posttoday

ไขข้อข้องใจ ทำไมยังต้องระวัง Omicron ทั้งที่รุนแรงน้อยลง

14 มกราคม 2565

'โอมิครอน' อาจรุนแรงไม่เท่าสายพันธุ์อื่น แต่มีหลายสาเหตุที่เราต้องระวังไม่ให้ติดเชื้อ

วันนี้ (14 ม.ค.) สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่าแม้จะพบหลักฐานที่บ่งชี้ว่าโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้า แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ามีสาเหตุหลายประการที่เราต้องระมัดระวังและป้องกันไม่ให้ติดเชื้อโอมิครอน

อาการป่วยหนักยังเกิดขึ้นได้

การวิจัยหลายฉบับระบุว่าโอมิครอนมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดอาการป่วยที่ไม่รุนแรงหรือไม่แสดงอาการ โดยส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจส่วนบน มากกว่าที่เชื้อจะลงปอด ซึ่งทำให้อัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้อย่างเดลตา

แต่ศักยภาพในการแพร่กระจายที่ไม่ธรรมดาของโอมิครอน ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในหลายประเทศ หมายความว่าอาจมีผู้ที่เกิดอาการป่วยหนักมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลล่าสุดจากอิตาลีและเยอรมนีแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเข้าโรงพยาบาล ป่วยหนัก และเสียชีวิต

เสี่ยงแพร่เชื้อให้คนอื่น

อากิโกะ อิวาซากิ ซึ่งศึกษาด้านภูมิคุ้มกันไวรัสจากมหาวิทยาลัยเยลกล่าวว่าผู้ติดเชื้ออาจเกิดอาการป่วยเพียงเล็กน้อย แต่ยังสามารถแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นได้ แม้ว่าจะมีแอนติบอดีจากการติดเชื้อครั้งก่อนหรือการฉีดวัคซีน รวมถึงอาจแพร่เชื้อไปยังคนที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการป่วยรุนแรง

ผลกระทบระยะยาวยังไม่มีใครรู้

การติดโควิด-19 สายพันธุ์ก่อนหน้านี้ แม้ว่าจะมีอาการเพียงเล็กน้อยหรือฉีดวัคซีนแล้ว พบว่าผู้ป่วยบางเคสเกิดภาวะที่เรียกว่า "ลองโควิด" คือร่างกายยังคงไม่กลับคืนสู่ภาวะปกติแม้จะหายจากโควิด-19 และขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าผู้ติดเชื้อโอมิครอนมีโอกาสเกิดภาวะดังกล่าวมากน้อยเพียงใด

อิวาซากิ กล่าวว่าแม้โอมิครอนจะถูกประเมินว่าไม่รุนแรง แต่มันอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ร่างกายอ่อนแอไปอีกเป็นเดือนหรือเป็นปีก็ได้

นอกจากนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าโอมิครอนจะมีภัยเงียบอื่นๆ หรือไม่ อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ อาทิ ภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง ความบกพร่องของอสุจิ และการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่ผลิตอินซูลิน

ยารักษาไม่เพียงพอ

ยาที่จะใช้รักษาโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนยังมีจำกัด ขณะที่ยาแอนติบอดี 2 ใน 3 ตัวที่เคยใช้รักษาโควิด-19 ในระลอกที่ผ่านมาใช้ไม่ได้ผลกับสายพันธุ์โอมิครอน ส่งผลให้ยาที่ยังคงใช้ได้ผลคือโซโทรวิแมบ ( Sotrovimab) จาก GlaxoSmithKline ขาดตลาด เช่นเดียวกับยารักษาโควิด-19 ตัวใหม่อย่างแพกซ์โลวิด (Paxlovid) จาก Pfizer ที่พบว่ามีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อโอมิครอน

ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล

เดวิด โฮ ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว และผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งไม่มีโรคประจำตัว เชื้อโอมิครอนไม่สามารถทำอันตรายได้มากนัก ถึงกระนั้นการที่มีผู้ติดเชื้อน้อยย่อมดีกว่า เนื่องจากโรงพยาบาลหลายแห่งรองรับผู้ป่วยเต็มขีดจำกัด เมื่อมีผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็นจำนวนมาก

ขณะที่ผู้ติดเชื้อพุ่งจนทำลายสถิติ โรงพยาบาลหลายแห่งต้องเลื่อนการผ่าตัดหรือการรักษาอื่นๆ ที่ไม่ฉุกเฉินออกไป และในการแพร่ระบาดครั้งก่อนๆ โรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถรักษาผู้ป่วยเคสฉุกเฉินได้อย่างเหมาะสม

ติดเชื้อมาก = กลายพันธุ์มาก

อัตราการติดเชื้อที่มากขึ้นทำให้โอกาสที่ไวรัสจะกลายพันธุ์ยิ่งสูงขึ้น และไม่มีการรับประกันว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่จะมีความอันตรายมากหรือน้อยกว่าสายพันธุ์เดิม

"SARS-CoV-2 ทำให้เราประหลาดใจในหลายๆ ด้านในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และเราไม่มีทางคาดเดาวิถีการวิวัฒนาการของไวรัสนี้ได้" โฮกล่าว

โดยโอมิครอนเป็นโควิด-19 สายพันธุ์หลักลำดับที่ 5 และยังคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าไวรัสจะกลายพันธุ์ต่อไปหรือไม่ อย่างไร

ติดเชื้อตอนนี้ไม่ได้แปลว่าจะไม่ติดเชื้ออีก

แอนติบอดีที่ได้จากการติดเชื้อโอมิครอนจะป้องกันสายพันธุ์ใหม่ในอนาคตได้ดีเพียงใดเป็นเรื่องที่ยังไม่มีใครทราบ โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) เปิดเผยข้อมูลก่อนหน้านี้พบว่าผู้ที่หายจากโควิด-19 ระยะแรกมีแอนติบอดีที่สามารถต้านไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมได้ แต่มีประสิทธิภาพน้อยลงเมื่อเจอสายพันธุ์ใหม่ๆ

นอกจากนี้ยังกล่าวว่าผู้ที่มีอาการป่วยเพียงเล็กน้อยมีโอกาสน้อยกว่าที่แอนติบอดีจะสามารถต้านไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เมื่อเทียบกับผู้ที่ป่วยหนัก

ศาสตราจารย์ปีเตอร์ โฮเตซ นักวิจัยวัคซีนจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์เบย์เลอร์ มองว่าโอมิครอนซึ่งติดเชื้อไม่รุนแรงบริเวณทางเดินหายในส่วนบน ไม่น่าจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันที่ยั่งยืน

Photo by ALEJANDRO PAGNI / AFP