posttoday

Pagpag อาหารเหลือทิ้งในถังขยะคือเมนูประทังชีวิตคนสลัม

18 พฤศจิกายน 2564

เศษอาหารเหลือทิ้งจากกองขยะคือเมนูที่ช่วยให้ชาวชุมชนแออัดในฟิลิปปินส์มีอาหารตกถึงท้อง

องค์การอาการและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เผยข้อมูลที่ดูย้อนแย้งกันว่า ในแต่ละปีทั่วโลกมีอาหารเหลือทิ้งกว่า 1,300 ล้านตัน หรือราว 1 ใน 3 ขณะที่ผู้คนอีกกว่า 870 ล้านคน หรือ 1 ใน 8 ไม่มีอะไรจะกิน

เช่นเดียวกับชาวฟิลิปปินส์หลายล้านคนที่ยังต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างยากจนข้นแค้นแทบจะไม่มีเงินซื้ออาหารกินในแต่ละมื้อ ด้วยเหตุนี้หาทางเดียวที่พวกเขาจะมีอาหารตกถึงท้องได้ก็คือ การค้นหาอาหารที่คนอื่นกินเหลือจากถังขยะของร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่นำมาทิ้งที่กองขยะเพื่อนำไปกินเองหรือขายต่อ

อาหารชนิดนี้เรียกเป็นภาษาตากาล็อกว่า ปั๊กปั๊ก (Pagpag) ซึ่งแปลว่า การปัดฝุ่นหรือสิ่งสกปรกออก ในที่นี่ก็คือ การปัดสิ่งของอื่นๆ ออกจากอาหารเหลือทิ้งที่ยังพอกินได้

ช่วงเวลาทองของการออกเก็บรวบรวมปั๊กปั๊กก็คือ กลางคืนหลังจากรถขยะมาเก็บขยะจากร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด หรือช่วงเช้ามืดที่บรรดาขยะจากที่ต่างๆ ถูกขนมาที่กองขยะ ซึ่งหากเป็นช่วงกลางคืนพ่อค้าแม่ค้าปั๊กปั๊กจะซื้อถุงขยะจากคนจัดการขยะราว 1 เหรียญสหรัฐ หรือ 32 บาทแล้วนำมาเลือกและทำความสะอาดก่อนจะนำไปขายต่อในช่วงเช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น

เฟลิปา ฟาบอน แม่ค้าปั๊กปั๊กที่อาศัยอยู่ในย่านทอนโด สลัมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งและยากจนที่สุดในกรุงมะนิลาเผยกับสำนักข่าว BBC ว่า ถ้าเป็นกระดูกมากกว่าเนื้อจะขายถุงละ 20 เปโซ หรือ 13 บาท

หากไม่ขายแบบสดๆ บางคนก็จะนำไปเลือก ล้างทำความสะอาด 2-3 ครั้งแล้วนำไปปรุงอาหารขายให้กับชาวสลัมในกรุงมะนิลาโดยมีเมนูยอดฮิตอย่างปั๊กปั๊กทอด สนนราคาถุงละ 30 เปโซ หรือ 19 บาท แม่ค้าอาหารที่ปรุงจากปั๊กปั๊กรายหนึ่งขายได้วัละ 4-6 เหรียญสหรัฐ หรือ 130-195 บาท

อาหารจากปั๊กปั๊กเป็นที่แพร่หลายในฟิลิปินส์ตั้งแต่ปี 2008 หลังจากปัญหาความยากจนรุนแรงขึ้นจนทำให้เกิดวิกฤตอาหาร แต่กว่าชาวโลกจะได้รับรู้ความจริงเกี่ยวกับความอดอยากของเพื่อนร่วมโลกในฟิลิปปินส์ก็เมื่อปี 2012 หลังจากสำนักข่าว CNN ทำสารคดีเกี่ยวกับปั๊กปั๊ก

เรื่องที่น่ากังวลที่สุดคือ ผลกระทบกับสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคสารพิษปนเปื้อน อาหารเป็นพิษ ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ ไทฟอยด์ ท้องเสีย และอหิวาตกโรค เพราะในกองขยะมักจะมีหนูหรือแมลงสาบไปป้วนเปี้ยนหาอาหารของมันเช่นกัน รวมทั้งอาจก่อให้เกิดภาวะทุกโภชนาการ

แต่สำหรับคนที่แทบไม่มีจะกินนั้นโรคเหล่านี้ไม่น่ากลัวสักนิด

พ่อค้าแม่ค้าขายอาหารที่ปรุงจากปั๊กปั๊กอ้างว่ายังไม่เคยมีใครเสียชีวิตจากการกินปั๊กปั๊กที่พวกเขาขาย และบอกอีกว่าพวกเขามีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว แม้ว่าจะมีเด็กๆ บางคนที่ไม่สบายเพราะอาหารนี้ก็ตาม

ไรอัน เทเลเกรโป ชาวชุมชนแออัดเผยกับ Reuters ว่า คนจนไม่สามารถเลือกนั่นเลือกนี่ได้มากพอที่จะปฏิเสธอาหารจากของเหลือของคนอื่นหรอก และเขาก็ไม่ห่วงที่จะป้อนปั๊กปั๊กให้ลูกน้อยวัย 7 เดือนด้วย

สำหรับชาวชุมชนแออัดพวกเขาเหล่านี้ไม่มีทางเลือก และอย่างน้อยการกินปั๊กปั๊กก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรกินเลย

แต่ก็ไม่ควรมีใครต้องกินอาหารเหลือทิ้งจากถังขยะไม่ใช่หรือ?

REUTERS/Athit Perawongmetha