posttoday

สหรัฐประกาศกองทัพเมียนมาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา

21 มีนาคม 2565

จากการรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ รัฐบาลไบเดนได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าความรุนแรงที่ก่อขึ้นต่อชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาโดยกองทัพเมียนมาร์มีความร้ายแรงเท่ากับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จะประกาศการตัดสินใจในวันจันทร์นี้ที่พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวกับรอยเตอร์ ซึ่งปัจจุบันมีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับชะตากรรมของชาวโรฮิงญา เป็นเวลาเกือบ 14 เดือนหลังจากที่เขาเข้ารับตำแหน่งและให้คำมั่นที่จะดำเนินการทบทวนความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาอีกครั้ง

กองกำลังติดอาวุธของเมียนมาร์เริ่มปฏิบัติการทางทหารในปี 2560 ซึ่งบังคับชาวโรฮิงญามุสลิมอย่างน้อย 730,000 คนจากบ้านเรือนของพวกเขาและเข้าไปลี้ภัยในบังกลาเทศ ซึ่งพวกเขาเล่าถึงการสังหาร การข่มขืนหมู่ และการลอบวางเพลิง ในปี 2564 กองทัพเมียนมาร์เข้ายึดอำนาจในการทำรัฐประหาร

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และสำนักงานกฎหมายภายนอกรัฐบาลได้รวบรวมหลักฐานเพื่อพยายามยืนยันถึงความร้ายแรงของเหตุทารุณดังกล่าวโดยเร็ว แต่แล้ว ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสมัยโดนัลด์ ทรัมป์กลับปฏิเสธที่จะตัดสินใจกระทำการใดๆ

บลิงเคนสั่งด้วยตัวเองให้มี "การวิเคราะห์ทางกฎหมายและข้อเท็จจริง" การวิเคราะห์สรุปได้ว่ากองทัพเมียนมากำลังก่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และรัฐบาลวอชิงตันเชื่อว่าการตัดสินใจประณามกองทัพเมียนมาอย่างเป็นทางการจะเพิ่มแรงกดดันจากนานาชาติในการให้รัฐบาลเผด็จการทหารรับผิดชอบ

“มันจะทำให้พวกเขา (กองทัพเมียนมา) ยากที่จะล่วงละเมิดต่อไป” เจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศกล่าว

กองทัพเมียนมาร์ปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ซึ่งถูกปฏิเสธไม่ให้สัญชาติเมียนมาร์ และกล่าวว่า กำลังดำเนินการปราบปรามผู้ก่อการร้ายในปี 2560

ภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงของสหประชาชาติสรุปในปี 2561 ว่าปฏิบัติการของกองทัพเมียนมามี "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" (genocidal acts) รวมอยู่ด้วยแต่ รัฐบาลวอชิงตันกล่าวถึงความโหดร้ายในขณะนั้นว่าเป็น "การกวาดล้างชาติพันธุ์" (ethnic cleansing) ซึ่งเป็นคำที่ไม่มีคำจำกัดความทางกฎหมายภายใต้กฎหมายอาญาระหว่างประเทศ

“นี่เป็นสัญญาณบอกกับโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเหยื่อและผู้รอดชีวิตในชุมชนโรฮิงญา และในวงกว้างมากขึ้นว่าสหรัฐฯ ตระหนักถึงความรุนแรงของสิ่งที่เกิดขึ้น” เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการต่างประเทศคนที่สองกล่าวกับรอยเตอร์

การพิจารณาว่าการกระทำใดๆ เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จะไม่ได้ทำให้เกิดการลงโทษบุคคล/รัฐบาลนั้นโดยอัตโนมัติโดยสหรัฐฯ

นับตั้งแต่สงครามเย็น กระทรวงการต่างประเทศได้ใช้คำนี้อย่างเป็นทางการถึง 6 ครั้งเพื่อระบุถึงการสังหารหมู่ในบอสเนีย รวันดา อิรัก และดาร์ฟูร์ การโจมตีของกลุ่มไอเอสต่อชาวยาซิดีและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ และล่าสุดเมื่อไม่นานนี้ใช้กับการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ของจีนและชาวมุสลิมอื่นๆ วึ่งจีนปฏิเสธข้อหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

นอกจากนี้ บิลงเคนจะประกาศเงินทุนเพิ่มเติม 1 ล้านดอลลาร์สำหรับกลไกการสืบสวนอิสระสำหรับเมียนมาร์ (IIMM) ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติที่ตั้งอยู่ในเมืองเจนีวา ซึ่งกำลังรวบรวมหลักฐานสำหรับการดำเนินคดีที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

“มันจะเป็นการยกระดับจุดยืนของเรา ในขณะที่เราพยายามสร้างการสนับสนุนจากนานาชาติ เพื่อพยายามป้องกันความโหดร้ายที่จะเกิดขึ้นต่อไป และจัดการกับสิ่งเหล่านั้น” เจ้าหน้าที่คนแรก กล่าว

เจฟฟ์ แมร์คลีย์ วุฒิสมาชิกสหรัฐ สมาชิกคณะกรรมการความสัมพันธ์ต่างประเทศของวุฒิสภา ซึ่งนำคณะผู้แทนรัฐสภาไปยังเมียนมาร์และบังกลาเทศในปี 2560 ยินดีกับการเคลื่อนไหว

“แม้ว่าการตัดสินใจนี้จะล่าช้าไปนานแล้ว แต่ก็ยังเป็นขั้นตอนที่ทรงพลังและมีความสำคัญอย่างยิ่งในการถือเอาระบอบการปกครองที่โหดร้ายนี้มาพิจารณา” เมอร์คลีย์กล่าวในแถลงการณ์

Photo -เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของบังกลาเทศดูแลผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาหลังจากเดินทางมาถึงเตกนาฟ (Teknaf) เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2020 โดยชาวโรฮิงญา 32 คนเสียชีวิตบนเรือลากอวนประมงที่แออัดในอ่าวเบงกอลเป็นเวลาเกือบสองเดือน และหลายร้อยคนที่  "หิวโหย" ได้รับการช่วยเหลือจากเรือ / AFP / Suzauddin RUBEL