posttoday

'มาตรา 5' สิ่งที่จะปกป้อง NATO หากรัสเซียไม่หยุดแค่ยูเครน

08 มีนาคม 2565

ด้วยหลักการนี้ การโจมตีประเทศสมาชิกประเทศเดียวเท่ากับโจมตี NATO ทั้งกลุ่ม และหมายถึงการทำสงครามกับหลายประเทศพร้อมกัน

• ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครนยืดเยื้อมากว่าสิบวันแล้ว ขณะที่บรรดาประเทศที่อยู่ใกล้เคียงกำลังกลัวว่าสถานการณ์จะยิ่งรุนแรงขึ้น นำไปสู่ความขัดแย้งในวงกว้าง รวมถึง ประธานาธิบดีกิตานัส นาวเซดา ของลิทัวเนีย ซึ่งกล่าวกับ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ว่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียจะไม่หยุดอยู่แค่ยูเครน พร้อมเรียกร้องให้นานาชาติให้ความช่วยเหลือยูเครน ก่อนที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งในระดับโลก หรือสงครามโลกครั้งที่ 3

• ขณะที่บลิงเคนเน้นย้ำถึง มาตรา 5 ภายใต้สนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือของ NATO อีกครั้ง โดยกล่าวกับผู้นำลิทัวเนียซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิก NATO ว่า "สหรัฐมีความมุ่งมั่นในการรับประกันมาตรา 5 ของ NATO ซึ่งว่าด้วยการป้องกันร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก" โดยหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจเยือนลิทัวเนียแล้วบลิงเคนยังมีกำหนดการเยือนลัตเวียและเอสโตเนีย สมาชิก NATO ที่อยู่ใกล้เคียงด้วย

• นับตั้งแต่ที่รัสเซียประกาศเปิดปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ประเทศสมาชิก NATO ได้พูดถึงมาตรา 5 หลายครั้ง เนื่องจากเพื่อนบ้านรอบๆ ยูเครนหลายประเทศเป็นสมาชิก NATO รวมถึงบลิงเคนเองก็ได้กล่าวเมื่อเดือนก.พ. หลังรัสเซียรุกรานยูเครนว่า "มีความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะไม่หยุดอยู่แค่ยูเครน แต่มีบางสิ่งที่ทรงพลังมากที่ขวางทางสิ่งนั้น และมันคือสิ่งเราเรียกว่ามาตรา 5"

• บลิงเคนกล่าวต่อว่า "หมายความว่า การโจมตีประเทศใดประเทศหนึ่งที่เป็นสมาชิก NATO คือการโจมตีทุกประเทศที่เป็นสมาชิก NATO ประธานาธิบดี (โจ ไบเดน) มีความชัดเจนมากว่าเราจะปกป้องทุกตารางนิ้วของดินแดน NATO"

• มาตรา 5 เป็นหัวใจสำคัญของสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือคือการป้องกันโดยรวม หมายถึง การโจมตีประเทศสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งคือการโจมตีประเทศสมาชิกทั้งหมด กล่าวคือประเทศสมาชิกให้คำมั่นที่จะปกป้องดินแดนของกันและกัน โดยมีกองกำลังประจำการอยู่ในประเทศต่างๆ เพื่อสนับสนุนความพยายามในการป้องกันโดยรวมของประเทศสมาชิก

'มาตรา 5' สิ่งที่จะปกป้อง NATO หากรัสเซียไม่หยุดแค่ยูเครน

• นี่คือสาเหตุที่ยูเครนต้องการเข้าร่วม NATO เพราะหากโดนรุกรานจากรัสเซีย ประเทศสมาชิกทั้ง 30 ประเทศ ได้แก่ แอลเบเนีย, เบลเยียม, บัลแกเรีย, แคนาดา, โครเอเชีย, สาธารณรัฐเช็ก, เดนมาร์ก, เอสโตเนีย, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, กรีซ, ฮังการี, ไอซ์แลนด์, อิตาลี, ลัตเวีย, ลิทัวเนีย, ลักเซมเบิร์ก, มอนเตเนโกร, เนเธอร์แลนด์, มาซิโดเนียเหนือ, นอร์เวย์, โปแลนด์, โปรตุเกส, โรมาเนีย, สโลวาเกีย, สโลวีเนีย, สเปน, ตุรกี, สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ก็จะสามารถเข้ามาช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่

• มาตรา 5 บัญญัติว่าหากประเทศสมาชิก NATO ตกเป็นเหยื่อการโจมตีด้วยอาวุธจะถือว่าการโจมตีนั้นเป็นการโจมตีต่อสมาชิกทุกประเทศ และจะดำเนินการตามที่เห็นสมควรเพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ถูกโจมตี รวมทั้งการใช้กองกำลังติดอาวุธเพื่อฟื้นฟูและรักษาความมั่นคงของในแอตแลนติกเหนือ

• ในปี 1949 จุดมุ่งหมายหลักของสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือคือการสร้างข้อตกลงช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อตอบโต้ความเสี่ยงที่สหภาพโซเวียตจะพยายามขยายการควบคุมยุโรปตะวันออกไปยังส่วนอื่นๆ ของทวีป โดยหนึ่งในสนธิสัญญาคือมาตรา 5 ซึ่งถูกพูดถึงบ่อยในตอนนี้

• ในวันที่ 12 ก.ย. 2011 ภายหลังเหตุก่อการร้าย 9/11 ในสหรัฐ NATO เรียกมาตรา 5 ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ให้ประเทศสมาชิกยืนเคียงข้างสหรัฐเพื่อตอบโต้การโจมตี หลังจากนั้นมีการใช้มาตรการป้องกันร่วมหลายครั้ง รวมถึงการตอบสนองต่อสถานการณ์ในซีเรียด้วย

Photo by REUTERS/Dado Ruvic/Illustration