posttoday

ทุกๆ 25 นาทีมีหญิงอินเดียฆ่าตัวตาย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

17 ธันวาคม 2564

ปีที่แล้วแม่บ้านชาวอินเดียปลิดชีวิตตัวเองเฉลี่ยวันละ 61 คน หรือทุกๆ 25 นาที

บีบีซีรายงานโอยอ้างข้อมูลจากสำนักงานข้อมูลอาชญากรรมแห่งชาติของอินเดีย (National Crime Records Bureau หรือ NCRB) ระบุว่าปีที่แล้วมีแม่บ้านชาวอินเดียปลิดชีวิตตัวเองถึง 22,372 คน คิดโดยเฉลี่ยคือหญิงอินเดียฆ่าตัวตายวันละ 61 คน หรือทุกๆ 25 นาที

รายงานระบุว่าแม่บ้านฆ่าตัวตายคิดเป็น 14.6% ของกรณีการฆ่าตัวตายทั้งหมด 153,052 คนในอินเดียเมื่อปีที่แล้ว และมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้หญิงอินเดียทั้งหมดที่ฆ่าตัวตาย

ในปี 1997 NCRB เริ่มรวบรวมข้อมูลการฆ่าตัวตายของชาวอินเดียโดยแบ่งตามอาชีพ พบว่าในทุกๆ ปีมีแม่บ้านฆ่าตัวตายมากกว่า 20,000 คน และในปี 2009 ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 25,092

รายงานมักระบุว่าการฆ่าตัวตายมีสาเหตุมาจาก "ปัญหาครอบครัว" หรือ "ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงาน" แต่อะไรเป็นสาเหตุที่ผลักดันให้ผู้หญิงเหล่านั้นต้องปลิดชีพตัวเอง?

บีบีซีอ้างผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตซึ่งกล่าวว่าสาเหตุหลักคือปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดย 30% ของผู้หญิงทั้งหมดที่ร่วมการสำรวจของรัฐบาลเมื่อเร็วๆ นี้กล่าวว่าพวกเขาเคยถูกคู่สมรสใช้ความรุนแรง ทั้งยังต้องเผชิญกับความเบื่อหน่ายในชีวิตหลังแต่งงานที่ผู้หญิงถูกกดขี่จนอึดอัด

ดร.อูชา เวอร์มา ศรีวัสตาวา (Usha Verma Srivastava) นักจิตวิทยาจากเมืองพาราณาสีกล่าวว่าหญิงอินเดียส่วนใหญ่แต่งงานตั้งแต่อายุ 18 ปี พวกเขาต้องทำหน้าที่ภรรยาและการเป็นลูกสะใภ้ คือการใช้เวลาทั้งวันไปกับการทำงานบ้าน ทำความสะอาดบ้าน หรือทำอาหาร พวกเขาแทบจะไม่มีอิสระที่จะได้ใช้ชีวิตส่วนตัว และไม่มีเงินเป็นของตัวเอง

"การศึกษาและความฝันของเธอไม่สำคัญอีกต่อไป ทะเยอทะยานของพวกเธอค่อยๆ หายไปอย่างช้าๆ กลายเป็นความสิ้นหวังและความผิดหวังที่ก่อตัวขึ้น การมีชีวิตอยู่ของพวกเธอกลายเป็นความทรมาน" ดร.อูชากล่าว

แต่สำหรับแม่บ้านสูงอายุนั้นมีสาเหตุที่ต่างกันออกไป

ดร.อูชากล่าวว่าแม่บ้านสูงอายุหลายคนเผชิญกับความว่างเปล่าเมื่อลูกๆ เติบโตขึ้นและไปมีชีวิตของตัวเอง หลายคนประสบปัญหาเมื่อถึงวัยใกล้หมดประจำเดือนที่อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า

อย่างไรก็ตามเธอเสริมว่าการฆ่าตัวตายนั้นสามารถป้องกันได้ โดยการโน้มน้าวหรือพยายามหยุดความคิดที่จะฆ่าตัวตายของเขาก็มีโอกาสที่เขาจะเปลี่ยนใจ

ดร.ซูมิตรา พาทาเร (Soumitra Pathare) จิตแพทย์ชาวอินเดียรายหนึ่งอธิบายว่าการฆ่าตัวตายในอินเดียหลายครั้งเกิดขึ้นจากอารมณ์ชั่ววูบ อย่างเช่นการที่สามีกลับถึงบ้าน ลงมือทำร้ายภรรยา จากนั้นภรรยาก็ฆ่าตัวตาย

งานวิจัยชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่าหญิงอินเดีย 1 ใน 3 ที่ฆ่าตัวตายมีประวัติว่าเธอต้องเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัว

ไชตาลี สินหา (Chaitali Sinha) นักจิตวิทยาของ Wysa แอปพลิเคชันด้านสุขภาพจิตกล่าวว่ามีผู้หญิงชาวอินเดียอีกส่วนหนึ่งที่ต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว แต่ที่พวกเขายังคงสติได้เพราะได้รับการสนับสนุน เธอพบว่าผู้หญิงจำนวนหนึ่งจัดตั้งกลุ่มเล็กๆ ขึ้นมาเพื่อให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

"พวกเธอไม่มีหนทางอื่นในการแสดงออก บางครั้งการได้พูดคุยกับใครสักคนก็เป็นสิ่งที่เยียวยาจิตใจของพวกเธอได้" ไชตาลีกล่าว แต่ทว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการล็อกดาวน์ทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก

ก่อนหน้านี้พวกเธอมีพื้นที่ปลอดภัยเมื่อสามีออกไปทำงานนอกบ้าน แต่เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 ทำให้พื้นที่ปลอดภัยนั้นหายไป และมันยังทำให้พวกเธอไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมต่างๆ ที่สร้างความสุขให้แก่พวกเธอได้ ดังนั้นความโกรธ ความเจ็บปวด และความเศร้าจึงก่อตัวขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป และการฆ่าตัวตายกลายเป็นทางเลือกสุดท้ายของพวกเขา

อินเดียรายงานสถิติการฆ่าตัวตายที่สูงที่สุดในโลก โดยผู้ชายอินเดียคิดเป็น 1 ใน 4 ของการฆ่าตัวตายทั่วโลก ในขณะที่ผู้หญิงอินเดียคิดเป็น 36% ของการฆ่าตัวตายทั่วโลกในกลุ่มอายุ 15 ถึง 39 ปี

แต่ดร.ซูมิตรา กล่าวว่า ตัวเลขอย่างเป็นทางการของอินเดียนั้นถือว่าต่ำเกินกว่าความเป็นจริงอย่างมาก และไม่ได้สื่อถึงระดับที่แท้จริงของปัญหา โดยอ้างอิงผลการศึกษา Million Death Study และงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet ซึ่งชี้ว่าตัวเลขทางการต่ำกว่าความเป็นจริง 30% ถึง 100%

พร้อมชี้ว่าปัญหาการฆ่าตัวตายไม่ได้ถูกนำมาพูดคุยกันอย่างจริงจังในอินเดีย หลายครอบครัวพยายามปกปิดเพราะความอับอาย ในพื้นที่ชนบทไม่มีข้อกำหนดให้ต้องชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต ส่วนคนรวยมักได้รับความช่วยเหลือจากตำรวจให้ระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่าเป็นอุบัติเหตุไม่ใช่การฆ่าตัวตาย

"องค์การสหประชาชาติตั้งเป้าที่จะลดอัตราการฆ่าตัวตายทั่วโลกให้ได้ 1 ใน 3 ภายในปี 2030 แต่ปีที่ผ่านมาการฆ่าตัวตายของเราเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน การลดตัวเลขนี้ยังคงเป็นเพียงความฝัน" ดร.ซูมิตรากล่าว

AFP PHOTO / TAUSEEF MUSTAFA