posttoday

ตุรกีสิ้นท่า น้ำมือศัตรูหรือท่านผู้นำทำเละซะเอง?

19 มกราคม 2565

รัฐบาลตุรกีพยายามที่จะอ้างว่าการถดถอยของคร่าเงิน "ลีรา" เป็นผลมาจากการโจมตีของบางชาติ แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือ?

เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน เป็น "ผู้นำ" ของตุรกีมานานเกือบ 2 ทศวรรษแล้ว ที่ย้ำคำว่า "ผู้นำ" ก็เพราะระวห่างปี 2003 - 2014 เขาเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาก่อน ในยุคนั้นนายกรัฐมนตรีคือตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายบริหาร โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขประเทศแต่เพียงหัวโขน

หลังจากอยู่ในตำแหน่งลากยาวมาถึงปี 2014 ก็ต้องลงจากเก้าอี้ แต่เขาไม่คิดจะสละมันไปง่ายๆ หลังจากลงจากเก้าอี้นายกฯ ก็หันไปกุมเก้าอี้ประธานาธิบดีต่อไป ด้วยเหตุที่ตำแหน่งประธานาธิบดีไม่มีอำนาจตัดสินใจ จึงมีการผลักดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยยุบตำแหน่งนายกไปเสีย พร้อมยกเลิกระบบรัฐสภา แล้วหันมาใช้ระบอบประธานาธิบดีที่มีอำนาจบริหารสูงสุด ด้วยสูตรนี้ แอร์โดอันจึงสามารถเป็น "ผู้นำ" แบบลากยาวดังที่ว่าไว้

ด้วยความที่กุมอำนาจยาวนานและพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมของเขามีอิทธิพลขึ้นเรื่อยๆ แอร์โดอันจึงมีแนวโน้มเป็นผู้นำอำนาจนิยมมากขึ้น (โดยที่ตำแหน่งประธานาธิบดีมีอำนาจเกือบจะเบ็ดเสร็จในมืออยู่แล้ว) บารมีของแอร์โดอันยิ่งแก่กล้า เมื่อเขาเอาตัวรอดได้จากความพยายามก่อรัฐประหารปี 2016 ที่ตามมาด้วยการกวาดล้างฝ่ายเกี่ยวข้องและฝ่ายตรงข้ามเขาที่ถูกเหมารวมไปด้วย

จากเหตุการณ์นั้น แอร์โดอันกล่าวว่าสหรัฐเป็นสปอนเซอร์ให้กับฝ่ายขบถ จึงสะบั้นความสัมพันธ์กับสหรัฐที่เคยเป็นพันธมิตรกัน แถมยังกระทบไปถึงความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกที่เป็นมหามิตรของสหรัฐด้วย

ทั้งหมดทั้งมวลนี้เกี่ยวอะไรกับค่าเงินลีรา? ตอบว่าเกี่ยวข้องทุกประการ

มาดูที่ปัญหาเบื้องหลังกันก่อน ค่าเงินของตุรกีร่วงลงตั้งแต่ต้นปี 2018 อันเนื่องมาจากความตึงเครียดกับตะวันตก การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (ตุรกีมีปัญหาขาดุลบัญชีเดินสะพัดที่หนักที่สุดแห่งหนึ่ง) เงินสำรองที่ลดลง (ตุรกีมีปัญหาเรื่องการออม และใช้เงินมือเติบ) และหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น (ตุรกีกู้หนี้ยืมสินในอัตราสูงมาสร้างโครงการต่างๆ แต่ให้ผลตอบแทนต่ำ)

แต่ที่สำคัญที่สุดคือการปฏิเสธที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ

ปัญหาเงินเฟ้อของตุรกีนั้นรุนแรง แต่ช่วงแรกมันไม่ถึงกบัแรงมาก เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่ราคาข้าวของมีขึ้นมีลงตามเหตุปัจจัย หากเงินเฟ้อจะลากยาวสักหน่อยก็ต้องมีปัจจัยที่ "สมเหตุสมผล" อยู่เบื้องหลัง เช่น ธนาคารกลางใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ (ลดดอกเบี้ย) นานไปหน่อย จนมีปริมาณเงินในระบบมีมาก หรือการขึ้นค่าแรงโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ

แต่กรณีของตุรกีนั้นเงินเฟ้อกลายเป็นวิกฤตเพราะการตัดสินใจที่ไม่ปกติเอามากๆ

หากเป็นประเทศอื่นที่เจอเข้ากับเงินเฟ้อซึ่งไม่ต้องถึงขั้นลากยาว (Chronic inflation) ก็ได้ วิธีการก็คือธนาคารกลางประเทศนั้นๆ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังจากเห็นว่าเศรษฐกิจของประเทสซบเซาลงเพราะโควิด-19 ก็ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงเงินได้ง่าย แล้วนำไปใช้จ่ายกัน แต่เฟดก็จะจับตาอย่างถี่ถ้วนด้วยว่าเมื่อไรที่เงินในระบบมีมาก จนระดับราคาสูง (เฟ้อ) เมื่อนั้นอัตราเงินเฟ้อเกิดขึ้นแล้ว ก็จะขึ้นดอกเบี้ย ดังที่ทำไปหลังจากพ้นระยะการระบาดของเดลตา

ดังนั้น ธนาคารกลางของประเทศจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าเมื่อไรที่จะขึ้นหรือลดดอกเบี้ย หน้าที่นี้เป็นหน้าที่อิสระรัฐบาลไม่อาจแทรกแซงได้ เพราะต้องเหมาเอาไว้ก่อนว่ารัฐบาลมักมีวาระซ่อนเร้นในการชี้นำดอกเบี้ย (ใครจะรู้ว่าในรัฐบาลใจะมีนักการเมืองกี่คนได้ประโยชน์จากการชี้นำดอกเบี้ยเสียเอง?)

ประธานาธิบดีสหรัฐที่ว่ามีอำนาจที่สุดในโลกนั้นแม้จะเป็นคนเสนอชื่อผู้ว่าการเฟดแต่ก็ยังบังคับผู้ว่าเฟดให้ขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ แม้แต่รัฐสภาที่มีมติรับรองผู้ว่าเฟดและเรียกผู้ว่าเฟดไปให้การได้ ก็บีบให้ขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ ถ้าผู้ว่าเฟดอธิบายชัดแล้วว่ามันควรหรือไม่ควร

แต่ที่ตุรกีมันกลับไม่ใช่แบบนั้น

ตุรกีสิ้นท่า น้ำมือศัตรูหรือท่านผู้นำทำเละซะเอง?

ความที่แอร์โดอันใช้อำนาจตามอำเภอใจมากขึ้น เขาถึงกับแทรกแซงการตัดสินใจของธนาคารกลางในการขึ้นดอกเบี้ย และเมื่อผู้กหนดนโยบายแบงก์ชาติคนไหนไม่ได้ดังใจก็สั่งปลด โดยปลดแบบถี่ยิบเสียด้วย (ขนาดให้แก้รัฐธรรมนูญต่ออำนาจยังทำมาแล้ว แค่นี้จะทำไม่ได้หรือ!)

เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2017 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 11.9% ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2008 พอย่างเข้าปี 2018 เงินลีราก็เริ่มอ่อนค่าโดยเหลือ 4 ต่อเหรียญสหรัฐในปลายเดือนมีนาคม และทรุดลงเรื่อยๆ จนเหลือ 7 ต่อเหรียญสหรัฐในเดือนสิงหาคม

ณ วันที่ 19 มกราคม 2022 ปาเข้าไป 13.60 ต่อดอลลาร์แล้ว

ตอนนั้นธนาคารกลางของตุรกีพยายามขึ้นดอกเบี้ยแต่แอร์โดอันห้ามไว้ ในเดือนพฤษภาคม 2018 แอร์โดอันบอกว่าดอกเบี้ย "คือโคตรพ่อโคตรแม่ของความชั่วร้ายทั้งปวง" (mother and father of all evil) พร้อมบอกให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยซะ (ซึ่งถ้าชิงชังดอกเบี้ยขนาดนี้เขาก็ควรประกาศเลิกการใช้ดอกเบี้ยไปเลิยไม่ใช่หรือ?) ผลก็คือเงินลีรายิ่งดิ่งลงเข้าไปใหญ่

ขณะที่นำความเชื่อส่วนตัวมาชี้นำนโยบายอัตราดอกเบี้ย เขายังทำลายความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ โดย 14 พฤษภาคม สัมภาษณ์กับ Bloomberg และกล่าวว่า "ธนาคารกลางไม่สามารถยึดเอาความเป็นอิสระ และเมินเฉยสัญญาณที่ได้รับจากประธานาธิบดี" - นี่เป็นคำพูดที่สวนทางกับวิธีปฏิบัติของทั้งโลก

ในช่วงสองปีที่ผ่านมาจนถึงปลายปี 2021 แอร์โดอันไล่ผู้ว่าการธนาคารกลางออกไม่ต่ำกว่า 3 คน ในช่วงเวลา 2 เดือนจนถึงตุลาคม 2021 แอร์โดอันไล่ผู้บริหารแบงก์ชาติตุรกีไปถึง 4 คน บางคนถูกปลดเพราะมีแนวคิดขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งท่านผู้นำไม่โปรด

ใครที่กล้าจะตั้งคำถามเกี่ยวกับนโยบายอัตราดอกเบี้ยของเขาจะไม่มีที่ยืนในแบงก์ชาติอีกต่อไป ดังนั้นแบงก์ชาติจึงสนองนโยบายของแอร์โดอันไปเรื่อยๆ ผลก็คือค่าเงินของประเทศสาละวันเตี้ยลงไปเรื่อยๆ ขณะที่เงินเฟ้อพุ่งพรวดเหมือนบั้งไฟ

เอาเข้าจริง สาเหตุที่แอร์โดอันแทรกแซงแบงก์ชาติ อาจเป็นเพราะต้องการบงการทิศทางประเทศด้วยตัวเองในทุกด้าน และเป็นเพราะแอร์โดอัน "ชิงชังดอกเบี้ย" ดังที่เขาโพล่งขึ้นมาว่าคือโคตรเหง้าของความชั่วร้ายทั้งปวง ซึ่งความคิดนี้่โยงกับความเชื่อทางศาสนาของแอร์โดอันด้วย

เรื่องนี้อาจฟังดูแปลก แต่ต้องเข้าใจว่าตามหลักศาสนาอิสลามนั้นไม่อนุญาตให้เก็บดอกเบี้ยหรือกระทำการใดๆ เรื่องดอกเบี้ย 

แม้ตุรกีจะมีผู้นับถืออิสลามเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ก็เป็นรัฐโลกวิสัย (Secular state) คือรัฐที่แยกศาสนาออกจาการเมืองเด็ดขาด โดยแยกแบบไม่มีเยื่อใยมาตั้งแต่ยุคของมุสตาฟา เคมัลเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์ผู้นำจักรวรรดิออตโตมัน (และมีสถานะประหนึ่งผู้โลกอิสลามในเวลานั้น) มาเป็นประเทศตุรกีที่ "ศิวิไลซ์" แบบตะวันตก

ตุรกีสิ้นท่า น้ำมือศัตรูหรือท่านผู้นำทำเละซะเอง?

แต่เมื่อถึงยุคแอร์โดอันเขาพยายามทำให้ตุรกีหมดความเป็นรัฐโลกวิสัย และผลักดันให้ศาสนาอิสลามมีบทบาทในวิถีชีวิตและการเมืองของประเทศอีกครั้ง เมื่อรวมกับแนวคิดการขยายดินแดนและสร้างตุรกีให้ยิ่งใหญ่อีกครั้ง ทำให้แอร์โดอันถูกมองว่าเป็นหัวโจกของแนวคิด "รื้อฟื้นออโตมันใหม่" (Neo-Ottomanism) และทำให้ตุรกีมีศาสนาชี้นำคุณค่าสังคม

ตัวอย่างนอกเรื่องเศรษฐกิจ เช่น การที่รัฐบาลตุรกีสั่งคืนสภาพ "อะเยีย โซเฟีย" (เดิมเป็นวิหารของชาวคริสต์) ให้กลับมาเป็นมัสยิดอีกครั้ง หลังจากเคยถูกแปรเป็นพิพิธภัณฑ์หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 1935 การเปลี่ยนกลับไปเป็นมัสยิดทำให้ชาติตะวันตกไม่พอใจ กล่าวว่าตุรกีกำลัง "ถอยหลังเข้าคลอง"

เรื่องนี้อาจจะเกี่ยวกับการปะทะขัดแย้งของตะวันตกและอิสลาม ระหว่างรัฐทางโลกและรัฐศาสนาเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่มันสะท้อนให้เห็นได้ชัดว่าแอร์โดอันมีแนวคิดแบบไหน

แนวคิดแบบนี้อาจจะดูไกลจากเรื่องเศรษฐกิจ แต่แอร์โดอันก็ลากมันเข้ามาเกี่ยวจนได้ ผลก็คือหายนะอย่างที่เห็น

จากงานวิจัยของ Alesina and Summers (1993) เปรียบเทียบความเป็นอิสระของแบงก์ชาติกับอัตราเงินเฟ้อของประเทศนั้น พบว่า ยิ่งแบงก์ชาติประเทศไหนมีอิสระจากรัฐบาลมากอัตราเงินเฟ้อจะยิ่งน้อย (คือมีอิสระในการขึ้นหรือลดดอกเบี้ยเพื่อแก้เงินเฟ้อ) ขณะที่ประเทศไหนแบงก์ชาติถูกแทรกแซงมาก เงินเฟ้อก็จะสูงมากขึ้นไปด้วย (ถูกรัฐบาลบงการดอกเบี้ยเพื่อสนองผลประโยชน์ทางการเมือง)

งานวิจัยนี้ถูกอ้างอิงบ่อยครั้ง และมันยิ่งชัดเจนในกรณีของตุรกี ยิ่งแอร์โดอันชิงชังดอกเบี้ยและต้องการคุมแบงก์ชาติมากเท่าไร เงินเฟ้อก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

เงินเฟ้อแก้ไม่ตก ยังตามด้วยค่าเงินตกเข้าไปอีก เพราะความเชื่อมั่นของนักลงทุนเสื่อมถอยลง ไม่แน่ใจว่าประเทศนี้ยังขับเคลื่อนเป็นปกติหรือไม่ เพราะไม่รู้ว่าจู่ๆ ท่านผู้นำจะยื่นมือมาแทรกแซงเมื่อไร ด้วยเงินเฟ้อที่พุ่งปรี๊ดกับค่าเงินที่ดิ่งลง ทำให้การดำเนินการทางธุรกิจในตุรกีไม่คุ้มทุน บริษัทต่างชาติก็ถอนตัวไป เงินเข้าประเทศก็ลดลง ตุรกีที่ชอบสร้างหนี้อยู่แล้ว ยิ่งช้ำหนักแทบสำลักออกมาเป็นเลือด

ทั้งหมดทั้งมวลนี้มาจาก "ลัทธิแอร์โดอัน" (Erdoganism) ที่อิงกับแนวคิดอนุรักษ์นิยม อิงศาสนา และอิงอำนาจนิยมในตัวผู้นำ

ตุรกีสิ้นท่า น้ำมือศัตรูหรือท่านผู้นำทำเละซะเอง?

แต่แอร์โดอันกลับปัดความผิดทั้งหมดว่ามาจากแทรกแซงของชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐ

เช่นเดือนมิถุนายน 2018 (ในเวลานั้นจีดีพีของตุรกีปรับเพิ่มขึ้น) แอร์โดอันอ้างว่านี่คือชัยชนะต่อ “ผู้สมรู้ร่วมคิด” ซึ่งเขาโทษว่าเป็นเหตุให้เงินลีราตุรกีร่วงอย่างหนัก ผู้สมรู้ร่วมคิดนี้บางคนคิดว่าเขาหมายถึงสหรัฐ

คนในรัฐบาลของเขาเองก็ประสานเสียง เช่น เมื่อเดือนพฤษภาคม 2018 รัฐมนตรีต่างประเทศ เมลวึต จาวูโชกลู กล่าวว่าการดิ่งลงของเงินลีราน่าจะเกิดจากความพยายามโดยกลุ่มผู้บงการในต่างประเทศ เช่นเดียวกับเบรัต อัลบายรัก รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของตุรกีลูกเขยของแอร์โดอัน บอกกับสื่อในเวลาไล่ๆ กันว่าค่าลีราที่ลดลงอย่างรวดเร็วเป็นผลมาจากการใช้เล่ห์กลของศัตรูของตุรกี

หากไม่นับเรื่องทฤษฎีสมคบคิดข้างต้น แอร์โดอันก็ยังมีท่าทีต่อต้านทฤษฎีเศรษฐกิจกระแสหลัก (ก็คือกระแสตะวันตก) ในเดือนพฤศจิกายนปีกลาย หลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีเขาประกาศว่านโยบายอัตราดอกเบี้ยที่เข้มงวดจะไม่ลดอัตราเงินเฟ้อและให้คำมั่นว่าประเทศจะประสบความสำเร็จใน "สงครามเพื่ออิสรภาพทางเศรษฐกิจ"

ว่าด้วยเรื่อง "ขึ้นดอกเบี้ยไม่ช่วยลดเงินเฟ้อ" มันมีทฤษฎีแบบนี้อยู่จริงๆ (คือ Neo-Fisherism) แต่ถามว่ามันใช้ตลอดรอดทุกสถานการณ์หรือไม่ก็ต้องตอบว่าไม่และไม่เป็นที่ยอมรับกันด้วย ส่วนที่ว่า "สงครามเพื่ออิสรภาพทางเศรษฐกิจ" ก็สะท้อนความเชื่อของแอร์โดอันว่ามีพวกตะวันตกปั่นสถานการณ์ในประเทศเขาอยู่

แอร์โดอันนั้นระแวงสหรัฐและชาติตะวันตก แต่หายนะทางเศรษฐกิจที่เขาก่อขึ้นทำให้ประชาชนไม่มีที่พึ่งอื่นนอกจากเงินดอลลาร์ที่แข็งปั๋ง

ทฤษฎีสมคบคิดของแอร์โดอันที่โยนความผิดให้สหรัฐจึงล้มเหลวไม่เป็นท่า ก็เพราะไปยุ่งกับเรื่องไม่ควรยุ่งแท้ๆ

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Alberto PIZZOLI / AFP