posttoday

'ยึดโดยไม่รบ' ปูตินใช้ลูกไม้เดิมที่เคยทำกับไครเมีย

22 กุมภาพันธ์ 2565

เพียงแต่ปูตินจะสลับแนวทางที่เกิดขึ้นกับไครเมียเล็กน้อย โดยที่เป้าหมายยังคงเหมือนกัน นั่นคือทำให้ 'โดเนตสก์-ลูฮันสก์' เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย

ปี 2014 มันจุดเริ่มต้นของการ "แตกสลาย" ของยูเครน หลังจากเกิดการ "การปฏิวัติยูเครน" ที่โค่นล้มรัฐบาลเอียงรัสเซียโดยกลุ่มพลังประชาชนที่ไม่ต้องการให้รัสเซียเข้ามาแทรกแซงการเมืองยูเครนและต้องการให้ยูเครนเอียงเข้าหายุโรปตะวันตกมากกว่า

แต่การปฏิวัติประชาชนไม่มีพลังพอที่จะต้านการแทรกแซงของรัสเซียได้ ในพื้นที่ของยูเครนที่มีคนเชื้อสายรัสเซียหรือมีชาวยูเครนที่เอียงรัสเซียอาศัยอยู่มาก พื้นที่เหล่านี้แสดงอาการ "ขบถ" ต่อการปฏิวัติต่อต้านอิทธิพลรัสเซียและการเอียงเข้าหาสหภาพยุโรป

พื้นที่เหล่านั้นคือไครเมีย คาบสมุทรทางตอนใต้ และ "โดเนตสก์-ลูฮันสก์" หรือที่เรียกรวมกันว่า "ดอนบัส" ทางตอนออกของยูเครนติดกับพรมแดนรัสซีย

ปูตินส่งทหารปกปิดอัตลักษณ์เข้าประสานงานกับกองกำลังท้องถิ่นเข้ายึดสถานที่สำคัญในไครเมีย ปฏิบัติการนี้เป็นการอำพรางไม่ให้นานาประเทศรู้ว่ารัสเซียแทรกแซง (ซึ่งทั่วโลกต่างรู้ดี เพียงแต่มันไม่กระโตกกระตากจนจับคาหนังคาเขาได้) เพื่อเคลียร์พื้นที่กับการจัดการลงประชามติกำหนดชะตากรรมของไครเมีย ซึ่งผลประชามติมีคะแนนท่วมท้นให้ไครเมียประกาศเอกราชจากยูเครนเป็น "สาธารณรัฐไครเมีย" และส่งคำร้องอย่างเป็นทางการขอเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับสหพันธรัฐรัสเซีย

ถึงตอนนี้ปูตินได้ความชอบธรรมแล้ว จึงส่งทหารเข้าไปในไครเมียอย่างเป็นแทางการโดยไม่ปกปิดตัวตนอีก ทำการยึดจุดยุทธศาสตร์สำคัญ และผนวกไครเมียเป็นของรัสเซียโดยที่ "เกือบทุกฝ่าย" แฮปปี้ ยกเว้นรัฐบาลยูเครนและชาติตะวันตก

แน่นอนว่าชาติตะวันตกไม่ยอมรับและทำการคว่ำบาตรรัสเซียฐานที่ "รุกรานและยึดครอง" ไครเมีย ทั้งๆ ปูตินพยายามให้เนียนที่สุดและแนบเนียนสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศที่สุดในการกลืนไครเมีย

แม้การผนวกไครเมียของปูตินมันจะไม่เนียนแบบไร้ตะเข็บก็จริง แต่มันก็ไม่มีร่องรอยที่ชัดเจนที่จะเอาผิดกันซึ่งๆ หน้าว่าการผนวกครั้งนี้เป็นการยกทัพยึดครองกันแบบโจ่งแจ้ง ดังนั้นการคว่ำบาตรจึงไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และประชาคมโลกแม้จะรู้อยู่เต็มอก แต่ก็พูดอะไรไม่ถนัด ยกเว้นพวกที่เป็นอริกับรัสเซียอยู่แล้วก็ใส่แบบไม่ยั้ง แต่ก็นั่นแหละ การตอบโต้ต่อรัสเซียดูไม่คุ้มกับสิ่งที่รัสเซียได้ไป

ที่แท็กติกนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น Gambit แบบหนึ่งของปูตินคือการเดินหมากโดยเสียหมากตัวไม่สำคัญ เพื่อช่วงชิงตาหมากที่สำคัญ Gambit นี้ปูตินย่อมรู้ว่าชาติตะวันตกทำได้แค่คว่ำบาตรแบบไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่รัสซียได้ดินแดนใหม่เข้ามาเต็มหน่วย พร้อมกับจุดยุทธศาสตร์ที่โอบล้อมยูเครนเอาไว้ได้

กรณีการรับรองเอกราชของ "ดอนบัส" ในคราวนี้ สื่อบางแห่งก็มองว่านี่คือ Gambit หรือ "กลหมากเสียตัวได้ตา" ของปูตินเช่นกัน

เมื่อปี 2014 นั้น "ดอนบัส" ก็พยายามเคลื่อนไหวแบบไครเมีย โดยพยายามทำประชามติเช่นกัน แคว้นโดเนตสก์ และแคว้นลูฮันสก์ ผลออกมาก็คือประชาชนท่วมท้นต้องการให้ก่อตั้งประเทศเอกราชใหม่ทั้ง 2 แห่ง คือ "สาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์" และ "สาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์" ซึ่งแยกตัวมาจากยูเครน

แต่แปลกที่ปูตินไม่ต้องการให้ทั้งแคว้นดอนบัสทำประชามติและขอให้เลื่อนการทำประชามติออกไป เพื่อช่วยสร้างเงื่อนไขสำหรับ "การเจรจาโดยตรงที่เต็มที่ระหว่างเจ้าหน้าที่ของเคียฟและตัวแทนของยูเครนตะวันออกเฉียงใต้"

แม้ในเวลาต่อมาทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซียยอมรับผลประชามติ แต่ขณะเดียวกันปูตินไม่ยอมวิเคราะห์ผลประชามติ นั่นคือยอมรับว่ามีการลงประชามติ แต่ก็เตะถ่วงที่จะยอมรับมตินั้น และในปีต่อมาปูตินก็ยังตกลงกับผู้นำชาติตะวันตกว่าจะยับยั้งไม่ให้มีการเลือกตั้งในดอนบัส ทำให้ทั้ง "สองแคว้น/ประเทศ" ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป

การยื้อของปูตินอาจมองได้ว่าเขาต้องการใช้ดอนบัสเป็นเครื่องต่อรองกับชาติตะวันตก เพราะดอนบัสนั้นเป็น "ของตาย" ไปแล้ว

ดังนั้น ปูตินจึงปล่อยให้ดอนบัสอยู่ในสถานะอิหลักอิเหลื่อมาตั้งแต่ปี 2014 เพื่อให้ต่อรองและเพื่อให้เป็นตัวล่อ

ดอนบัสจึงเป็นพื้นที่รบพุ่งไม่หยุด มันทำให้พื้นที่นี้กัดกร่อนอำนาจทางทหารของยูเครนไปเรื่อยๆ แม้รัสเซียและคู่กรณีและชาติตะวันตกจะยอมหยุดยิงเป็นคั้รงราวผ่าน "พิธีสารมินสก์" (Minsk Protocol) แต่มันก็ถูกแหกครั้งแล้วครั้งเล่า จนต้องทำพิธีสาร/ข้อตกลงมิสก์หมายเลข 2 กันขึ้นมา

โดยสาระของข้อตกลงนี้ก็คือเตะถ่วงไม่ให้ดอนบัสแยกตัวออกมา แม้ทั้งสองแคว้นจะประกาศเอกราชและตั้งสาธารณรัฐขึ้นมาแล้วก็ตาม แต่ปูตินยังไม่ยอมรับอธิปไตยนั้น และตามพิธีสารมินก์รัสเซียยังยินยอมให้ดอนบัสมีอำนาจปกครองตนเองภายใต้กรอบการกระจายอำนาจตามรัฐธรมนูญยูเครน

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เพื่อทำให้แนวรบด้านตะวันออกมีความคลุมเครือ ใช้กองกำลังติดอาวุธในดอนบัสบั่นทอนอำนาจทางทหารของยูเครน โดยที่รัสเซียส่งไปแค่กองกำลังรักษาสันติภาพและมีรายงานว่ามีทหารรับจ้างรัสเซียปรากฏตัวเป็นครั้งคราว - โดยสรุปก็คือรัสเซียไม่เปลืองแรงนักกับพื้นที่จุดนี้

แต่เขาจำเป็นต้องกุมไครเมียเอาไว้ ในแง่ยุทธศาสตร์แล้วไครเมียไม่ใช่ของตาย แต่เป็น "จุดตาย" เพราะอยู่ริมทะเลดำ เป็นจุดออกทะเลของยูเครน และทะเลดำยังเป็นทะเลหลวงที่พวกตะวันตกมักส่งเรือรบมาป้วนเปี้ยนหรือกระทั่งซ้อมรบ ดังนั้น จะเป็นการดีที่รัสเซียต้องรีบยึดไครเมียเอาไว้

สมมติว่ายูเครนถูกบีบจนต้องขอเป็นส่วนหนึ่งของนาโต และนาโตต้องส่งกองทัพมาช่วย การรุกทางเรือหรือยกพลขึ้นบกก็จะไม่มีทางทำได้ เพราะไครเมียตกเป็นของรัสเซียแล้ว

และนี่ยังเป็นสาเหตุให้นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่ารัสเซียควรจะบุกภาคใต้ของยูเครนที่เหลือมากกว่า เพื่อยึดกุมชายฝั่งของยูเครนให้หมด และยังปิดทางไปถึงมอลโดวาและโรมาเนียที่มีความเกี่ยวข้องกับนาโตด้วย

เมื่อเกิด "กรณียูเครน 2021 - 2022" ขึ้น เมื่อรัสเซียส่งกำลังทหารไปประจำการตามชายแดนยูเครน ดูเหมือนว่าชาติตะวันตกจะมุ่งไปที่การรุกรานยุเครนแบบเต็มกำลัง โดยที่น้อยรายจะคิดว่ารัสเซียจะทำแค่รับรองดอนบัสว่ามีอธิปไตยในฐานะประเทศเอกราชในที่สุด และการส่งกองกำลังรัสเซียเข้าไป ก็คือการทำตามสเต็ปเดิมที่เคยทำกับไครเมีย นั่นคือรอให้สองแคว้นดอนบัสประกาศผนวกตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย

คำถามก็คือ ทำไมปูตินถึงมารอเอาป่านนี้ถึงได้คิดผนวกดอนบัสเหมือนที่เคยทำกับไครเมียเมื่อปี 2014?

สิ่งที่รัสเซียต้องการจากชาติตะวันตกมาโดยตลอดคือ 1. อย่ารับยูเครนเป็นสมาชิกนาโต และ 2. ขอให้ถอนทหารออกจากประเทศยุโรปตะวันออก ทั้ง 2 ข้อนี้รัสเซียมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อตน เพราะหากปล่อยให้ยูเครนเป็นสมาชิกนาโต นาโตก็จะส่งทหารมาประจันหน้ารัสเซียได้โดยตรง

และมันยังมีเหตุผลทางประวัติศาสตร์ด้วย เพราะปูตินมองว่ายูเครนคือส่วนหนึ่งของรัสเซีย แม้จะเอายูเครนทั้งประเทศกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย แต่ยูเครนก็ไม่ควรเป็นหอกข้างแคร่ของรัสเซียด้วย

ปรากฎว่าสิ่งที่รัสเซียต้องการทั้ง 2 ข้อนี้ชาติตะวันตกให้ไม่ได้ พวกเขาดึงกันไม่ยอมจนกระทั่งตระหนักกันเองว่ารัสเซียคงไม่ยอมแน่นอน นี่คือการบีบให้รัสเซียต้อง "ทำสงคราม" แต่เป็นสงครามระดับไหนนั้นยังน่ากังขา เพราะชาติตะวันตกปั่นเรื่องสงครามแบบรายวัน ราวกับต้องการสงครามเสียเอง หรือไม่ก็รู้แก่ใจว่าสิ่งที่ตนทำนั้นคือบีบให้ปูตินต้องรบเท่านั้น

แต่จนแล้วจนรอดปูตินก็ไม่รบ และสิ่งที่เรียกว่า "การรุกราน" ก็เป็นแค่การเดินตามกลหมากการเมืองที่เคยเดินกับไครเมียมาแล้ว มันทำให้ตะวันตกคว่ำบาตรได้ก็จริง แต่ก็คว่ำบาตรแบบไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยอีกเหมือนตอนเกิดกรณีไครเมีย เพราะปูตินใช้ลูกไม้ที่ทำให้ฟันธงไม่ได้ว่า "ไม่ชอบธรรม" ตรงไหน

สิ่งหนึ่งที่เราวิเคราะห์ได้เนิ่นๆ คือ นับจากนี้กองกำลังรัสเซียจะขยับเข้าใกล้ "ยูเครนที่แท้จริง" (หรือยูเครนส่วนที่เหลือที่ไม่มีคนรัสเซียเป็นส่วนใหญ่) มากขึ้น โดยเฉพาะเองหลวงคือเคียฟนั้นถูกเขมือบได้ในเวลาอันรวดเร็วหากตั้งหลักกันที่ดอนบัส

ถ้ายูเครนเกิดหน้ามืดประกาศเข้าร่วมนาโตขึ้นมา มันคือการเดินหมากแบบ Gambit ที่เสี่ยงจะเสียทั้งตัวหมากระดับคิงและควีน (คือกรุงเคียฟและเมืองคาร์กิว) และเสียทั้งตาส่วนใหญ่ในกระดาน เพราะโอกาสที่รัสเซียจะบุกเขมือบยูเครนได้ครึ่งประเทศในเวลาอันสั้นจากดอนบัสนั้นมีสูงมาก

ดังนั้น เราจึงเห็นว่าวันที่ปูตินรับรองดอนบัสและส่งทหารเข้าไปนั้น สหรัฐจึงวิงวอนให้ประธานาธิบดียูเครนอพยพจากเคียฟไปยังเมืองลวีฟทางตะวันตกสุดเพื่อความปลอดภัยแต่เนิ่นๆ

จากลวีฟนั้นอยู่ไม่ไกลจากชายแดนโปแลนด์ ที่ซึ่งกองกำลังสหรัฐ 3,000 นาย ประจำการอยู่

บทวิเคราะห์โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Alexey NIKOLSKY / Sputnik / AFP