posttoday

นักวิจัยใช้ AI ประมวลผลความคิดผู้พิการให้สามารถสื่อสารเป็นตัวหนังสือ

16 พฤศจิกายน 2564

อุปกรณ์นี้สามารถถอดรหัสความคิดออกมาเป็นตัวหนังสือได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

นับว่าเป็นก้าวสำคัญสู่ความสำเร็จเมื่อนักวิจัยสามารถใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการประมวลผลคลื่นสมองออกมาเป็นตัวหนังสือได้แบบเรียลไทม์

งานวิจัยดังกล่าวได้รับการเผยแพร่บน Nature เว็บไซต์วารสารวิทยาศาสตร์ระดับโลกเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยกล่าวถึงความสำเร็จในการทดลองให้ชายวัย 65 ปีคนหนึ่งซึ่งเป็นอัมพาตจากอาการบาดเจ็บที่ไขสันหลังตั้งแต่ปี 2007 จินตนาการว่ากำลังเขียนหนังสือ ขณะที่อิเล็กโทรดซึ่งฝังอยู่ในสมองจะบันทึกสัญญาณการทำงานของสมองของเขาไว้ ก่อนที่อัลกอริทึมที่ทำงานบนคอมพิวเตอร์ภายนอกจะตีความและประมวลผลออกมาเป็นตัวหนังสือแสดงบนจอคอมพิวเตอร์

ทำให้เขากลับมาสื่อสารด้วยตัวหนังสือได้อีกครั้งแม้ว่าแขนขาของเขาจะไม่สามารถขยับได้เนื่องจากเป็นอัมพาตมาหลายปีแล้ว

ในส่วนของความเร็วในการพิมพ์นั้นอยู่ที่ 90 ตัวอักษรต่อนาที หรือประมาณ 18 คำต่อนาที ด้วยความแม่นยำ 94.1% และความแม่นยำสูงสุด 99% เมื่อเปิดใช้งานระบบสะกดคำอัตโนมัติ

ซึ่งเป็นความเร็วที่เกือบจะเทียบเท่าการพิมพ์ด้วยสมาร์ทโฟนของผู้ใช้ในกลุ่มอายุเดียวกัน ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 115 ตัวอักษรหรือ 23 คำต่อนาที

ทั้งนี้ ระบบสามารถประมวลผลตัวอักษรภาษาอังกฤษ 26 ตัว และเครื่องหมายวรรคตอนพื้นฐานบางตัว

การทดลองดังกล่าวใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่าส่วนต่อประสานระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์ หรือ Brain-computer Interface (BCI) ซึ่งใช้ AI ในการประมวลผลการทำงานของสมองออกมาเป็นตัวอักษรบนคอมพิวเตอร์ กล่าวคือเป็นการควบคุมและสั่งการคอมพิวเตอร์ผ่านความคิดนั่นเอง

แฟรงค์ วิลเล็ตต์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดกล่าวว่า "ระบบใหม่นี้สามารถตีความการทำงานของสมอง และถอดรหัสเพื่อสร้างตัวอักษรได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ และทำให้เราได้เรียนรู้ว่าสมองยังคงสามารถสั่งการการเคลื่อนไหวได้ดี แม้ร่างกายจะสูญเสียการเคลื่อนไหวเหล่านั้นมาเป็นเวลากว่า 10 ปี"

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อุปกรณ์ดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการพิสูจน์ซึ่งได้รับการทดลองกับผู้เข้าร่วมเพียงแค่คนเดียว จึงยังไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์และยังไม่สามารถใช้งานได้จริงในตอนนี้ โดยทีมวิจัยยังคงต้องศึกษาทดลองต่อไป รวมถึงขยายกลุ่มตัวอย่าง และเพิ่มชุดตัวอักษรและสัญญลักษณ์อื่นๆ ให้มากขึ้น ตลอดจนปรับแต่งความไวของระบบด้วย

"ผลลัพธ์การทดลองครั้งนี้ได้เปิดแนวทางใหม่สำหรับ BCI และแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการประมวลผลที่รวดเร็วและแม่นยำสำหรับผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตมานานหลายปี...เราเชื่อว่าเทคโนโลยี BCI จะต้องประสบความสำเร็จยิ่งไปกว่านี้ในอนาคต"

ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเทคโนโลยี BCI ได้รับความสนใจจากบรรดาบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงโครงการ Neuralink ของอีลอน มัสก์ นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมายังได้มีการพัฒนา BCI ที่ใช้สมองควบคุมการทำงานของเมาส์บนหน้าจอคิมพิวเตอร์

ที่มา: WION, Science Alert, Metro

ภาพ: HHMI Howard Hughes Medical Institute