posttoday

คว่ำบาตรทำพิษ คนเยอรมันหันพึ่งฟืนกับถ่านหินสู้วิกฤตก๊าซแพง

03 เมษายน 2565

ชาวเยอรมันต้องพากันซื้อไม้เพื่อมาทำฟืนให้ความอบอุ่นและเพื่อใช้งานในชีวิตประจำวัน หลังจากราคาก๊าซสูงขึ้นแบบพรวดพราดเพราะการคว่ำบาตรรัสเซีย

สำนักข่าวรอยเตอร์ชาวเยอรมันกำลังซื้อไม้และถ่านหินแม้จะถึงฤดูใบไม้ผลิที่อากาศอบอุ่นขึ้นแลวก็ตาม เนื่องจากราคาก๊าซที่พุ่งสูงขึ้นและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามที่ยืดเยื้อในยูเครน

เยอรมนีประกาศ "คำเตือนล่วงหน้า" ในวันพุธ เกี่ยวกับเหตุฉุกเฉินด้านการจัดหาก๊าซที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณของความกังวลเกี่ยวกับการหยุดชะงักหรือการหยุดการไหลของก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย

“โทรศัพท์ของเราดังไม่หยุดเลย” เอริก พาสซาว ผู้สร้างเตาเผาและเตาผิงกล่าว (ซึ่งตาเผาและเตาผิงต้องใช้ไม้ฟืนหรือถ่านหิน) พร้อมเสริมว่าการขาดแคลนอุปทานทำให้ยากต่อการสั่งซื้อ "ผู้คนต้องการความปลอดภัย เพราะการถูกแช่แข็งมันไม่สนุก"

แม้จะมีอุปทานก๊าซที่มีเสถียรภาพ แต่ผู้บริโภคและบริษัทต่างๆ ได้รับคำแนะนำให้ลดการใช้พลังงานลง โดยโรเบิร์ต ฮาเบ็ค รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจกล่าวว่า "ทุกกิโลวัตต์-ทุกชั่วโมงมีค่า"

ซูซาน กาสเดน เป็นหนึ่งในคนที่สั่งซื้อไม้สำหรับฤดูหนาวหน้า แม้ว่าเธอจะมีเครื่องทำความร้อนไฟฟ้าในบ้านของเธอก็ตาม

“ฉันมีเตาในทุกห้อง และหากจู่ๆ แก๊สดับลงอย่างกะทันหันหรือเราขาดแคลนพลังงาน อย่างน้อยฉันก็สามารถอยู่ได้อย่างพอเพียง” เธอกล่าว "ช่วยเอาชีวิตรอดไปได้ในวันมรสุม"

ริชาร์ด เคิกเลอร์ ผู้ค้าเชื้อเพลิงกล่าวว่าผู้คนยังคงตุนถ่านหินและไม้ไว้แม้ว่าอากาศจะหนาวจะค่อยๆ หมดไปก็ตาม และเสริมว่าแม้แต่ก่อนสงครามในยูเครนปริมาณถ่านหินและฟืนก็ยังเริ่มไม่พอ

“พวกเขาไม่สั่งเพราะก๊าซมีราคาแพงมาก พวกเขาสั่งเพราะกังวลว่าจะไม่ได้อะไรเลย”

มาร์คุส ชทุมบอม กรรมการผู้จัดการของบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเคหะ กล่าวว่า ในขณะที่ความต้องการเครื่องทำความร้อนที่ใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เขารู้สึกประหลาดใจที่ก๊าซถูกวิพากษ์วิจารณ์

“เมื่อพูดถึงก๊าซ ผมคิดเสมอว่าเทคโนโลยีนี้มีอนาคตแน่นอน เพราะผู้คนต่างก็มองดูไปที่ก๊าซชีวภาพหรือก๊าซสังเคราะห์ แต่ตอนนี้ แน่นอน ทุกคนต้องการเปลี่ยนเป็นเครื่องทำความร้อน” ชทุมบอมกล่าว 

ภาพประกอบ (ไม่เกี่ยวกับเนื้อหา) - ชาวเลบานอนถือถังใส่ไม้ฟืน ภาพถ่าย 19 มกราคม 2022 REUTERS/Aziz Taher