posttoday

จีนพบ ‘ทหารดินเผา’ ในสุสานจิ๋นซี เพิ่ม 25 ตัว

23 มกราคม 2565

จีนค้นพบรูปปั้นทหารดินเผาเพิ่มอีก 25 ตัว ในหลุมหมายเลขหนึ่งของพิพิธภัณฑ์อันเป็นที่ตั้งกองทัพทหารดินเผาแห่งสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ในมณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือ โดยส่วนหนึ่งเป็นรูปปั้นทหารระดับกลางและสูง ซึ่งมีนัยสำคัญต่อการศึกษาการจัดเรียงทหารในหลุม

จากการรายงานของสำนักข่าวซินหัว พิพิธภัณฑ์สุสานจักรพรรดิฉินสื่อหวงหรือจิ๋นซีฮ่องเต้ ระบุว่ารูปปั้นทหารดินเผาเขียนสีสภาพดีถูกขุดพบที่ตอนกลางของส่วนทิศเหนือหลุมหมายเลขหนึ่ง โดยรูปปั้นส่วนใหญ่ถูกขุดพบอยู่หลังซากรถม้า ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นรูปปั้นพลทหารและรูปปั้นทหารระดับกลาง

คณะนักโบราณคดีดำเนินการวิจัยรูปปั้นทหารระดับกลางและสูง โดยเฉพาะที่ขุดพบในหลุมหมายเลขหนึ่ง และตั้งข้อสังเกตว่ากองทหารในหลุมดังกล่าวมีแนวโน้มเรียงแถวอย่างสมมาตรตามทิศเหนือ-ใต้ และทิศตะวันออก-ตะวันตก

ทั้งนี้ รูปปั้นทหารดินเผาชุดใหม่ถูกเคลื่อนย้ายสู่ห้องอนุรักษ์ ส่วนหลุมหมายเลขหนึ่งถูกทำความสะอาดฆ่าเชื้อรา เพื่อความปลอดภัยของรูปปั้นและสภาพแวดล้อมโดยรอบ

กองทัพทหารดินเผาสร้างโดยจักรพรรดิฉินสื่อหวงแห่งราชวงศ์ฉิน (221-207 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ผู้รวบรวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งเดียวครั้งแรก โดยมีการค้นพบกองทัพทหารดินเผาในปี 1974 และหลุมหมายเลขหนึ่งเป็นหลุมฝังศพขนาดใหญ่ที่สุด ครอบคลุมพื้นที่ 14,260 ตารางเมตร

มีการสันนิษฐานจากการจัดเรียงแถวกองทหารว่าหลุมหมายเลขหนึ่งอาจมีรูปปั้นทหารและม้าดินเผามากกว่า 6,000 ตัว หากเสร็จสิ้นการขุดสำรวจอย่างเต็มรูปแบบ

จีนพบ ‘ทหารดินเผา’ ในสุสานจิ๋นซี เพิ่ม 25 ตัว

‘สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้’ ถูกสร้างขึ้นอย่างไรกันแน่?

ก่อนหน้านี้สำนักข่าวซินหัวรายงานอ้างงานวิจัยซึ่งเผยแพร่ผ่านวารสารอาคิออลเมทรี (Archaeometry) ร่วมจัดทำโดยคณะผู้เชี่ยวชาญจากพิพิธภัณฑ์สุสานจักรพรรดิฉินสื่อหวง (จิ๋นซีฮ่องเต้) และมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ว่าสุสานกองทัพทหารดินเผาหรือสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ มีแนวโน้มถูกก่อสร้างขึ้นทีละชิ้นโดยกลุ่มศิลปินมากกว่าจะเป็นรูปแบบการก่อสร้างที่ประกอบขึ้นพร้อมกันขนาดใหญ่

คณะนักวิทยาศาสตร์ใช้วิธีวิเคราะห์ด้วยวิธีเอกซ์เรย์ ฟลูออเรสเซนต์ สเปกโตรสโคปี (X-ray fluorescence spectroscopy) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ก่อความเสียหายต่อโบราณวัตถุ เพื่อวัดปริมาณองค์ประกอบทางธรณีเคมีของดินเหนียวของรูปปั้นที่ได้รับการซ่อมแซม 28 ตัว และวิเคราะห์ส่วนประกอบแต่ละส่วนของรูปปั้น รวมถึงแขนและผ้าคลุม ส่วนหัวและขาของม้า

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบเครื่องหมายบนรูปปั้น 18 ตัว โดยเครื่องหมายที่ถูกพบมากที่สุด 2 แบบ ได้แก่ “กง” (Gong) บ่งบอกถึงสถานที่พักอาศัยของจักรพรรดิโบราณหรือผู้เป็นอมตะ และ “เสียนหยาง” (Xianyang) หมายถึงเมืองหลวงของยุคราชวงศ์ฉิน

นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังพบความแตกต่างทางองค์ประกอบของรูปปั้นที่มีเครื่องหมายกงและเสียนหยาง ซึ่งคาดว่าเป็นสัญลักษณ์แทนของผลิตภัณฑ์ที่ถูกทำขึ้นจากโรงผลิต 2 แห่ง ที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาวัตถุเซรามิกสำหรับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในยุคราชวงศ์ฉิน (221-207 ก่อนปีคริสตกาล)

ปัจจุบันมีรูปปั้นมนุษย์และม้ามากกว่า 8,000 ตัว ถูกขุดพบในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ โดยรูปปั้นหลายร้อยตัวที่มีเครื่องหมายกงและรูปปั้นอีกหลายสิบตัวที่มีเครื่องหมายเสียนหยาง ถูกทำความสะอาดและบูรณะซ่อมแซมแล้ว

หลี่ซิ่วเจิน นักวิจัยของพิพิธภัณฑ์ฯ กล่าวว่ารูปปั้นที่มีเครื่องหมายกงดูมีความยิ่งใหญ่และถูกทำขึ้นอย่างประณีตมากกว่า และการที่รูปปั้นแต่ละตัวมีสารพัดข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยี ศิลปะ และการจัดระเบียบสังคมอันย้อนกลับไปมากกว่า 2,000 ปีก่อน ทำให้กองทัพทหารดินเผานี้น่าหลงใหลและน่าค้นหามาก

เนื้อหาข่าวและภาพด้วยความร่วมมือกับสำนักข่าวซินหัว