posttoday

ปูตินใช้สูตรสีจิ้นผิง เปลี่ยนประเทศเป็น "เกาะ" ต้านคว่ำบาตร

23 กุมภาพันธ์ 2565

รัสเซียกับจีนกำลังเดินอยู่บนถนนสายเดียวกัน คือถนนแห่งการประจันหน้ากับชาติตะวันตก เพื่อรับแรงต้านทานและสวนกลับ สองประเทศนี้ต้องใช้ยุทธศาสตร์แห่างชาติแบบใหม่ มันคือ "การสร้างเกาะ"

ในบทความวิเคราะห์ของ The New York Times เรื่อง "ปูตินสร้างฉนวนป้องกันเศรษฐกิจของรัสเซีย แล้วการคว่ำบาตรของไบเดนจะรั้งเขาไว้จากการบุกยูเครนหรือไม่?" (Putin Insulated Russia’s Economy. Will Biden’s Sanctions Hold Him Back in Ukraine?)

ประเด็นที่ชวนฉุกคิดอยู่ที่การเลือกใช้คำว่า Insulated ซึ่งเราสามารถแปลได้ว่า "การสร้างฉนวนป้องกัน" แต่ในบทความยังมีคำคล้ายกันว่า Insular ซึ่งมีรากศัพท์เดียวกันนั่นคือการทำให้เป็นเกาะหรือทำให้โดดเดี่ยวจากส่วนอื่นๆ

การสร้างฉวนก็คือการสร้าง "เกาะ" (Insular) เพื่อทำให้ตัวเองตัดขาดจากอำนาจภายนอกที่เป็นปฏิปักษ์ และยังเป็น "เกราะ" ป้องกันการโจมตีจากศัตรู

พูดสั้นๆ คือปูตินกำลังโดดเดี่ยวรัสเซียด้วยความเต็มใจ และใช้เวลามาระยะหนึ่งแล้วในการโยกย้ายทุน สร้างแนวป้องกันเศรษฐกิจ และทำให้รัสเซียยืนอยู่ได้ด้วยลำแข้งตัวเองในกรณีที่ถูกคว่ำบาตร

แผนการสร้างสิ่งที่ผู้เขียนขอเรียกว่า Insular Russia (เกาะรัสเซีย) ดำเนินมาตังแต่หลังการคว่ำบาตรรอบแรกเมื่อคราวที่รัสเซียผนวกไครเมียเมื่อปี 2014 จากวันนั้นถึงวันนนี้ นอกจากการคว่ำบาตรจะโค่นปูตินไม่ได้แล้ว ยังทำให้เขาแกร่งกว่าเดิมเสียอีก อย่างน้อยก็ในแง่ของการท้าทายชาติตะวันตก

ในตอนนั้นก็เหมือนตอนนี้ ไม่ใช่ทุกคนของฝ่ายตะวันตกจะเห็นด้วยกับการคว่ำบาตรรัสเซีย ประเทศที่ไม่เห็นด้วยส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป นายกรัฐมนตรีฮังการีนั้นบอกว่าระวังจะเป็นการ "ทำปืนลั่นใส่เท้าตัวเอง"

คำพูดทำนองนี้มีคนปัดฝุ่นขึ้นมาอีกครั้งในคราวนี้ เพราะทุกครั้งที่มีการคว่ำบาตรรัสเซีย รัสเซียนั้นไม่เจ็บเพราะทำตัวเป็นเกาะได้ แต่ยุโรปนั้นต้อง "เกาะ" หรือ "โหน" รัสเซียโดยเฉพาะเรื่องทุนและเรื่องทุนการเงินการผลิต เมื่อตัดท่อน้ำเลี้ยงจากรัสเซีย ยุโรปก็จะอาจจะขาดใจได้

นายกรัฐมนตรีบัลแกเรียในตอนนั้นบอกเลยว่า "ผมไม่รู้ว่ารัสเซียได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรอย่างไร แต่บัลแกเรียได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง"

ในตอนนั้น ซิกมาร์ กาเบรียล รัฐมนตรีเศรษฐกิจของเยอรมนีกล่าวว่าวิกฤตในยูเครนควรได้รับการแก้ไขโดยการเจรจามากกว่าการเผชิญหน้าทางเศรษฐกิจ และในภายหลังกล่าวเสริมว่าการเสริมการคว่ำบาตรเพื่อต่อต้านรัสเซียจะ "กระตุ้นให้เกิดสถานการณ์ที่อันตรายยิ่งขึ้น… ในยุโรป"

ดูเหมือนว่าข้อสังเกตของ รัฐมนตรีเศรษฐกิจของเยอรมนีจะกลายเป็นทำพยากรณ์ที่เป็นจริงไปแล้ว

คราวนี้ ในกลุ่มยุโรป เยอรมนีนั้นดูจะ "แรง" ที่สุดด้วยการระงับข้อตกลงท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 แต่มันเป็นโครงการที่ยังไม่เดินหน้าไปไหน ดังนั้นท่าทีนี้จึงเป็นการทำ "พอเป็นพิธี"

ในปี 2017 นั้นเยอรมนีถึงกับโวยวายด้วยซ้ำเมื่อวุฒิสภาสหรัฐผ่านมาตรการคว่ำบยาตรรัสเซียอีกระลอก โดยบอกว่าทำแบบนั้นเท่ากับเล่นงานโครงการ Nord Stream 2 ไปด้วย และบอกว่าสหรัฐกำลังคุกคามการภาคพลังงานของยุโรป

เห็นไหมว่าเมื่อเจอเข้าจังๆ ยุโรปไม่โทษรัสเซีย แต่โทษพวกเดียวกันเองคือสหรัฐ

การที่เยอรมนีระงับโครงการ Nord Stream 2 ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนท่าทีขึ้นมา เพราะอย่างไรเสียก็ต้องพึ่งก๊าซของรัสเซีย แต่เพราะตอนนี้มันพ้นฤดูหนาวพอดี ความต้องการก๊าซน้อยลง และ Nord Stream 2 ก็ยังไม่คืบหน้าไปไหน จะดีกว่าถ้าใช่ไพ่ใบนี้เตือนรัสเซียไปในตัวพร้อมกับคล้อยตามสหรัฐแบบไม่เสียเนื้อเสียตัวไปด้วย

ก่อนจะถึงฤดูหนาวปีนี้เยอรมนีต้องรีบหาทางออกให้กับตัวเองเกี่ยวกับกรณียูเครนให้ได้ และรื้อฟื้น Nord Stream 2 ขึ้นมาอีกครั้งแน่ๆ

เช่นกัน คราวนี้ ยุโรปประเทศอื่นๆ สงวนท่าทีเรื่องคว่ำบาตรเหมือนปี 2014 ด้วยสาเหตุเดียวกันก็คือ "กลัวทำปืนลั่นใส่เท้าตัวเอง"

แต่เราจะเห็นว่าประเทศที่คว่ำบาตรรัสเซียทันทีคือพวกได้รับผลกระทบน้อยและอยู่ไกลจากปริมณฑลความขัดแย้ง คือสหรัฐและสหราชอาณาจักร พวกนี้แม้จะเป็นนาโตเหมือนกัน แต่เศรษฐกิจผูกกับรัสเซียน้อยกว่า

ดังนั้นทั้ง "ยูเอส" และ "ยูเค" จึงปั่นเรื่องสงครามแบบรายวัน และพร้อมคว่ำบาตรกว่าใครเพื่อน โดยไม่ถามเพื่อนในยุโรปว่าจะเห็นดีเห็นงามด้วยไหม

อเมริกันนั้น "ด้อยค่า" เศรษฐกิจรัสเซียกันซึ่งๆ หน้า เช่น จอห์น เฟอร์แมน (Jason Furman) นักเศรษฐศาสตร์ของฮาร์วาร์ดและอดีตที่ปรึกษาของโอบามา ที่เขียนบทความใน The New York Times บอกว่ารัสเซียนั้นไม่ได้สลักสำคัญอะไรกับเศรษฐกิจโลก "มันเป็นแค่ปั๊มน้ำมันขนาดใหญ่เท่านั้น"

เฟอร์แมนคงจะไม่ได้ยินเสียงบ่นของคนอเมริกันที่เห็นข่าวราคาน้ำมันพุ่งในวันถัดมาหลังการคว่ำบาตร ก็ชี้นิ้วด่ารัฐบาลตัวเองทันทีว่า "เป็นไงล่ะกับการหมกมุ่นสงคราม"

และเฟอร์แมนคงจะลืมไปว่าปั๋มน้ำมันขนาดใหญ่นี้ สหรัฐไม่เติมที่ปั๊มนี้ก็จริง แต่ยุโรปพึ่งพามันแบบขาดไม่ได้ และราคาน้ำมันของ "ปั๊มอื่น" ก็ขึ้นกับสถานการณ์ของปั๊มนี้ด้วย

จะว่าไปแล้วการคว่ำบาตรรัสเซียสมัยโอบามานี่แหละที่ทำให้รัสเซียดื้อยา มันกระทบต่อเศรษฐกิจรัสเซียก็จริงแต่ก็เบาบาง เอาเข้าจริง เศรษฐกิจรัสเซียได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันโลกที่ตกลงยาวหลายปีหลังจากนั้นมากกว่ามาตรการคว่ำบาตรเสียอีก (จาก 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปี 2014 มาอยู่ที่ประมาณ 60 - 70 ดอลลาร์ จากปี 2015 - 2019 และดิ่งลงถึง 12 ดอลลาร์ในปี 2020 )

ทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียลดลงฮวบฮาบระหว่างปี 2014 - 2017 แต่หลังจากนั้นไต่ขึ้นมาจนกระทั่งในปี 2020 ก็สูงกว่าปี 2014 อีกครั้งเกือบจะเท่ากับระดับสูงสุดในปี 2006 - 2008 ด้วยซ้ำ - หลังจากนั้นรัสซียก็เริ่ม "ขู่" ยูเครน

จากประสบการณ์ในปี 2014 เราจะเห็นว่ารัสเซียต้านทานการคว่ำบาตรได้ ยอมให้เศรษฐิจกระทบช่วงสั้น ซึ่งอันที่จริงราคาน้ำมันโลกที่ตกลงมีส่วนด้วย หลังจากรัสเซียสามารถทำให้ทุนสำรองเพิ่มขึ้นสูงปรี๊ดขึ้นมาอีก

มันสะท้อนว่ารัสเซียประสบความสำเร็จในการทำให้เศรษฐกิจของตัวเองมีลักษณะเป็น "เกาะ" (Insular) และ "ดื้อยา" จากยาแรงของการคว่ำบาตร

หากย้อนกลับไปดูก่อนเกิดกรณียูเครน เราจะเห็นว่าปูตินเตรียมการสร้าง "เกาะรัสเซีย" มาระยะหนึ่งแล้ว เช่น เมื่อพฤษภาคมปีที่แล้วปูตินประกาศว่าตอนนี้รัสเซียพึ่งพาตัวเองได้เต็มที่แล้วในด้านการผลิตอาหารพื้นฐาน และรัสเซีย "กำลังเข้าสู่ตลาดโลกอย่างต่อเนื่องและเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกชั้นนำในหลายตำแหน่ง (ในภาคอาหาร)" ที่จริงแล้วตั้งแต่ปี 2016 ผลิตภัณฑ์เกษตรแซงหน้าอุตสาหกรรมอาวุธเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 2 ของรัสเซียรองจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

เรื่องนี้บอกอะไรกับเรา? มันบอกเราว่าปูตินสามารถป้องกันภาวะเงินเฟ้อในเรื่องอาหารได้เปราะหนึ่งแล้ว ปัญหานี้เคยรุนแรงขึ้นมาตอนที่รัสเซียถูกคว่ำบาตรครั้งแรก คือ 15.53% ในปี 2015 แต่พีคแล้วก็ถอยลงมาเรื่อยๆ จนในปี 2020 เหลือแค่ 3.38%

แต่ภาระมันจะมาตกกับชาวโลก ขณะที่รัสเซียปิดบ้านเลี้ยงตัวเองได้ น้ำมันก็มีพอจะใช้เองไม่ต้องง้อใคร สถานการณ์ยูเครนจะทำให้น้ำมันแพงขึ้น (อาจถึง 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) และทำให้เงินเฟ้อของสหรัฐพุ่งขึ้นมา (อาจถึง 10%)

ดังนั้นเราจึงเห็นว่า ชาติตะวันตกหลีกเลี่ยงที่จะคว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย เพราะมันจะไม่ใช่รัสเซียที่เจ็บ แต่เป็นชาวโลกและโดยเฉพาะยุโรปที่จะเจ็บ

รัสเซียไม่มีอะไรต้องกลัว พวกเขามีก๊าซธรรมชาติมากที่สุดในโลก มีน้ำมันสำรองมากอันดับสองของโลก มีคลังแร่สำคัญของโลกมากที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งเหล็ก, นิกเกิล, เพชร, ถ่านหิน อลูมิเนียม ทองคำ, ทองคำขาว ของเหล่านี้รัสเซียมีเหลือเฟือ รวมแล้วคิดเป็น 14% ของสินแร่ทั้งหมดของโลก

มีพวกที่รัสเซียอาจจะต้องง้อโลกภายนอก เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งบางประเทศกระเหี้ยนกระหือรือที่จะช่วยโลกตะวันตกแบนรัสเซียไม่ให้เข้าถึงพวกมัน เช่น ญี่ปุ่น

แต่คงจะลืมไปว่าวัตถุดิบสำคัญที่จะใช้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์อย่าง palladium นั้นโลกภายนอกนั่นแหละที่ต้องง้อจากรัสเซีย และหากรัสเซียยึดยูเครนได้ วัตถุดิบสำคัญจะหายไปจากตลาดเซมิคอนดักเตอร์ในพลัน นั่นคือ Neon

ด้วยคลังมหาสมบัตินี้ แม้รัสเซียจะถูกล้อมหรือปิดตัวเองก็ยังอยู่ได้ เป็น Insular หรือเกาะที่ร่ำรวยโดยไม่ต้องไปแบ่งกับใคร

แต่หากคว่ำบาตรรัสเซียแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ ตลาดพลังงาน ตลาดชิป ตลาดทุน และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ของโลกนั่นแหละที่จะกระอักเลือด

โดนสรุป แนวทางของปูตินคล้ายๆ กับสีจิ้นผิงหลังจากที่จีนเผชิญกับสงครามการค้าและการ "รุม" จากพันธมิตรของสหรัฐ สีจิ้นผิงใช้โอกาสที่ปิดประเทศเพื่อควบคุมการระบาด ประกาศแนวทางพึ่งพาตัวเองขึ้นมา

สีจิ้นผิงบอกไว้เมื่อปี 2020 ว่า "ขณะนี้เรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในศตวรรษนี้ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ในกรณีนี้ เราต้องใช้เส้นทางแห่งการพึ่งพาตนเอง นั่นคือ การพึ่งพาตนเองด้วยนวัตกรรมที่เป็นอิสระ ทำความเข้าใจกับเจตนารมณ์เชิงกลยุทธ์ของคณะกรรมการกลางพรรค และด้วยกลยุทธ์ที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ จะค้นพบวิธีพึ่งพาตนเอง"

ในถ้อยคำนี้สีจิ้นผิงย้ำคำว่า "พึ่งตนเอง" (จื้อลี่เกิงเซิง) ถึง 3 ครั้ง

ในเดือนกรกฎาคม 2021 ปูตินอนุมัติ "ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติแบบพึ่งพาตนเอง" โดยจำกัดการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ (ป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจของประเทศถูกโจมตีเพราะผูกติดดอลลาร์มากเกินไป) ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์กับจีนและอินเดีย (คือไม่ให้ยักษ์ใหญ่ของเอเชียตกเป็นเครื่องมือตะวันตกหรือถูกตะวันตกโจมตีและรัสเซียจะสั่นคลอนไปด้วย) และปกป้องอธิปไตยทางวัฒนธรรมของประเทศ (คือป้องกันค่านิยมตะวันตกบ่อนทำลายค่านิยมรัสเซีย)

"ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติแบบพึ่งพาตนเอง" ที่อนุมัติปีที่แล้ว เป็นการอัปเดตจากฉบับเดิมที่ใช้เมื่อปี 2015 หลังจากที่รัสเซียถูกคว่ำบาตรครั้งแรก

ข้อที่น่าสนใจคือ เราจะเห็นรัสเซียพึ่งตัวเองได้ในเกือบทุกทางแล้ว แม้แต่โซเชียลมีเดียก็ใช้ของตัวเอง เพื่อปิดช่องโหว่ทั้งหมด รัสเซียต้องทำให้คนในประเทศมีความรู้สึกชาตินิยมอย่างแรงกล้า และต่อต้านค่านิยมตะวันตก ดังที่ยุทธศาสตร์ใหม่ระบุว่า “วัฒนธรรมตะวันตกเพิ่มอันตรายที่รัสเซียจะสูญเสียอำนาจอธิปไตยทางวัฒนธรรม”

จีนกำลังใช้แนวทางเดียวกัน คือกระตุ้นชาตินิยม นิยมความเป็นจีน ต่อต้านค่านิยมตะวันตก มันได้ผลถึงขนาดที่ประชาชนจีนไล่ล่าและประจานพวกนิยมตะวันตกกันแล้วในบางกรณี

การสร้างสังคมที่อยู่ด้วยตัวเองได้ ต้องทำให้ประชาชนรู้สึกได้ว่าประเทศของพวกเขาคือโลกของพวกเขา ปูตินกับสีจิ้นผิงกำลังทำสิ่งนี้ และมันค่อนข้างสำเร็จในกรณีของจีน

จากบทความนี้ คงจะเห็นแล้วว่าปูตินใช้แนวทางพึ่งตัวเองและยืนหยัดโดดเดี่ยวแบบ Insular มาก่อนสีจิ้นผิง ช่วงที่เกิดสงครามการค้าจีนยังงัดเอาไพ่ "แรร์เอิร์ธ" ออกมาขู่สหรัฐและพรรคพวกเพื่อให้ขยาด หากไม่แล้วจีนจะขมวดอุปทานของมันเสีย

เราไม่มีทางรู้ว่าผู้นำทั้งสองปรึกษาหารือเรื่องแนวทาง Insular หรือไม่ ซึ่งนั่นไม่สำคัญเท่ากับว่าด้วยภาวะสงครามเย็นใหม่ที่ชัดขึ้นเรื่อยๆ และการหาเรื่องขัดขวางจีนกับรัสเซียมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ให้เข้าถึงทุนและทรัพยากร (ในกรณีของจีน)

มันจะทำให้ทั้งสองประเทศนี้สร้างเกราะ/เกาะที่ยืนหยัดด้วยตัวเอง และช่วยประคองกันไปเพื่อต้านทาน "พวกพันธมิตรสหรัฐ"

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Alexei Druzhinin / Sputnik / AFP