posttoday

สังคมที่แสนเหลื่อมล้ำ The Bronx หลุมดำคนจนในนิวยอร์ก

10 มกราคม 2565

นี่คือเขตที่ความเหลื่อมล้ำสูงมากในสหรัฐ The Bronx เขตที่ยากจนที่สุดอันดับต้นๆ ของสหรัฐอเมริกา

วันนี้ (10 ม.ค.) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเหตุเพลิงไหม้ที่อพาร์ตเมนต์สูง 19 ชั้นแห่งหนึ่งในย่านบร็องซ์ (The Bronx) นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 19 ศพ ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 9 ราย และยังมีผู้บาดเจ็บสาหัสอีกจำนวนมาก ซึ่งนับว่าเป็นเหตุเพลิงไหม้ที่อยู่อาศัยที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของสหรัฐ

รู้จักเดอะบร็องซ์

บร็องซ์เป็นเขตที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดอันดับต้นๆ ของสหรัฐอเมริกา โดยมีประชากรเกือบ 1.5 ล้านคน และเป็นเขตที่ยากจนที่สุดลำดับที่ 15 ของประเทศ

ย่านนี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยการขยายรถไฟใต้ดินในนิวยอร์กมีส่วนทำให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีผู้อพยพหลายพันคนมาที่บร็องซ์

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 บร็องซ์ได้รับกลุ่มผู้อพยพและผู้อพยพจำนวนมาก จากประเทศต่างๆในยุโรปโดยเฉพาะไอร์แลนด์ เยอรมนี อิตาลี และยุโรปตะวันออก รวมถึงจากภูมิภาคแคริบเบียน โดยเฉพาะเปอร์โตริโก เฮติ จาเมกา และสาธารณรัฐโดมินิกัน ตลอดจนผู้อพยพชาวแอฟริกันอเมริกันจากทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา

การผสมผสานทางวัฒนธรรมนี้ทำให้บร็องซ์เป็นแหล่งรวมของดนตรีละติน ฮิปฮอป และแร็พ

ย่านคนผิวดำที่ยากจน

สังคมที่แสนเหลื่อมล้ำ The Bronx หลุมดำคนจนในนิวยอร์ก

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่และวิกฤตหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เศรษฐกิจของบร็องซ์เสื่อมถอยในที่สุดและเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก จนกระทั่งในช่วงปี 1950 ถึง 1985 บร็องซ์เปลี่ยนจากเขตที่มีรายได้ปานกลางเป็นรายได้ต่ำ โดยมีปัญหาความยากจนและอาชญากรรมรุนแรงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่

ระหว่างปี 1930 ถึง 1960 กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางและสูงเริ่มย้ายถิ่นฐานออกไปจากย่านทางตะวันตกเฉียงใต้ของบร็องซ์ ทิ้งประชากรชาวแอฟริกันอเมริกันและฮิสแปนิกที่ยากจนส่วนใหญ่ไว้ในย่านทางตะวันตกของบร็องซ์

ต้นคริสต์ทศวรรษ 1960 ถึง 1980 คุณภาพชีวิตของชาวบร็องซ์เริ่มเปลี่ยนไปกลายเป็นย่านที่ยากจนและเกิดชุมชนแอดอัดหรือสลัมจำนวนมาก นำมาซึ่งปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติดตามมาในภายหลัง

ในช่วงปี 1970 บางส่วนของบร็องซ์ถูกคลื่นแห่งการลอบวางเพลิง การเผาอาคารส่วนใหญ่เกิดขึ้นในชุมชนที่ยากจนที่สุด อย่างเช่นทางตอนใต้ของบร็องซ์ ซึ่งหนึ่งในคำอธิบายของเหตุการณ์นี้คือเจ้าของบ้านตัดสินใจเผาอาคารที่มีมูลค่าทรัพย์สินต่ำเพื่อเอาเงินประกัน เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่ายกว่าการปรับปรุงอาคารที่ทรุดโทรม หรือการขายอาคารในพื้นที่กันดาร

บรองซ์ถูกระบุว่ามีอัตราความยากจนและการว่างงานสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นทางตอนใต้ของย่านนี้ มีหลายกรณีที่ผู้เช่าจุดไฟเผาอาคารที่พวกเขาอาศัยอยู่ เพื่อหวังได้รับการย้ายถิ่นฐานฉุกเฉินโดยหน่วยงานบริการสังคมของเมืองไปยังที่พักอาศัยที่ดีขึ้น หรือบางครั้งพวกเขาอาจถูกย้ายไปส่วนอื่นของเมือง

ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 บร็องซ์เป็นเขตที่มีความเสียหายมากที่สุดในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตอนใต้ของเขตซึ่งสูญเสียประชากร 60% และที่อยู่อาศัย 40%

สังคมที่แสนเหลื่อมล้ำ The Bronx หลุมดำคนจนในนิวยอร์ก

เบื้องหลังความยากจนในบร็องซ์

การวิจัยจากคณะกรรมการพลเมืองเพื่อเด็กแห่งนิวยอร์ก ข้อมูลสำมะโนประชากร และข้อมูลเศรษฐกิจในเขตของนิวยอร์ก ระบุว่ามีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลให้อัตราความยากจนในบร็องซ์สูง ไม่ว่าจะเป็น

ภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงการจ้างงานและรายได้: อัตราการจ้างงานในบร็องซ์ต่ำ และเกิดการกระจุกตัวของคนงานในอุตสาหกรรมค่าแรงต่ำ ซึ่งต้องการการสนับสนุนทางสังคมและการเงินมากขึ้น

สุขภาพ: อัตราการเจ็บป่วยในบร็องซ์สูงขึ้น เช่น โรคหอบหืด โรคอ้วน และเบาหวาน รวมถึงการรักษาในโรงพยาบาลที่เชื่อมโยงกับการใช้สารเสพติดและแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราการตายของทารกเพิ่มสูงขึ้น

การศึกษา: ประชากรที่ได้รับการศึกษาและสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายอยู่ในอัตราที่ต่ำ ตลอดจนความสามารถทางภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ที่ต่ำกว่า

ปัญหาเยาวชน: มีเยาวชนจำนวนมากที่อยู่นอกระบบการศึกษา ขาดวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และตกงานเนื่องจากการจ้างงานเยาวชนลดลง

ปัญหาครอบครัว: หลายครัวเรือนมีพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว เกิดการล่วงละเมิดและละเลยเด็ก อัตราการก่ออาชญากรรมรุนแรงและการกักขังในสถานรับเลี้ยงเด็กอุปถัมภ์สูงขึ้น

ทรัพยากร: บริการพื้นฐาน อาทิ ร้านอาหาร ธนาคาร การขนส่งสาธารณะ การฝึกงาน การจัดหางาน การสนับสนุนที่อยู่อาศัย และการดูแลเด็กปฐมวัยที่มัคุณภาพ สิ่งเหล่านี้เข้าถึงได้ยากและไม่สามารถเข้าถึงได้ในทุกพื้นที่

Photo by Scott Heins/Getty Images/AFP