posttoday

“นภินทร” รมช.พาณิชย์ ขอรับผิดชอบงาน SME ต่อเนื่อง

29 เมษายน 2567

“นภินทร” หารือ “ภูมิธรรม” แบ่งงาน หลัง “สุชาติ ชมกลิ่น” มาเป็น รมช.พาณิชย์ เผยตนเองขอดูงานด้าน SME เนื่องจากเป็นงานที่ถนัด

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) และกระทรวงพาณิชย์ได้รัฐมนตรีช่วยกระทรวงพาณิชย์เพิ่มอีก 1คน ว่า เบื้องต้นได้มีการคุยกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  และ รมช. ถึงการแบ่งงาน ซึ่งตนบอกไปว่าอยากดูในงานที่ถนัดคือการผลักดันเอสเอ็มอี ที่ได้ทำมาตลอดตั้งแต่มาที่กระทรวงพาณิชย์ และเชื่อว่าไม่ว่าใครมาก็ทำงานร่วมกันได้อย่างดี

ทั้งนี้ ในส่วนของการช่วยเหลือและผลักดันเอสเอ็มอี จะมีการเปิดตัวโครงการใหญ่ในเดือนมิ.ย.นี้ เป็นการจัดจับคู่เจ้าของธุรกิจ เจ้าของทำเล และผู้ที่ต้องการลงทุนหรือเปลี่ยนอาชีพ โดยขณะนี้ ได้เตรียมกว่า 2 หมื่นทำเลเพื่อให้ผู้สนใจลงทุนทำธุรกิจรวมทั้งการจัดพื้นที่กระทรวงพาณิชย์เพื่อให้เจ้าของแฟรนไชส์หรือผู้ต้องการขยายแฟรนไชส์ มาเจรจากัน และยังประสานกระทรวงแรงงาน ของบสนับสนุนจากกองทุนประกันสังคม 2-3 พันล้านบาท เพื่อให้ธนาคารบริหารจัดการในการปล่อยกู้ ในอัตราต่ำไม่เกิน 7% ต่อปี

ส่วนผลกระทบที่เอสเอ็มอีต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือนั้น กำลังเสนอนายกภูมิธรรม พิจารณาและดำเนินการต่อไป ซึ่งยังไม่อาจลงในรายละเอียดได้เพราะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เรื่องหนึ่งคือแก้ไขผลกระทบจากอีคอมเมิร์ซ

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยกรณีปรับครม. ว่า ในส่วนนโยบายภาครัฐ คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกระทรวงที่มีการปรับรัฐมนตรี สำหรับภาคเอกชนและสรท. อยากให้เน้นช่วยเหลือและส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะเอสเอ็มอีส่งออกที่เจอปัญหากำลังซื้อในประเทศไม่ดีและต้องเผชิญกับหลายปัจจัยด้านต้นทุนสูง สภาพคล่อง แม้สมาคมธนาคารไทยประกาศลดดอกเบี้ยให้ 0.25% แต่การเข้าถึงแหล่งทุนยังต่ำ และดอกเบี้ยแท้จริง ยังสูง 

ขณะนี้รายย่อยน่าเห็นใจมาก และมีปัญหาสะสมหนักมาตลอด ขายสินค้าไม่ดี ขาดสภาพคล่อง ความกังวลที่ต้องการให้ครม.ใหม่ สานต่อคือแก้โครงสร้างด้านพลังงาน เร่งงบประมาณภาครัฐ เสริมสภาพคล่องเอสเอ็มอี และหาตลาดใหม่ๆ ซึ่งภาคเอกชนเราก็ทำกันอยู่แล้ว ส่วนตัวบุคคลใครนั่งกระทรวงด้านเศรษฐกิจ เชื่อว่าคงอยู่ภายใต้นโยบายรัฐบาทเดียวกัน เชื่อว่าภาคเอกชน ไม่ได้กังวลเรื่องเสถียรภาพการเมือง และความเชื่อมั่นในสายตาต่างชาติ โดยไทยยังเดินหน้าได้ดี ทั้งท่องเที่ยว ส่งออกก็ยังไปได้ ที่อยากให้แก้ก็เป็นเรื่องเดิม ทั้งด้านพลังงาน และเข้าถึงแหล่งทุนของรายย่อย ที่เสนอมาตลอด