posttoday

ปิดประเทศไว้ก่อนดีไหม ก่อนจะรู้พิษสงโอไมครอน

01 ธันวาคม 2564

อาจถึงเวลาห้ามทุกประเทศที่พบโอไมครอนเข้าไทย - มาตรการแรกเริ่มที่สั่งห้ามบุคคลจาก 8 - 9 ประเทศของภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้เข้าประเทศเริ่มไม่พอแล้ว หลายประเทศเริ่มห้ามมากว่านั้นแล้ว

ในเวลานี้ภูมิภาคที่พบการกระจายตัวของโอไมครอนมากที่สุด ไม่ใช่แอฟริกาตอนใต้แต่เป็นทวีปยุโรป - นี่เป็นเรื่องต้องกังวลข้อแรก

และยิ่งมีข้อมูลจากเนเธอร์แลนด์ว่า พบเชื้อโอไมครอนจากตัวอย่างที่เก็บตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน ก่อนที่แอฟริกาใต้จะแจ้งข่าวการพบเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ในวันที่ 24 พฤศจิกายน - นี่ก็ยิ่งน่ากังวล

ดังนั้น บางพื้นที่จึงสั่งห้ามผู้เดินทางจากยุโรปเข้าประเทศกันแล้ว เช่น ฮ่องกงและมาเลเซีย มาเลเซียใช้คำที่อะลุ่มอะล่วยว่า "ประเทศที่มีแนวโน้มเสี่ยงจากโอไมครอน" นี่เป็นวิธีการที่ชาญฉลาด เพราะแรงความไม่พอใจของภูมิภาคหรือประเทศที่ถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ

มาเลเซียยังชลอแผนการ "ช่องทางพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้ว" กับประเทศที่มีแนวโน้มเสี่ยง ซึ่งไม่บอกว่าประเทศไหน แต่รู้กันว่าหมายถึงยุโรป

ญี่ปุ่นยังไม่สั่งห้ามบุคคลจากยุโรปเข้าประเทศ เพราะไม่จำเป็น เนื่องจากสั่งห้ามคนต่างชาติทั้งหมด (คือนักธุรกิจและนักเรียน) เข้าแล้วและยังเตรียมห้ามคนต่างชาติที่มีถิ่นฐานในญี่ปุ่นเข้าไปอีกด้วย

แต่ญี่ปุ่นสั่งกักตัวทีมชาติฟุตบอลหญิงทั้งหมดเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากเพิ่งกลับบ้านจากเนเธอร์แลนด์

นี่คือแนวทางสกัดโอไมครอนจากยุโรป ซึ่งมีทั้งที่ประกาศว่าไม่รับคนจากยุโรปตรงๆ (ฮ่องกง) และที่เลี่ยงจะไม่เอ่ยตรงๆ (มาเลเซียและญี่ปุ่น)

ฮ่องกงนันถึงขนาดสั่งห้ามผู้ที่มาจากญี่ปุ่นที่มิใช่พลเมืองฮ่องกงเข้ามาด้วย นับว่าก้าวไปอีกสเต็ปแล้ว แต่พึงเข้าใจว่าฮ่องกงมีระเบียบการเข้าเมืองที่เข้มงวดที่สุดในโลกก็ว่าได้ในตอนนี้

และยังมีแบบที่จะชลอแผนเปิดประเทศไปก่อนโดยไม่เน้นเฉพาะเจาะจงที่ภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง เช่น ออสเตรเลีย

แม้ว่าบางคนจะบอกว่า ไม่ต้องตื่นตูม (เช่นโจ ไบเดน) แต่เกือบทุกประเทศล้วนแต่ใช้แนวทาง "ตื่นตูมไว้ก่อน" และแม้ว่าจะมีการวินิจฉัยอาการเบื้องต้นจากแพทย์ที่แอฟริกาใต้ซึ่งพบ (เบื้องต้น) ว่า "อาการเบาๆ" แต่ทุกประเทศก็ยังไม่ประมาท

หลังจากผ่านไป 2 สัปดาห์อันเป็นช่วงที่องค์การอนามัยโลกใช้ประเมินความร้ายของโอไมครอน เกิดมันแรงขึ้นมา คราวนี้จะมานั่งเสียใจทีหลังไม่ได้

อนามัยโลกเองยังชี้ว่าโอไมครอนอาจทำให้ยอดติดเชื้อเพิ่มขึ้นด้วยผลพวงที่เลวร้าย (Severe Consequences) และความสี่ยงของการระบาดทั่วโลกนั้น ประเมินไว้ว่าสูงมาก (assessed as very high)

และแม้บริษัทวัคซีนจะเริ่มพัฒนาของใหม่กันแล้ว แต่โอกาสจะได้ของใหม่มาใช้นั้น "เป็นเดือน" โอกาสที่วัคซีนจะมาถึงมือเรา "หลายเดือน"

ผู้เชี่ยวชาญเนเธอร์แลนด์ยังบอกว่า เนเธอร์แลนด์ที่พบเชื้อก่อนแอฟริกา ไม่น่าจะใช่รายเดี่ยวๆ แต่ประเทศอื่นก็ไม่น่าจะรอด

ดูจากแนวโน้มที่เชื้อจะกระจายไปโน่นไปนี่อย่างรวดเร็ว หากไทยไม่ออกคำสั่งห้ามผู้ที่มาจากประเทศที่พบเชื้อเข้ามา ไทยก็ต้องกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่พบโอไมครอนในที่สุด และเมื่อถึงตอนนั้น ไทยก็ไม่ต้องห้ามใครเข้าอีก เพราะที่อื่นจะห้ามไทยเข้าไปเอง

แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ไทยห้ามเข้าประเทศเร็วหรือช้า มันอยู่ที่ว่าถ้ารอดูคนอื่นเขาทำไปเรื่อยๆ จนโดนเข้ากับตัวเอง มันจะสายไปถ้าเกิดเชื้อรุนแรงขึ้นมา

มีประเทศที่ใช้วิธี "นั่งบนภู ดูสถานการณ์ไปก่อน" ได้ คือประเทศที่ได้วัคซีนมาง่ายๆ (สหรัฐ) ประเทศที่ปิดประเทศอยู่แล้ว (จีน) และประเทศที่พยายามอยู่กับโควิดเพราะเริ่มแนวทางนี้ก่อนชาวบ้าน (สิงคโปร์)

หากไทยจะรอไปก่อนไทยต้องดูสิงคโปร์ให้ดีๆ ว่ากำลังใช้นโยบายแบบไหน หากสิงคโปร์เปลี่ยนท่าที ไทยก็ควรเปลี่ยนตาม หากไหนๆ ก็มาแนวทางเดียวกันแล้ว

ประเด็นเดียวที่ไทยไม่เหมือนสิงคโปร์คือ สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงที่ในโลก และพยายามกันไม่ให้ระบบสาธารณสุขล่ม นั่นคือ ต่อให้ฉีดวัคซีนแล้วติด ก็หวังว่ามันจะมีอาการเบาๆ แบบรักษาเองได้ ไม่หนักจนต้องไปสุมกันที่โรงพยาบาลจนเตียงไม่พอ

หากไทยจะตามแนวทางสิงคโปร์ต้องมีปัจจัยแบบเขา คือฉีดวัคซีนเยอะและโรงพยาบาลรับไหว แต่ตอนนี้ไทยฉีควัคซีนครบแค่ 58% ขณะที่สิงคโปร์ฉีคครบแล้ว 88.2%

และถ้าเอา "ความมั่น" ของสิงคโปร์เรื่องวัคซีนมาวัด บางทีมันก็ไม่แน่เสมอไป เพราะหลังจากเริ่มอยู่กับโควิด ปรากฏว่าสิงคโปร์ติดเชื้อพุ่งสูงสุดในรอบปี เดชะบุญที่ระบบสาธารณสุขยังรับไหว

และถ้าเอาวัคซีนมาวัดแล้ว ประเทศที่อัตราฉีดสูงๆ ยังไม่อยากจะเสี่ยงดวงเลย เช่น อิสราเอลฉีดครบ 62.7% สั่งปิดประเทศไปแล้ว และญี่ปุ่น 77.3% ก็ปิดประเทศไปแล้วเช่นกัน

ไทยจะใช้แนวทางไหนรับมือโอไมครอนขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว

Photo by Jung Yeon-je / AFP