posttoday

การปะทุของภูเขาไฟตองกาส่งเสียงระเบิดดังไกลเป็นสถิติโลก 

21 มกราคม 2565

เสียงระเบิดของภูเขาไฟในตองกาทำสถิติโลกดังไกลจากจุดกำเนิด

สำนักข่าว RNZ รายงานว่า สถาบัน GNS Science ของนิวซีแลนด์เผยว่า การประเมินเบื้องต้นของนักภูเขาไฟวิทยาบ่งชี้ว่าเถ้าถ่าน ก๊าซ และควันที่พวยพุ่งออกมาจากการปะทุของภูเขาไฟฮุงกา ตองกา-ฮุงกา-ฮุงกา ฮาอาไพ (Hunga Tonga-Hunga Ha'apai) อาจมีมากถึง 1 ล้านลูกบาศก์กิโลเมตร หรือมากกว่าเมื่อครั้งที่ภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์ของสหรัฐปะทุเมื่อปี 1980 ถึง 2 เท่า

สตีฟ เชอร์เบิร์น นักภูเขาไฟวิทยาของ GNS Science เผยว่า ครั้งนี้เป็นการปะทุครั้งใหญ่ที่สุดในการปะทุระลอกปัจจุบันของภูเขาไฟฮุงกา ตองกา-ฮุงกา-ฮุงกา ฮาอาไพซึ่งย้อนหลังไปถึงปี 2009 และมีความรุนแรงมากกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้โดยเปรียบเทียบจากการปะทุของภูเขาไฟนี้ในช่วงไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมาที่รุนแรงน้อยกว่า

เชอร์เบิร์นเผยว่า คลื่นกระแทกในชั้นบรรยากาศเดินทางไปทั่วโลกและเซ็นเซอร์ตรวจวัดความดันอากาศสามารถตรวจจับคลื่นดังกล่าวได้ไกลถึงไอซ์แลนด์ ซึ่งอยู่ห่างออกไปเกือบ 15,000 กิโลเมตร โดยการปะทุครั้งนี้ก่อให้เกิดเสียงดังสนั่นหวั่นไหวได้ยินไกลจากภูเขาไฟเป็นสถิติโลก

เสียงระเบิดสามารถได้ยินไปไกลถึงนิวซีแลนด์ซึ่งอยู่ทางใต้ของภูเขาไฟ และอะแลสกาซึ่งอยู่ทางเหนือ

“นี่เป็นเพราะเสียงเบสความถี่ต่ำที่เกิดขึ้นระหว่างการปะทุซึ่งสามารถเดินทางจากแหล่งกำเนิดได้หลายพันกิโลเมตร” เชอร์เบิร์นกล่าว

ผู้เชี่ยวชาญรายนี้บอกอีกว่า การปะทุแบบนี้เกิดขึ้นยาก เนื่องจากมันก่อให้เกิดคลื่นสึนามิที่ส่งผลกระทบไปหลายพันกิโลเมตรจากตัวภูเขาไฟ โดยสึนามิที่เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟแบบนี้เกิดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อภูเขาไฟกรากระตัวของอินโดนีเซียปะทุเมื่อปี 1883

เชอร์เบิร์นกล่าวอีกว่า การปะทุใต้น้ำและสึนามิเกิดขึ้นได้ยากแต่ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย และที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ได้เน้นย้ำถึงความเป็นไปได้ว่าการปะทุของภูเขาไฟใต้น้ำจะก่อให้เกิดสึนามิ

นักวิทยาศาสตร์คาดว่าภูเขาไฟฮุงกา ตองกา-ฮุงกา-ฮุงกา ฮาอาไพจะยังไม่สงบไปอีกหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน

NOAA/SSEC/CIMSS via REUTERS