสินค้าอาหารใกล้จะถึง 50% ต่อปี โดยค่าขนส่งแพงขึ้นเกือบ 70% แม้ว่าในทางปฏิบัติ ตัวเลขดังกล่าวจะสูงกว่านี้ด้วยซ้ำ เช่น ราคาแป้งได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในปีที่แล้ว ทำให้คนงานชาวไร่ใบชาหลายคนไม่สามารถซื้อโรตีเบรดผสมมะพร้าวที่พวกเขากินรองท้องขณะเก็บใบชาได้

6. อีกประเทศที่สาหัสคือตุรกี อัตราเงินเฟ้อประจำปีของตุรกีพุ่งขึ้นเป็น 69.97% ในเดือนเมษายน สูงกว่าที่คาดการณ์และสูงสุดในรอบสองทศวรรษ ตามข้อมูลของ Turkish Statistical Institute โดยได้รับแรงหนุนจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้น และค่าเงินลีราที่ตกต่ำ อันเป็นสถานการณ์ใกล้เคียงกับศรีลังกาที่ค่าเงบินรูปีอ่อนยวบเช่นกัน

7. ในตุรกี ราคาผู้บริโภคที่พุ่งสูงขึ้นได้รับแรงหนุนจากการก้าวกระโดดถึง 105.9% ของราคาที่เพิ่งขึ้นในภาคการขนส่ง ซึ่งรวมถึงราคาพลังงาน และราคาอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์พุ่งขึ้น 89.1% รัฐบาลพยายามโน้มน้าวให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าด้วยโครงการเศรษฐกิจจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อเอาไว้ได้ แต่นักเศรษฐศาสตร์ต่างๆ เชื่อว่ามันจะลากยาวไปตลอดปีนี้ 

8. เงินเฟ้อที่รุนแรงทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งเลือกที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นประวัติการณ์ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางสหรัฐ, ธนาคารแห่งชาติอังกฤษ และธนาคารแห่งชาติอินเดีย แต่ในกรณีของอินเดียนักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าเงินเฟ้อจะรุนแรงต่อไปตลอดปีนี้ หลังจากที่ของแพงขึ้นมาตลอด 3 ไตรมาสที่ผ่านมา

9. แม้แต่ในกลุ่มยูโรโซน เงินเฟ้อพุ่งทุบสถิติเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันเมื่อเดือนเมษายน โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในกลุ่ม 19 ประเทศที่ใช้เงินยุโรแตะระดับ 7.5% ในเดือนเมษายน ตามการประมาณการเบื้องต้นโดยสำนักงานสถิติของยุโรป เงินเฟ้อที่แรงอยู่แล้วยิ่งหนักข้นเพราะสงครามในยูเครน และผลจากการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกต่อรัสเซีย มันอาจจะทำให้ยุโรปต้องเจ็บปวดกว่านี้หากรัสเซียตัดก๊าซมายังยุโรปในทันทีทันใด

10. ในลิทัวเนีย หนึ่งในประเทศที่กังวลกับกหารรุกรานของรัสเซียที่สุดประเทศหนึ่งต้องรับเคราะห์จากเงินเฟ้อไปด้วย โดยในเดือนมีนาคม ลิทัวเนียมีอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในสหภาพยุโรปที่ 15.7% ตามข้อมูลของ Eurostat จากต้นทุนด้านพลังงานที่พุ่งขึ้นเกือบ 13% ในยุโรปในเดือนมีนาคมดือนเดียว

11. Euro News รายงานชีวิตของชาวลิทัวเนียว่าตอนนี้เงิน 1 ยูโรยังซื้อถั่วอบสักถุงยังไม่ได้เลย ราคาสินค้าทั้งอาหารไปจนถึงสินค้าฮาร์ดแวร์มีราคาเพิ่มขึ้นแบบวันต่อวัน แบบที่เข้านอนคืนนี้ วันรุ่งขึ้นอาจต้องเช็คราคากันใหม่ และบางคนเชื่อว่าสิ่งที่เลวร้ายที่สุดยังไม่มาถึง

ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

Photo - REUTERS/Dinuka Liyanawatte