posttoday

ไล่นายกฯ ปากีสถาน รัฐบาลใหม่มาจะสะเทือนการเมืองโลกขนาดไหน?

10 เมษายน 2565

EXPLAINER by Reuters การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปากีสถานมีความหมายต่อการเมืองโลกอย่างไร

อิมราน ข่าน นายกรัฐมนตรีปากีสถาน ถูกขับออกจากตำแหน่งในการลงคะแนนไม่ไว้วางใจในรัฐสภาในช่วงเช้าตรู่ของวันอาทิตย์ หลังจากดำรงตำแหน่ง 3 ปี 7 เดือน

รัฐบาลใหม่มีโอกาสที่จะถูกจัดตั้งภายใต้การนำของเชห์บาซ ชารีฟ (Shehbaz Sharif) ผู้นำฝ่ายค้านมากที่สุด หลังจากที่รัฐสภาจะประชุมกันอีกครั้งในวันจันทร์เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่

ประเทศที่มีประชากรมากกว่า 220 ล้านคนตั้งอยู่ระหว่างอัฟกานิสถานทางตะวันตก จีนทางตะวันออกเฉียงเหนือ และอินเดียทางตะวันออก ทำให้เป็นประเทศที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ

นับตั้งแต่ก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี 2561 ท่าทีของข่านกลายเป็นการต่อต้านอเมริกามากขึ้น และเขาแสดงความปรารถนาที่จะเข้าใกล้จีนมากขึ้น และเมื่อเร็วๆ นี้ขยับเข้าใกล้รัสเซีย รวมถึงการเจรจากับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันบุกยูเครนเริ่มต้นขึ้น

ในเวลาเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ และเอเชีย กล่าวว่า กองทัพที่มีอำนาจของปากีสถานมักควบคุมนโยบายต่างประเทศและการป้องกันประเทศ แต่ท่าทีและโวหารที่แข็งกร้าวของข่านส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ที่สำคัญหลายประการ

นี่คือสิ่งที่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจกำลังมีปัญหาอย่างหนัก หมายถึงประเทศที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดในปากีสถาน คือ

อัฟกานิสถาน

ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยข่าวกรองทางทหารของปากีสถานกับกลุ่มตอลิบานได้คลายตัวลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ขณะนี้กลุ่มตอลิบานกลับมามีอำนาจอีกครั้งในอัฟกานิสถาน และเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและมนุษยธรรมอันเนื่องมาจากการขาดเงินและการแยกตัวจากนานาชาติ กาตาร์จึงเป็นพันธมิตรต่างชาติที่สำคัญที่สุดของพวกเขา

“เรา (สหรัฐฯ) ไม่ต้องการปากีสถานเป็นช่องทางติดต่อกับกลุ่มตอลิบาน กาตาร์กำลังเล่นบทบาทนั้นอยู่ในขณะนี้” ลิซ่า เคอร์ติส ผู้อำนวยการโครงการความมั่นคงอินโด-แปซิฟิกของศูนย์ความมั่นคงแห่งอเมริกายุคใหม่กล่าว 

ความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้นระหว่างกลุ่มตอลิบานและกองทัพปากีสถาน ซึ่งสูญเสียทหารไปหลายคนในการโจมตีใกล้กับพรมแดนซึ่งกันและกัน ปากีสถานต้องการให้กลุ่มตอลิบานดำเนินการมากกว่านี้เพื่อปราบปรามกลุ่มหัวรุนแรง และกังวลว่าพวกเขาจะแพร่กระจายความรุนแรงไปยังปากีสถาน ซึ่งตอนนี้ได้เริ่มเกิดขึ้นแล้ว

ข่านวิจารณ์กลุ่มตอลิบานในเรื่องสิทธิมนุษยชนน้อยกว่าผู้นำต่างชาติส่วนใหญ่

จีน

ข่านเน้นย้ำถึงบทบาทเชิงบวกของจีนในปากีสถานและทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง

ในเวลาเดียวกัน โครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (CPEC) มูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์ที่ผูกเพื่อนบ้านทั้งสองเข้าด้วยกันนั้น แท้จริงแล้วมีแนวคิดและริเริ่มขึ้นภายใต้พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นสองพรรคของปากีสถาน ซึ่งทั้งสองพรรคถูกกำหนดให้แบ่งปันอำนาจในรัฐบาลใหม่

ผู้สืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่อาจเป็นไปได้คือ ชารีฟ น้องชายของอดีตนายกรัฐมนตรีนาวาซ ชาริฟที่เคยรั้งตำแหน่งผู้นำประเทศ 3 สมัย ได้ทำข้อตกลงกับจีนโดยตรงในฐานะผู้นำของจังหวัดปัญจาบทางตะวันออก และชื่อเสียงของเขาในการขับเคลื่อนให้โครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ ให้ประสบความสำเร็จ ในขณะที่หลีกเลี่ยงความเป็นจุดเด่นทางการเมือง ท่าทีนี้อาจสร้างความพอใจให้กับจีน

อินเดีย

เพื่อนบ้านทั้งสองที่ติดอาวุธนิวเคลียร์ทั้งคู่ได้ต่อสู้ในสงครามมาแล้ว 3 ครั้งนับตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 2490 โดยสองครั้งในนั้นอยู่ในพื้นที่พิพาทของชาวมุสลิมในแคชเมียร์

เช่นเดียวกับอัฟกานิสถาน กองทัพของปากีสถานที่ควบคุมนโยบายในพื้นที่อ่อนไหว และความตึงเครียดตามแนวชายแดนพฤตินัยนั้นอยู่ที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2564 เนื่องจากการหยุดยิง

แต่ไม่มีการเจรจาทางการฑูตอย่างเป็นทางการระหว่างอินเดียและปากีสถาน มานานหลายปี เนื่องจากความไม่ไว้วางใจอย่างลึกซึ้งในประเด็นต่างๆ รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงของข่านต่อนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดีย ในการจัดการกับการโจมตีชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในอินเดีย

การัน ทาปาร์ นักวิจารณ์การเมืองชาวอินเดียที่ติดตามความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับปากีสถานอย่างใกล้ชิด กล่าวว่า กองทัพปากีสถานอาจกดดันรัฐบาลใหม่ในอิสลามาบัดให้สานต่อความสำเร็จในการหยุดยิงในแคชเมียร์

พล.อ.กามาร์ จาเวด บัจวา ผู้บัญชาการกองทัพที่มีอำนาจของปากีสถาน กล่าวเมื่อไม่นานนี้ว่าประเทศของเขาพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าในประเด็นแคชเมียร์ หากอินเดียเห็นด้วย

ตระกูลชารีฟ ที่อาจจะกลับมาเป็นนายกรับมนตรีอีกอยู่ในระดับแนวหน้าของการแสดงท่าทีเป็นไมตรีกับอินเดียหลายครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

สหรัฐ

ผู้เชี่ยวชาญในเอเชียใต้ในสหรัฐฯ กล่าวว่าวิกฤตการเมืองของปากีสถานไม่น่าจะมีความสำคัญสำหรับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้ซึ่งกำลังต่อสู้กับสงครามในยูเครน เว้นแต่จะนำไปสู่ความไม่สงบหรือความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นกับอินเดีย

“เรามีประเด็นอื่นๆ อีกมากที่จะลงมือ” โรบิน ราเฟล อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฝ่ายเอเชียใต้ และเป็นผู้ร่วมงานอาวุโสของศูนย์ความคิดของศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษานานาชาติกล่าว

นักวิเคราะห์บางคนกล่าวว่า เนื่องจากกองทัพปากีสถานยังคงควบคุมนโยบายต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงอยู่เบื้องหลัง การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

“เนื่องจากเป็นกองทัพที่ชี้ให้เห็นถึงนโยบายที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญจริงๆ เช่น อัฟกานิสถาน อินเดีย และอาวุธนิวเคลียร์ การพัฒนาทางการเมืองภายในของปากีสถานจึงไม่เกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ เป็นส่วนใหญ่” ลิซ่า เคอร์ติส ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการอาวุโสคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประจำภูมิภาคเอเชียใต้ กล่าว 

ลิซ่า เคอร์ติสเสริมว่า การเยือนมอสโกของข่านถือเป็น "หายนะ" ในแง่ของความสัมพันธ์สหรัฐฯ และรัฐบาลชุดใหม่ในกรุงอิสลามาบัดอย่างน้อยก็สามารถช่วยแก้ไขความสัมพันธ์ "ในระดับหนึ่ง"

ข่านกล่าวโทษสหรัฐฯ ต่อวิกฤตการเมืองในปัจจุบัน โดยกล่าวว่าวอชิงตันต้องการให้เขาถูกถอดออกเนื่องจากการเดินทางไปมอสโกครั้งล่าสุด แต่ทางวอชิงตันปฏิเสธบทบาทใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้

Photo - REUTERS/Saiyna Bashir/File Photo