posttoday

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อ 'อีลอน มัสก์' เข้ามาคุม Twitter

05 เมษายน 2565

อีลอน มัสก์ คิดจะทำอะไรหลังเข้าซื้อหุ้น Twitter กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่

ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่ามหาเศรษฐีเบอร์หนึ่งของโลกอย่าง อีลอน มัสก์ (Elon Musk) กำลังวางแผนที่จะทำอะไรต่อไป หลังจากที่เขากลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท Twitter Inc. เมื่อเข้าซื้อหุ้น 9.2% มูลค่าเกือบ 2,900 ล้านเหรียญสหรัฐ

แต่ที่แน่ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นแทบจะในทันทีคือหุ้น Twitter เพิ่มขึ้นมากกว่า 27% และยังฉุดให้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีทะยานขึ้นตามไปด้วย หลังจากที่ซีอีโอบริษัท Tesla เผยสัดส่วนการถือครองหุ้น Twitter

จะเกิดอะไรขึ้นกับ Twitter

ที่น่าจับตามองคือ การซื้อหุ้นของมัสก์เกิดขึ้นไม่ถึง 2 สัปดาห์หลังจากที่เขาสร้างโพลบน Twitter ว่า "คุณคิดว่า Twitter ปฏิบัติตามหลักการเสรีภาพในการพูดหรือไม่" พร้อมระบุว่า "ผลที่ตามมาจากการสำรวจนี้มีความสำคัญ โปรดลงคะแนนอย่างระมัดระวัง"

ซึ่งพบว่า 70.4% จากผู้โหวตกว่า 2 ล้านคนตอบว่า "ไม่"

หลังจากที่ผลโพลชี้ให้เห็นว่าผู้ใช้ส่วนใหญ่มองว่า Twitter ไม่ปฏิบัติตามหลักเสรีภาพในการพูด มัสก์ได้วิจารณ์ว่า "Twitter ซึ่งทำหน้าที่เป็นจัตุรัสสาธารณะโดยพฤตินัย การไม่ปฏิบัติตามหลักการพูดโดยเสรี ถือเป็นการบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยโดยพื้นฐาน" "จำเป็นต้องมีแพลตฟอร์มใหม่หรือเปล่า"

เมื่อปลายเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา มัสก์ได้เปิดเผยว่าเขากำลังพิจารณาอย่างจริงจังในการสร้างแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียใหม่ ท่ามกลางข้อกังขาเกี่ยวกับนโยบายด้านเสรีภาพในการพูดและการแสดงออกของ Twitter

นอกจากการการเปลี่ยนแปลงในประเด็นเสรีภาพในการพูดแล้ว สิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับ Twitter อีกอย่างหนึ่งคืออาจมีฟังก์ชันแก้ไขโพสต์ที่เคยทวีตไปแล้ว ซึ่งเป็นข้อโต้แย้งที่มีมาอย่างยาวนานในกลุ่มผู้ใช้งาน

อย่างที่ทราบกันดีว่าข้อความที่ได้ทวีตไปแล้วนั้นไม่สามารถแก้ไขได้ ไม่เหมือนกับการสร้างโพสต์บนโซเชียลมีเดียอื่น อย่างเช่น Facebook ซึ่งผู้โพสต์สามารถย้อนกลับมาแก้ไขโพสต์ได้ในภายหลัง

"คุณต้องการปุ่มแก้ไขหรือไม่" มัสก์ตั้งโพลถามบน Twitter เมื่อช่วงเช้าวันนี้ ซึ่งขณะนี้มีผู้โหวตแล้วกว่า 2.45 ล้านคน โดย 73.5% ตอบว่า "ต้องการ"

The Washington Post ระบุว่าขณะนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่ามัสก์จะเข้ามามีบทบาทบน Twitter อย่างไร แต่นักวิเคราะห์คาดว่าเขาอาจพยายามปรับโครงสร้างไปในทางเสรีนิยม หลีกเลี่ยงการบล็อกหรือจำกัดบัญชีบน Twitter ขณะที่พนักงานและผู้เชี่ยวชาญของ Twitter บางคนกลัวว่าการมีส่วนร่วมของมัสก์อาจผลักดันให้บริษัทเข้าสู่ความโกลาหล

พนักงานบางคนมองว่าเราจะพูดอะไรก็ได้บน Twitter ไม่ได้ ทุกอย่างต้องมีขอบเขต พนักงานบางคนยังพูดคุยถึงการจัดประท้วง โดยอ้างถึงทวีตปั่นหุ้นของมัสก์เมื่อปี 2018 และ 2020 ที่ทำให้ต้องมีปัญหากับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม มุมมองเกี่ยวกับเสรีภาพของมัสก์ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมและแฟนคลับ โดนัลด์ ทรัมป์ หลายคน ซึ่งเห็นด้วยกับการลงทุนครั้งใหม่ของมัสก์ โดยทรัมป์ถูกแบนจาก Twitter เป็นการถาวรเมื่อปีที่แล้ว โดยให้เหตุผลว่า "มีความเสี่ยงปลุกปั่นความรุนแรงในอนาคต"

ขณะที่แดน ไอฟส์ กรรมการผู้จัดการของ Wedbush Securities มองว่าการซื้อหุ้นของมัสก์อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ชายที่ร่ำรวยที่สุดในโลกจะเข้ามามีบทบาทที่แข็งกร้าวมากขึ้นบน Twitter และในที่สุดอาจนำไปสู่การซื้อคืน

ด้านเคธี วูด ซีอีโอของบริษัท Ark Investment Management คาดว่าการที่มัสก์ถือครองหุ้นใน Twitter อาจเปิดทางให้มีการปรับเปลี่ยนคณะบริหารของบริษัท ท่ามกลางคำถามว่ามัสก์จะเข้ามามีส่วนร่วมในบอร์ดบริหารด้วยหรือไม่

นอกจากเรื่องการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านเสรีภาพในการพูด, ฟังก์ชันแก้ไขทวีต และการเปลี่ยนแปลงคณะบริหารของ Twitter แล้ว The New York Times ชี้ว่ายังคงมีคำถามในอีกหลายประเด็นหลังมัสก์เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองกันต่อไป ไม่ว่าจะเป็น

มัสก์กำลังวางแผนที่จะทำอะไร? จะเข้าซื้อกิจการเลยหรือไม่? ผู้ถือหุ้น Tesla และ SpaceX คิดอย่างไรกับเรื่องนี้? บริการด้านการชำระเงิน PayPal จะเข้ามามีส่วนร่วมบน Twitter ด้วยหรือไม่? เขาจะทำเงินได้เท่าไรจากการซื้อหุ้นครั้งนี้?

Photo by Patrick Pleul/Pool via REUTERS/File Photo