posttoday

เมื่อไบเดนตราหน้าปูติน ‘อาชญากรสงคราม’ แต่ตัวเองก็มือเปื้อนเลือด

17 มีนาคม 2565

สมัยที่ไบเดนเป็นรองประธานาธิบดีให้กับโอบามา การถล่มกลุ่มตอลีบันในอัฟกานิสถานคร่าชีวิตพลเมืองไปไม่น้อย

หลังจากสงวนท่าทีมานานในที่สุดประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐก็กล้าวหาว่า ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียเป็น “อาชญากรสงคราม” จากการรุกรานยูเครน

การพูดในครั้งนี้ของผู้นำสหรัฐถือเป็นคำพูดที่รุนแรงที่สุดจากฝั่งสหรัฐนับตั้งแต่สงครามเปิดฉากขึ้นเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ทั้งไบเดนและผู้นำประเทศอื่นเลี่ยงการเรียกสิ่งที่รัสเซียทำกับยูเครนว่าเป็นอาชญากรสงครามเพื่อรอผลการสอบสวนว่าควรจะใช้คำนี้หรือไม่

หลายคนมองว่าคำว่าอาชญากรสงครามไม่ควรออกจากปากของไบเดน เพราะมือของเขาก็เปื้อนเลือดไม่ต่างจากปูติน

ในขณะที่ บารัก โอบามา ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างปี 2009-2017 ซึ่งมีไบเดนเป็นรองประธานาธิบดีนั้น ปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มตอลีบันในอัฟกานิสถานของกองทัพสหรัฐได้คร่าชีวิตประชาชนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ไปนับหมื่นคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2015 และ 2016 ที่ยอดผู้เสียชีวิตทุบสถิติตัวเลขประจำปี

ปี 2009

เป็นปีที่พลเมืองอัฟกันเสียชีวิตมากที่สุดอีกครั้งหนึ่งในสงครามที่นำโดยสหรัฐซึ่งเริ่มต้นในช่วงปลายปี 2001 สำนักงานเพื่อปฏิบัติภารกิจช่วยเหลืออัฟกานิสถานของสหประชาชาติ (UNAMA) ระบุว่ามีพลเมืองเสียชีวิตจากสงคราม 2,412 ราย เพิ่มจากปี 2008 ถึง 14%

เหตุการณ์ที่สำคัญของปี 2009 ได้แก่

  • 9 เม.ย. กองกำลังที่นำโดยสหรัฐสังหารประชาชน 4 คน (ผู้ชาย 1 ผู้หญิง 1 และเด็ก 2 รวมทั้งทารกในครรภ์อีก 1) ระหว่างการบุกจู่โจมตอนกลางคืนในจังหวัดโคสต์ ตอนแรกสหรัฐชี้แจงว่าผู้เสียชีวิต 4 คนเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่มีอาวุธ แต่ภายหลังยอมรับว่าทั้งคนเจ็บและเสียชีวิตเป็นพลเรือน
  • 4 พ.ค. เครื่องบินทิ้งระเบิด B-1B ของสหรัฐสังหารพลเมืองอัฟกันราว 20 กว่าคน หรืออาจมากถึง 147 คน ในปฏิบัติการโจมตีทางอากาศหมู่บ้านกราไนในจังหวัดฟาเราะห์ หลังจากรัฐบาลอัฟกานิสถานสอบสวนพบว่าตัวเลขชาวบ้านที่เสียชีวิตอย่างเป็นทางการคือ 140 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กถึง 93 คน และผู้ชาย 22 คน
  • ขณะที่การสอบสวนของสหรัฐคาดว่ามีชาวบ้านเสียชีวิต 26 คน แต่ก็ยอมรับในรายงานว่าไม่สามารถระบุตัวเลขที่แน่ชัดได้ว่าพลเมืองเสียชีวิตจากปฏิบัติการครั้งนี้กี่คน รายงานสรุปว่า การโจมตีทางอากาศอย่างน้อย 2 ครั้งไม่ควรถูกสั่งการ และเรียกร้องให้กองทัพเปลี่ยนกฎในการโจมตีทางอากาศและทำการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ใหม่
  • 4 ก.ย. ทางตอนเหนือของเมืองคุนดุซมีคนเสียชีวิตราว 70-90 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเมือง จากการโจมตีทางอากาศของสหรัฐที่กองทัพกองกำลังสนับสนุนด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ (ISAF) ของเยอรมนี หลังจากกลุ่มผู้ก่อการร้ายปล้นรถบรรทุกน้ำมัน 2 คันที่กำลังมุ่งหน้าไปทาจิกิสถานเพื่อส่งเสบียงให้กองกำลังนาโต

      หลังรถบรรทุกติดหล่มใกล้กับแม่น้ำคุนดุซ ผู้ก่อการร้ายเปิดวาล์วน้ำมันเพื่อให้รถเบาขึ้น บรรดาชาวบ้านที่ทราบข่าวพากันมารองน้ำมันโดยไม่สนคำเตือนว่าอาจมีการโจมตีทางอากาศ เมื่อข่าวแพร่ออกไปชาวบ้านจากหมู่บ้านใกล้เคียงมารุมล้อมรถบบรทุกน้ำมันราว 500 คน

      ราว 02.30 น. เครื่องบินรบ F-15E Strike Eagle ของสหรัฐทิ้งระเบิดหนัก 500 ปอนด์ 2 ลูกใส่รถบบรทุกน้ำมันทั้งสองคันจนเกิดไฟลุกไหม้เผาร่างชาวบ้านไปหลายคน คลิปวิดีโอที่ถ่ายในช่วงเช้าเผยให้เห็นร่างชาวบ้านที่ไหม้เกรียมจำนวนมากบริเวณริมแม่น้ำ

ปี 2010

UNAMA ระบุว่าพลเมืองอัฟกันเสียชีวิตจากสงคราม 2,777 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2009 15% ในจำนวนนี้ 440 คน (15.9%) เสียชีวิตจากกองกำลังที่นำโดยสหรัฐ ลดลงจากปีก่อน 26% ในจำนวนนี้ 171 คนเสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศ

ปี 2011

ครึ่งปีแรกของปี 2011 สงครามในอัฟกานิสถานที่นำโดยสหรัฐส่งผลให้ตัวเลขพลเมืองที่เสียชีวิตสูงขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากความรุนแรงทวีขึ้น จากข้อมูลของ UNAMA พบว่าครึ่งปีแรกชาวอัฟกันเสียชีวิต 1,462 คน เพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ตัวเลขผู้เสียชีวิตทั้งปีอยู่ที่ 3,021 คน

เหตุการณ์ที่สำคัญของปี 2011 ได้แก่

  • ก.พ. การสอบสวนโดยรัฐบาลอัฟกันได้ข้อสรุปว่า พลเมือง 65 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงและเด็ก 50 คน เสียชีวิตจากปฏิบัติการของนาโตในจังหวัดโคนาร์ นาโตโต้แย้งข้อสรุปดังกล่าว แต่ประธานาธิบดีโอบามาขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
  • 1 มี.ค. พลปืนประจำเฮลิคอปเตอร์สหรัฐสังหารเด็กชายอัฟกันอายุระหว่าง 7-13 ปีที่กำลังเก็บฟืน 9 คน ส่วนอีก 1 คนได้รับบาดเจ็บ
  • 9 มี.ค. กองกำลังพิเศษสหรัฐสังหาร ฮาจิ ยาร์ โมฮัมหมัด ญาติของประธานาธิบดี ฮามิด คาร์ไซ ของอัฟกานิสถาน ระหว่างปฏิบัติการร่วมกับนาโตและกองกำลังอัฟกานิสถานโจมตีเป้าหมายในเมืองกันดาฮาร์ตอนกลางคืน
  • 24 มี.ค. โดรน RAF Reaper ซึ่งคบคุมระยะไกลจากฐานทัพอากาศสหรัฐในรัฐเนวาดาสังหารพลเมือง 4 คน (ผู้หญิง 2 เด็ก 2) ส่วนอีก 2 คนบาดเจ็บในเมืองเนาซัดของจังหวัด เฮลมันด์

ปี 2012

รายงานของ UNAMA ระบุว่า ตัวเลขพลเมืองอัฟกันที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บในปี 2012 ลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูล โดยมีผู้เสียชีวิต 2,769 คน บาดเจ็บ 4,821 คน

เหตุการณ์ที่สำคัญของปี 2012 ได้แก่

  • 17 ก.พ. ปฏิบัติการโจมตีโคนาร์ตอนกลางคืนในหุบเขาเดวา กัลส่งผลให้พลเมืองเสียชีวิต 6 คน
  • 11 มี.ค. พลเมืองอย่างน้อย 16 คนถูกสังหารหลังจากทหารสหรัฐบุกเข้าไปในบ้านของพวกเขาในจังหวัดกันดาฮาร์แล้วเปิดฉากยิง เรียกเหตุการณ์นี้ว่า การสังหารหมู่กันดาฮาร์
  • 8 มิ.ย. การโจมตีทางอากาศร่วมกันระหว่างกองทัพสหรัฐและนาโตในช่วงเช้าตรู่ที่พุ่งเป้ามาที่ผู้บัญชาการของกลุ่มตอลีบันซึ่งพาลูกสมุนเข้าไปหลบในบ้านชาวบ้านที่กำลังจัดพิธีแต่งงานในจังหวัดโลการ์ ส่งผลให้พลเมืองอัฟกันเสียชีวิต 18 คน โดยครึ่งหนึ่งเป็นเด็ก

      ในเวลาต่อมา จอห์น อัลเลน ผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐในอัฟกานิสถานและผู้บัญชาการกองกำลังนาโตบินไปขอโทษครอบครัวผู้เสียชีวิตด้วยตัวเอง นับเป็นครั้งแรกที่มีการยอมรับว่าการโจมตีทางอากาศของกองกำลังร่วมสหรัฐทำให้พลเรือนเสียชีวิต อัลเลนยังชี้แจงว่าสหรัฐไม่ทราบว่ามีพลเรือนอยู่ในบ้านเป้าหมาย ส่วนแพทย์รายหนึ่งที่ได้พูดคุยกับผู้รอดชีวิตบอกว่า นักรบตอลีบันขัดขวางไม่ให้ชาวบ้านหนีหลังจากกองกำลังร่วมบอกให้พลเรือนออกมาจากตัวบ้าน

ปี 2013

องค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่ามีพลเมืองเสียชีวิต 2,969 คน บาดเจ็บ 5,669 คน

ปี 2014

UN ระบุว่ามีพลเมืองเสียชีวิต 3,710 คน บาดเจ็บ 6,825 คน

ปี 2015

UN ระบุว่ามีพลเมืองเสียชีวิต 3,545 คน บาดเจ็บ 7,457 คน

ปี 2016

UN ระบุว่ามีพลเมืองเสียชีวิต 3,498 คน บาดเจ็บ 7,920 คน

ปี 2017

UN คาดว่าตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย. มีพลเมืองเสียชีวิต 1,662 คน

REUTERS/Tom Brenner