posttoday

เมื่อจีนวิกฤต ปิดเซี่ยงไฮ้ ทำให้โลกต้องสะเทือนแค่ไหน?

25 เมษายน 2565

นโยบาย 'โควิดเป็นศูนย์' ของจีนกับการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ที่สะเทือนเศรษฐกิจโลก

1. สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่าวันนี้ (25 เม.ย.) ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงอยู่ที่ 6.55 หยวนต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 1 ปี ขณะที่แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนแย่ลง เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

2. การล็อกดาวน์เมืองต่างๆ กว่าสิบแห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ เมืองที่ใหญ่และมั่งคั่งที่สุดของประเทศ และเป็นหนึ่งในมหานครที่ใหญ่ที่สุดในโลก ส่งผลให้ประชาชนราว 25 ล้านคนต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน สร้างความกังวลต่อการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในวงกว้าง และยังทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าจีนจะสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ที่ประมาณ 5.5% ได้หรือไม่

3. เซี่ยงไฮ้ยังเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดที่สุดสำหรับธุรกิจระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ ซีเอ็นเอ็นระบุว่ามีบริษัทข้ามชาติมากกว่า 70,000 แห่ง จัดตั้งสำนักงานในเซี่ยงไฮ้ รวมถึง Apple, Pepsico, General Motors, Qualcomm และ Tyson Foods

4. เซี่ยงไฮ้ยังเป็นที่ตั้งของโรงงานที่สำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมหลายแห่ง ซึ่งได้รับผลกระทบจากกการล็อกดาวน์ครั้งนี้ด้วย รวมถึง Tesla ซึ่งต้องปิดโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Gigafactory) ในเซี่ยงไฮ้เป็นเวลานาน 3 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. ซึ่งได้กลับมาเปิดทำการอีกครั้งเมื่อสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ โรงงานดังกล่าวมีกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าถึง 2,000 คันต่อวัน

5. บลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างมาร์ค หลิว Taiwan Semiconductor Manufacturing Co. (TSMC) บริษัทผู้ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ยักษ์ใหญ่ของไต้หวัน ระบุว่าการล็อกดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้ส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และโทรทัศน์ ขณะที่โรงงานหลายแห่งต้องปิดเป็นการชั่วคราว

6. ขณะที่เซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกที่สำคัญของจีน โดยตัวเลขที่เปิดเผยจากทางการจีนชี้ว่า ในปีที่แล้วสินค้าที่ผลิตเพื่อส่งออกจากจีน 6% มาจากเซี่ยงไฮ้

7. นอกจากในแง่ของอุปทานที่ลดลงแล้ว ท่าเรือในเซี่ยงไฮ้ถือได้ว่าเป็นท่าเรือที่คับคั่งที่สุดในโลกตามรายงานของซีเอ็นเอ็น ซึ่งมีปริมาณตู้คอนเทนเนอร์หมุนเวียนผ่านท่าเรือมากกว่า 47 ล้านทีอียูในปีที่แล้ว นอกจากนี้เซี่ยงไฮ้ยังเป็นศูนย์กลางการบินที่สำคัญในเอเชีย โดยท่าอากาศยานนานาชาติเซี่ยงไฮ้ ผู่ตง และท่าอากาศยานนานาชาติเซี่ยงไฮ้ หงเฉียว รองรับผู้โดยสารราว 112 ล้านคนในปี 2019 ทำให้เป็นศูนย์กลางที่พลุกพล่านที่สุดอันดับ 4 ของโลก รองจากลอนดอน นิวยอร์ก และโตเกียว แต่โควิด-19 ทำให้การใช้งานท่าเรือและสนามบินต้องชะงัก และยังนำไปสู่อัตราค่าขนส่งทางอากาศที่พุ่งสูงขึ้น และสร้างแรงกดดันต่อซัพพลายเชนทั่วโลกมากยิ่งขึ้น

8. แม้ว่าท่าเรือเซี่ยงไฮ้ยังคงเปิดดำเนินการอยู่ แต่ข้อมูลอุตสาหกรรมที่เผยแพร่เมื่อปลายเดือนมี.ค. แสดงให้เห็นว่าจำนวนเรือที่รอขนถ่ายสินค้าพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

9. นอกจากนี้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในจีนยังทำให้ Foxconn Technology Group ซัพพลายเออร์รายใหญ่ผู้ผลิตสินค้าให้กับ Apple ตั้งปิดโรงงาน 2 แห่งในเมืองคุนซาน มณฑลเจียงซู เป็นการชั่วคราวหลังพบคนงานติดโควิด-19

10. วันนี้ (25 เม.ย.) บลูมเบิร์กยังรายงานว่าสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบ West Texas Intermediate (WTI) ร่วงลงราว 3% สู่ระดับต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากที่เซี่ยงไฮ้รายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่จีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลกกำลังเผชิญกับอุปสงค์น้ำมันที่เลวร้ายที่สุดในเดือนนี้ นับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19

11. รายงานระบุว่านอกจากสถานการณ์ในยูเครนแล้ว นโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid) ของจีนก็เป็นอีกหนึ่งประการที่นำไปสู่ความผันผวนของราคาน้ำมัน โดยจีนได้ดำเนินการล็อกดาวน์ในหลายเมือง และดำเนินการตรวจหาเชื้ออย่างเข้มงวด ขณะที่เซี่ยงไฮ้เข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 ของการล็อกดาวน์แล้ว

12. ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันเบนซิน ดีเซล และเชื้อเพลิงการบินของจีนในเดือนเม.ย. คาดว่าจะลดลงถึง 20% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเทียบเท่ากับการบริโภคน้ำมันดิบที่ลดลง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน

Photo by REUTERS/Aly Song