posttoday

เมื่อฝรั่งเศสไม่ยอมเปลี่ยนสถานีรถไฟเป็นห้าง แต่เนรมิตมันเป็นพิพิธภัณฑ์

24 พฤศจิกายน 2564

เรื่องราวของ Musee d’Orsay ตอนแรกสถานีรถไฟเก่าแห่งนี้จะถูกรัฐบาลรื้อถอนปรับเป็นโรงแรมแต่สุดท้ายเปลี่ยนใจทำเป็นพิพิธภัณฑ์สมบัติของชาติแทน

จากกรณีถกเถียงกันถึงการปิดสถานีรถไฟหัวลำโพงที่อยู่คู่กับคนไทยมา 105 ปีเพื่อนำพื้นที่ไปพัฒนาในเชิงพาณิชย์ มีกรณีที่คล้ายกันแต่ก็ไม่คล้ายเสียทีเดียวนี้เกิดขึ้นกับสถานีรถไฟดอร์เซ (Gare d'Orsay) ใจกลางกรุงปารีส สถานีแห่งนี้มีอายุใกล้เคียงกับหัวลำโพงของไทย และน่าจะเป็นกรณีศึกษาให้ไทยได้

สถานีดอร์เซถูกสร้างขึ้นใกล้กับแม่น้ำแซนเพื่อรองรับงาน Universal Exhibition (ปัจจุบันคือ World Expo) ในปี 1900 เพื่อเป็นหน้าเป็นตาของประเทศและโชว์ว่าฝรั่งเศสมีความเหนือในด้านอุตสาหกรรมและความก้าวล้ำของเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่มุมของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงปลายศตวรรษที่ 10 ต่อต้นศตวรรษที่ 20

ทางการกรุงปารีสต้องการดึงคนเข้ามาในเมืองหลวงจึงตัดสินใจสร้างสถานีรถไฟขึ้นใหม่ทางฝั่งซ้ายของกรุงปารีส เพื่อให้คนที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศสมาถึงทางเข้านิทรรศการได้โดยตรง

เมื่อฝรั่งเศสไม่ยอมเปลี่ยนสถานีรถไฟเป็นห้าง แต่เนรมิตมันเป็นพิพิธภัณฑ์

สถานีรถไฟดอร์เซออกแบบโดย วิกเตอร์ ลาลูซ์ ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 2 ปี (1898-1900) เปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 1900 โดยโครงสร้างที่เป็นโลหะของตัวสถานีถูกปิดทับด้วยหินปูนสีขาวด้านนอกเพื่อให้กลมกลืนกับความเป็นปารีเซียงของสิ่งก่อสร้างรอบๆ บริเวณ

ด้วยความที่รถไฟที่วิ่งผ่านสถานีนี้เป็นรถไฟที่ใช้พลังงานไฟฟ้าดังนั้นจึงไม่ปล่อยควันหรือไอน้ำออกมา ทำให้สถาปนิกสามารถออกแบบให้มีหลังคากระจกโค้งปิดคลุมทั้งอาคารสูงถึง 32 เมตรเหมือนกับสถานีหัวลำโพง

ทว่าแม้จะอัดแน่นไปด้วยความทันสมัยต่างๆ รวมทั้งสายพานขนกระเป๋าและลิฟต์โดยสาร สถานีดอร์เซกลับล้าสมัยอย่างรวดเร็วจากวิวัฒนาการของทางรถไฟ ตั้งแต่ปี 1939 การเดินรถไฟจึงค่อยๆ ลดลงจนเหลือวิ่งให้บริการเฉพาะแถบชานเมืองและถูกยกเลิกไปในที่สุด เนื่องจากชานชาลาสั้นเกินไปสำหรับรถไฟสมัยใหม่ที่มีขบวนยาวขึ้น

เมื่อฝรั่งเศสไม่ยอมเปลี่ยนสถานีรถไฟเป็นห้าง แต่เนรมิตมันเป็นพิพิธภัณฑ์

หลังจากยกเลิกสถานีดอร์เซ อาคารแห่งนี้ถูกนำไปใช้ในหลายวัตถุประสงค์ อาทิ ศูนย์รับผู้ต้องขังและผู้ที่ถูกเนรเทศกลับฝรั่งเศสในปี 1945 สถานที่ประกาศการหวนกลับสู่การเมืองของนายพลเดอ โกลในปี 1958 หรือแม้แต่ฉากถ่ายทำภาพยนตร์ของ แบร์นาโด แบร์โตลุชชี ในปี 1960

รัฐบาลฝรั่งเศสตัดสินใจจะรื้อถอนและปรับเปลี่ยนให้สถานีรถไฟดอร์เซเป็นโรงแรมที่ทันสมัย จุดนี้คือส่วนที่คล้ายกับสถานีหัวลำโพงของไทยคือจะถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ในเชิงพาณิชย์

ทว่าในปี 1971 กระทรวงโยธาธิการ คมนาคม และการเคหะไม่อนุมัติให้สร้างโรงแรม เนื่องจากดีไซน์โดยเฉพาะขนาดและความสูงของโรงแรมไม่เหมาะกับพื้นที่ แผนการนี้จึงถูกพับไป

เมื่อฝรั่งเศสไม่ยอมเปลี่ยนสถานีรถไฟเป็นห้าง แต่เนรมิตมันเป็นพิพิธภัณฑ์

จนกระทั่งในปี 1973 ไอเดียที่จะเปลี่ยนสถานีรถไฟเก่าเป็นพิพิธภัณฑ์เริ่มผุดขึ้นมา และปี 1975 des Musées de France (ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ของฝรั่งเศส) กำลังหาที่ในการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ ตัดสินใจใช้สถานีดอร์เซเป็นสถานที่ก่อสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ จึงมีการรีโนเวทครั้งใหญ่ก่อนจะเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ดอร์เซ (Musee d’Orsay) ให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 1986

พิพิธภัณฑ์ดอร์เซเป็นหนึ่งในอาร์ตแกลเลอรียอดนิยมในกรุงปารีสที่มีงานศิลป์ รูปปั้น และภาพถ่ายของศิลปินดัง อาทิ ปอล เซซาน, เอดูอาร์ มาเนต์, โคลด โมเนต์ และปิแอร์ ออกุสโต เรอนัวร์ ที่รังสรรค์ตั้งแต่ปี 1848-1915 และยังมีคอลเลคชั่นของงานแนวอิมเพรสชันนิสม์และอิมเพรสชันนิสม์ยุคหลังมากที่สุดในโลกด้วย

แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ราว 3 ล้านคน ทว่าในปี 2020 นักท่องเที่ยวลดลงเหลือ 867,724 หรือลดลง 76% จากตัวเลขปี 2019 เนื่องจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 แต่ถึงยอดผู้เข้าเยี่ยมชมจะลดลง พิพิธภัณฑ์ดอร์เซยังติดอยู่ในลิสต์พิพิธภัณฑ์สิลปะที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในปี 2020 ในอันดับที่ 15

ภาพ: wikipedia