posttoday

จะเกิดอะไรขึ้นกับโลก หากตะวันตกคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย

08 มีนาคม 2565

จะเกิดอะไรขึ้นหากสหรัฐและชาติตะวันตกแบนน้ำมันจากรัสเซีย

ท่าทีของสหรัฐที่มีความตั้งใจจะแบนน้ำมันนำเข้าจากรัสเซียส่งผลให้น้ำมันดิบเบรนด์พุ่งขึ้นแตะระดับเกือบ 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008

รัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก ซึ่งคิดเป็นประมาณ 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน (bpd) หรือ 7% ของอุปทานน้ำมันทั่วโลก เมื่อมีแนวโน้มว่าผู้ส่งออกรายใหญ่อาจถูกแบน ทำให้เกิดกระทบตามมาเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันที่พุ่งเป็นประวัติการณ์ ความเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อ และปัญหาอื่นๆ ซึ่งรอยเตอร์สได้รวบรวมความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญไว้ดังนี้

ราคาน้ำมันพุ่งเป็นประวัติการณ์

JP Morgan คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 185 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลภายในสิ้นปี 2022 หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น

โดยขณะนี้ราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับ 2 ปีก่อนท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการน้ำมันลดลงจนดิ่งต่ำกว่า 0 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอยู่ช่วงหนึ่ง

โจวันนี สเตาโนโว นักวิเคราะห์จากบริษัทการเงิน UBS กล่าวว่า "สงครามที่ยืดเยื้อทำให้เกิดการหยุดชะงักเป็นวงกว้าง ซึ่งอาจทำให้เบรนท์เคลื่อนไหวเหนือระดับ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล"

ภาวะเงินเฟ้อ

ด้วยราคาก๊าซธรรมชาติที่พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นปะวัติการณ์ คาดว่าต้นทุนพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นจะผลักดันให้ทั้งสองฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกประสบกับเงินเฟ้อเหนือ 7% ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และอาจกระทบถึงกำลังซื้อของครัวเรือน

รายงานระบุว่าตามหลักการทั่วไปทุกๆ 10% ที่เพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในรูปสกุลเงินยูโร จะเพิ่มอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซน 0.1% ถึง 0.2% นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. น้ำมันดิบเบรนท์เพิ่มขึ้นประมาณ 80% ในรูปสกุลเงินยูโร ขณะที่ในสหรัฐอเมริการาคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.2%

นอกจากจะเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ของน้ำมันและก๊าซแล้ว รัสเซียยังเป็นผู้ส่งออกธัญพืชและปุ๋ยรายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นผู้ผลิตแพลเลเดียม นิกเกิล ถ่านหิน และเหล็กกล้ารายใหญ่ที่สุด การตัดขาดรัสเซียออกจากการค้าโลกจะส่งผลกระทบต่อหลายอุตสาหกรรม และทำให้เกิดความกลัวต่อความมั่นคงด้านอาหารทั่วโลก

ชะลอการเติบโต

การแบนน้ำมันจากรัสเซียจะทำให้การฟื้นตัวจากโควิด-19 ของทั่วโลกช้าลง โดยการคำนวณเบื้องต้นโดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) ชี้ให้เห็นว่าสงครามสามารถลดการเติบโตในยูโรโซนได้ 0.3% ถึง 0.4% ในปีนี้ และอาจถึง 1% ในกรณีที่สถานการณ์ย่ำแย่

รายงานชี้ว่าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้ามีความเสี่ยงสูงที่เศรษฐกิจจะซบเซา หรือมีการเติบโตไม่เท่าที่ควร ควบคู่ไปกับอัตราเงินเฟ้อที่สูง

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประมาณการว่าราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลจะทำให้การเติบโตเศรษฐกิจของประเทศลดลง 0.1%

ส่วนในรัสเซีย JP Morgan ประมาณการว่าความเสียหายน่าจะมีขนาดใหญ่และเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเศรษฐกิจของประเทศอาจหดตัวถึง 12.5% จากจุดสูงสุดสู่ระดับต่ำสุด

ธนาคารกลางเคลื่อนไหว

ภาวะเงินเฟ้อได้พิสูจน์แล้วว่ากระทบต่อธนาคารกลางสหรัฐอย่างมาก โดยเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดกล่าวว่าจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยใรเดือนนี้

สำหรับธนาคารกลางยุโรป (ECB) ความเร่งด่วนของการดำเนินการตามนโยบายนั้นรุนแรงน้อยกว่า เนื่องจากตลาดแรงงานยังคงมีกำลังการผลิตสำรองและมีอัตราเงินเฟ้อในครัวเรือนเพียงเล็กน้อย

คาร์สเตน เบอร์สกี นักเศรษฐศาสตร์ของ ING กล่าวว่าไม่สามารถคาดหวังอย่างจริงจังว่า ECB จะเริ่มปรับนโยบายการเงินให้เป็นปกติในช่วงเวลาที่มีความไม่แน่นอนสูงเช่นนี้

ผลกระทบระยะยาว

พลังงานหมุนเวียนอาจได้รับแรงหนุนในระยะกลางถึงระยะยาว เนื่องจากประเทศต่างๆ พยายามจะเลิกใช้พลังงานของรัสเซีย

ด้วยความต้องการเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ แต่อุปทานทั่วโลกยังตึงตัว ซูซานนาห์ สตรีเตอร์ นักวิเคราะห์การลงทุนและการตลาดอาวุโสของ Hargreaves Lansdown กล่าวว่าจะมีโครงการริเริ่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระยะสั้น เพื่อพยายามทดแทนการจัดหาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่หดตัว

ศาสตราจารย์โวล์ฟกัง เคตเตอร์ จาก Rotterdam School of Management ในเนเธอร์แลนด์กล่าวว่าควรนำงบประมาณที่ใช้กับก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และปิโตรเลียม ไปใช้ในการผลิตพลังงานหมุนเวียน หรืออะไรก็ตามที่จะนำไปสู่ความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาวโดยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล

รายงานระบุว่าขณะที่มีการกระตุ้นการลงทุนในการผลิตน้ำมันจากหินดินดานของสหรัฐ แต่อุปทานอาจไม่เร็วพอที่จะสามารถแทนที่ผลผลิตจากรัสเซีย

คาโฮ หยู นักวิเคราะห์จาก Verisk Maplecroft ที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงมองว่าทางตันระหว่างรัสเซียและตะวันตกสามารถกระตุ้นความสัมพันธ์ของรัสเซียและจีนได้ แต่โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานระหว่างทั้งสองประเทศยังขาดแคลน แม้ว่า Pivot to the East ของรัสเซียจะเร่งความร่วมมือด้านก๊าซกับจีนผ่านโครงสร้างพื้นฐาน แต่การพัฒนาทั้งหมดเหล่านี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเมื่อเทียบกับตลาดอิ่มตัวในยุโรป

Photo by REUTERS/Sergei Karpukhin/File Photo