posttoday

ความลับที่ทำให้บริษัทญี่ปุ่นเป็นอมตะ ทำไมจึงอยู่ได้เป็นพันปี?

16 มกราคม 2565

ทำไมญี่ปุ่นจึงมีบริษัทรุ่นพระเจ้าเหาที่ยังไม่เก่าแถมยังปรับตัวเองเข้าสู่ศตวรรษใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา?

รู้หรือไม่ว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีบริษัท “มากที่สุดในโลก” โดยมีกิจการที่มีอายุเกิน 100 ปี มากถึง 21,000 แห่ง (จากการประเมินเมื่อปี 2009) และเมื่อจากบัญชีรายชื่อจะพบว่า 10 อันดับแรกของกิจการที่เก่าแก่ที่สุด เป็นของญี่ปุ่นเสีย 6 แห่ง

บริษัที่เก่าแก่ที่สุดในโลกคือ คงโง กุมิ (Kongo Gumi) ก่อตั้งเมื่อปี 578 หรือเกือบ 1,500 ปีก่อน โดยทำธุรกิจก่อสร้างมาตั้งแต่ยุคนาระ ผู้ริเริ่มคือช่างไม้ชาวเกาหลีจากอาณาจักรแพ็กแจ ที่ได้เชิญให้มาก่อสร้างวัดวาอารามทางพุทธศาสนา เช่น วัดชิเทนโนจิ วัดสำคัญในเมืองโอซาก้า ที่ยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ และอนุชนรุ่นหลังๆ ก็ยังมีส่วนในการสร้างปราสาทโอซากา ปราสาทที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

แม้ว่าคงโง กุมิจะผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของบริษัททากามัตสึ ในปี 2006 แต่ทุกวันนี้ก็ยังดำเนินการอยู่ภายใต้ชื่อเดิม และยังเชี่ยวชาญในงานแขนงเดิม นั่นคือ การก่อสร้างวัดทางพุทธศาสนา

อันดับที่ 2 คือ นิชิยามะ ออนเซน เคอุนกัง (Nishiyama Onsen Keiunkan) ผู้ประกอบการด้านโรงแรมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เริ่มให้บริการในปี 705 หรือกว่า 1,300 ปีมาแล้ว ปัจจุบันยังคงเปิดให้บริการอยู่ที่เมืองฮายาคาวะ จ.ยามานาชิ

อันดับที่ 3-5 ของกิจการเก๋ากึ๊กก็ยังคงเป็นญี่ปุ่น คือบริษัท โคมัง (Koman) บริการด้านโรงแรมตั้งแต่ปี 717 ที่เมืองคิโนซากิ จ.เฮียวโงะ อันดับ 4 คือ โฮชิง เรียวกัง (Hoshi Ryokan) ให้บริการด้านโรงแรมเช่นกัน เริ่มตั้งแต่เมื่อปี 718 ที่เมืองโคมัตสึ จ.อิชิงาวะ และอันดับ 5 คือ เกนดะ ชิเงียว (Genda Shigyo) ขายกระดาษในเมืองเกียวโตมาตั้งแต่ปี 771 ทุกวันนี้ก็ยังขายกระดาษแบบเดิม

ความลับที่ทำให้บริษัทญี่ปุ่นเป็นอมตะ ทำไมจึงอยู่ได้เป็นพันปี?

คำถามก็คือ อะไรที่ทำให้ญี่ปุ่นเต็มไปด้วยบริษัทยุคบุพกาล แต่แข็งแกร่งข้ามศตวรรษ และยังคงโลดแล่นในโลกธุรกิจทุกวันนี้ได้?

เว็บไซต์ญี่ปุ่น BATONZ ระบุว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะญี่ปุ่นมีระบบสืบทอดมรดกที่เคร่งครัด โดยระบุเป็นกฎหมายถึงการสืบทอดมรดกแม้ว่าจะไม่ได้ระบุว่าลูกชายคนโตจะต้องสืบทอดกิจการของบ้าน แต่เป็นที่รู้กันว่าเป็นหน้าที่ของลูกคนโต 

ระบุว่า BATONZ ในภูมิภาคคันโต (ภาคกลางฝั่งตะวันออก เช่น โตเกียว) เป็นเรื่องปกติที่ลูกชายคนโตจะสืบทอดตระกูล แต่ในพ่อค้าคันไซ (ภาคกลางฝั่งตะวันตก เช่น โอซาก้า) มีประเพณีที่ผู้หญิงสืบทอดธุรกิจของครอบครัวด้วย เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะมีผู้สืบทอดตำแหน่งโดยสายเลือดอาจจะไม่มีคุณสมบัติดีพอ แม้ว่าลูกคนหัวปีจะได้รับสืบทอดทรัพย์สิน แต่คนที่สืบทอดกิจการอาจจะเป็นลูกเขยที่แต่งงานกับลูกสาวในบ้านนั้นก็ได้หากเขามีความสามารถที่เหนือกว่าลูกชายคนหัวปีของบ้าน

ในความเห็นของ Emily Tamkin แห่งเว็บไซต์ Slate กล่าวว่า อาจเป็นเพราะบริษัทเก่าแก่ในญี่ปุ่นเป็นกิจการที่สืบทอดในครอบครัว แต่ไม่ใช่ว่าทายาทจากสายเลือดเดียวกันจะสืบทอดกิจการไปทั้งหมด เพราะญี่ปุ่นมีธรรมเนียมรับลูกชายจากครอบครัวอื่นมาเป็นทายาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากครอบครัวเดิมไม่มีลูกชาย จะให้ลูกเขยแต่งเข้าบ้านฝ่ายหญิงและใช้นามสกุลของฝ่ายหญิง บางตระกูลใหญ่ๆ มักขอตัวลูกชายจากญาติๆ มาสืบทอดตระกูล ทำให้กิจการครอบครัวมีผู้นำที่หลากหลายมากความสามารถ ไม่ใช่ผูกขาดแต่คนในสายเลือดเดียวกัน แต่อาจจะไร้ประสิทธิภาพจนทำให้กิจการล่มจม

ความลับที่ทำให้บริษัทญี่ปุ่นเป็นอมตะ ทำไมจึงอยู่ได้เป็นพันปี?

แต่บริษัทรุ่นเก๋าไม่ได้มีเฉพาะแค่กลุ่มโรงแรม ก่อสร้าง ร้านอาหาร เครื่องดื่ม หรืองานประเภทฮาร์แวร์เท่านั้น แต่ยังมีบริษัทสายนวัตกรรมรวมอยู่ด้วย และไม่น่าเชื่อว่าบริษัทสายนวัตกรรมจะมีอายุยืนนาน ทั้งยังสานต่องานสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ให้ออกมาสู่สายตาชาวโลกอยู่เรื่อยๆ

หลายคนคงจะไม่รู้ว่า แม้แต่ Nintendo บริษัทที่เป็นตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกมคอมพิวเตอร์ของโลก ก็มีประวัติอันยาวนานมากว่า 100 ปี โดยก่อตั้งขึ้นในปี 1889 โดยแรกเริ่มเดิมทีเป็นผู้ผลิตเกมไพ่ฮะนะฟุดะ ซึ่งเป็นไพ่เฉพาะของญี่ปุ่นสำหรับเล่นคล้ายๆ เกมระหว่างคน 2 คน ซึ่งจะเรียกว่าเป็นเกมรุ่นโบราณก็ว่าได้ ต่อมาเริ่มหันมาเน้นการผลิตของเล่น และหันมาจับธุรกิจวิดีโอเกมอย่างเต็มตัวในปี 1970 จนล่าสุดมีมูลค่าตลาดหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

ฮิวจ์ วิทเทเกอร์ แห่งสถาบันญี่ปุ่นศึกษานิสสัน ใน ม.ออกซฟอร์ด กล่าวกับ Slate กล่าว บริษัทเก่าแก่ของญี่ปุ่นสามารถถ่วงดุลระหว่างการสืบทอดกิจการโบราณเข้ากับการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ มาโดยตลอดหลายศตวรรษ และอีกประการก็คือ คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับความเก่าแก่และมั่นคงของกิจการมากกว่าตัวเลขการประกอบการ

ยิ่งเก่ายิ่งน่าเชื่อถือนั่นเอง

ความลับที่ทำให้บริษัทญี่ปุ่นเป็นอมตะ ทำไมจึงอยู่ได้เป็นพันปี?

ข้อมูลดิบ "การสำรวจบริษัทที่ก่อตั้งมายาวนาน"

"บริษัทที่ก่อตั้งมายาวนาน" หมายถึงบริษัทที่ก่อตั้งมานาน 100 ปีขึ้นไปจากการสำรวจโดย Teikoku Data Bank ในปี 2019 มีข้อมูลน่าสนใจดังนี้

1. ปรากฎว่ามี "บริษัทที่ก่อตั้งมายาวนาน" จำนวน 33,259 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงบริษัทที่มีประวัติการดำเนินธุรกิจ 100 ปีจนถึงปี 2019 ด้วย อัตราส่วนของบริษัทที่ก่อตั้งมายาวนานต่อยอดรวม เท่ากับ 2.27% 

2. จำแนกโดยประเภทอุตสาหกรรม จำนวนบริษัทที่ก่อตั้งมายาวนานมากที่สุดคือ 8,344 บริษัท (อัตราส่วน 25.1%) คือ "อุตสาหกรรมการผลิต" กลุ่ม "การค้าปลีก" จำนวน 7782 บริษัท (อัตราส่วน 23.4%) และ "การค้าส่ง" จำนวน 7359 บริษัท (อัตราส่วน 22.1%) 

3. ตามขนาดยอดขายต่อปี บริษัทที่ก่อตั้งมายาวนานส่วนใหญ่มีรายได้ "น้อยกว่า 100 ล้านเยน" (13,786 บริษัท อัตราส่วนองค์ประกอบ 41.5%) และ "100 ล้านถึงน้อยกว่า 1,000 ล้านเยน" (12,986 บริษัท อัตราส่วน 9.0%) 

4. จำแนกโดยจังหวัด อัตราการปรากฏตัวสูงสุดของบริษัทที่ก่อตั้งมายาวนานคือ 4.73% ใน "จังหวัดเกียวโต"

Photo by Philip FONG / AFP