posttoday

สื่อญี่ปุ่นจองเวรเจ้าหญิงมาโกะกับสามีไม่หยุด

03 พฤศจิกายน 2564

สื่อญี่ปุ่นตามขุดคุ้ยแม้แต่เรื่องครอบครัวไปถึงเล็กๆ น้อยๆ อย่างทรงผมของโคมุโระ แม้แต่งงานแล้วก็ยังไม่หยุด

ในที่สุดเจ้าหญิงมาโกะแห่งราชวงศ์ญี่ปุ่นและ เคอิ โคมุโระ พระสหายร่วมชั้นเรียนมหาวิทยาลัย ก็ได้เข้าพิธีเสกสมรสกันอย่างเรียบง่ายหลังจากต้องเลื่อนมาเกือบ 4 ปี แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ทั้งคู่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคร่วมกันมากมาย โดยเฉพาะข่าวฉาวของโคมุโระที่ถูกสื่อญี่ปุ่นขุดคุ้ยแทบทุกซอกทุกมุม

ตอนแรกดูเหมือนว่าชาวญี่ปุ่นจะแฮปปี้กับเจ้าหญิงมาโกะ หลังจากทั้งคู่จับมือกันประกาศข่าวดีเมื่อปี 2017 ว่าได้หมั้นกันเรียบร้อยแล้ว และมีกำหนดจะเข้าพิธีเสกสมรสกันในวันที่ 4 พ.ย. 2018 ทว่าความยินดีนี้อยู่กับทั้งคู่ได้ไม่นาน

เดือน ธ.ค. 2017 นิตยสารรายสัปดาห์ Shukan Josei ตีแผ่ข่าวใหญ่ด้วยพาดหัวว่า “ช็อกราชวงศ์ญี่ปุ่น แม่โคมุโรเป็นหนี้อดีตคู่หมั้น” โดยมีรายละเอียดว่า อดีตคู่หมั้นของแม่ของโคมุโระอ้างว่าสองแม่ลูกไม่ยอมคืนเงินที่กู้ยืมไปราว 36,000 เหรียญสหรัฐ (เงินส่วนนี้ถูกนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนที่สหรัฐของโคมุโระด้วย)

ไม่นานหลังจากนั้นทั้งสื่อแทบลอยด์และสื่อหลักก็พากันขุดคุยชีวิตส่วนตัวของครอบครัวโคมุโระ ไม่ว่าจะเป็นข่าวเล็กน้อยแค่ไหนหรือข่าวลือใดๆ ล้วนได้พื้นที่สื่อ ไม่ว่าจะเป็นข่าวว่าโคมุโรเป็นกำกร้าตั้งแต่เด็กเพราะพ่อฆ่าตัวตาย ต่อมาไม่นานปู่ก็ฆ่าตัวตายเช่นกัน ไปจนถึงข่าวการใช้ชีวิตราวเพลย์บอยท่ามกลางสาวๆ หลายคนรวมถึงการเที่ยวกลางคืนขณะศึกษาที่สหรัฐ

โซเชียลมีเดียญี่ปุ่นก็ไม่เว้น บางคนอ้างว่าโคมุโระมีสายเลือดเกาหลี-ญี่ปุ่น ซึ่งเดิมทีคนญี่ปุ่นเชื้อสายเกาหลีถูกนำเข้ามาในญี่ปุ่นเพื่อเป็นแรงงานทาสและมักจะถูกดูถูก ถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนชายขอบไม่มีความสำคัญ

ข่าวฉาวเหล่านี้ส่งผลให้ในเดือน ก.พ. 2018 เจ้าหญิงมาโกะทรงประกาศเลื่อนพิธีเสกสมรสออกไปเป็นปี 2020 โดยระบุว่าเตรียมการไม่ทัน แต่ก็มีบางคนเชื่อว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับข่าวของฝ่ายชาย และอีกไม่กี่เดือนต่อมาเจ้าชายอากิชิโนะ พระบิดาของเจ้าหญิงมาโกะแถลงข่าวว่า จะไม่มีการจัดพิธีหมั้นจนกว่าโคมุโระจะจัดการปัญหาการเงินของตัวเองให้เรียบร้อย

ไม่เฉพาะสำนักพระราชวังเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วยกับการหมั้นของเจ้าหญิงมาโกะกับแฟนหนุ่มสามัญชน ชาวญี่ปุ่นก็มองว่าโคมุโระไม่เหมาะสมกับเจ้าหญิงของพวกเขา เพราะข้อพิพาทเกี่ยวกับการเงินของแม่ แม้ว่าภายหลังโคมุโระจะชี้แจงว่า เป็นเงินที่อดีตคู่หมั้นของแม่ให้เป็นของขวัญ ไม่ใช่เงินกู้ยืม และเขาจะจ่ายเงินคืน ชาวญี่ปุ่นก็ยังไม่ยอมปล่อย

ข่าวทำท่าว่าจะเงียบไปหลังจากโคมุโระเดินทางไปศึกษาต่อนิติศาสตร์ที่สหรัฐจนกระทั่งทีมงานทีวีของ FNN ของญี่ปุ่นเห็นโคมุโระเดินอยู่ที่ถนนสายหนึ่งของนิวยอร์กด้วยผมทรงใหม่ผิดหูผิดตาไปจากชายหนุ่มในมาดเนี้ยบเรียบร้อยเมื่อครั้งประกาศข่าวการหมั้น

หลังจากนั้นภาพผมหางม้าของโคมุโระที่ถ่ายมาแทบจะทุกมุมกล้องก็ถูกแชร์ในโลกโซเชียลมีเดียอย่างรวดเร็วราวไฟลามทุ่ง จนแฮชแท็ก “ผมหางม้า” ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ บรรดาสื่อแทบลอยด์และรายการทอล์กโชว์จึงเริ่มปฏิบัติการแซะโคมุโระอีกครั้ง ประเด็นหลักที่ถกเถียงกันคือ ผมหางม้าเหมาะกับคนที่จะเป็นคู่สมรสของสมาชิกราชวงศ์ญี่ปุ่นหรือไม่ เพราะถือเป็นการไม่ให้เกียรติ

และเมื่อโคมุโรเดินทางกลับมาจากสหรัฐถึงญี่ปุ่นเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ผมหางม้าของเจ้าตัวตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง คราวนี้แทบลอยด์พากันพาดหัวข่าวล้อเลียนทรงผมของว่าที่สามีของเจ้าหญิงมาโกะ อาทิ Nikkan Sports พาดหัวข่าวหน้าหนึ่งว่า “Ponite kikoku” หรือ การมาถึงของหางม้า อีกสื่อหนึ่งเรียกผมหางม้าของโคมุโระว่า “ชนมาเกะ” หรือทรงผมสมัยโบราณของซามูไร

นอกจากนี้ การตัดผมของโคมุโระซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่ใครๆ ก็ทำสามารถกลายเป็นเรื่องเป็นข่าวได้

ขณะที่โคมุโระกักตัวอยู่ที่บ้านหลังกลับจากสหรัฐ เขาให้ช่างตัดผมมาเล็มผมให้ที่บ้าน เรื่องนี้ย่อมไม่รอดพ้นสายตาของสื่อ หนังสือพิมพ์แทบลอยด์ช่วงค่ำ Nikkan Gendai รายงานทันควันว่า การให้ช่างมาตัดผมให้ที่บ้านอาจฝ่าฝืนกฎหมายร้านเสริมสวยของญี่ปุ่น

โธมัส บอดิเน็ตต์ อาจารย์ภาควิชาญี่ปุ่นศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม็คควอรีของออสเตรเลียมองว่า ความตื่นตระหนกของสื่อญี่ปุ่นต่อผมหางม้าของโคมุโระสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอนุรักษนิยมในสังคมญี่ปุ่น

ส่วนเรอินะ ซะกะงุชิ เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนอนุบาลในเมืองไซตะมะเผยว่า เธอต้องการเห็นเจ้าหญิงมาโกะและโคมุโระจบลงแบบแฮปปี้เอนดิง แต่หลังจากเห็นผมหางม้าของโคมุโระ แรงเชียร์ของเธอถูกความกังวลเข้ามาแทนที่ โดยบอกอีกว่าโคมุโระจะทำอะไรก็ได้หลังเสกสมรสและย้ายไปอยู่สหรัฐ แต่ในญี่ปุ่น “เขาควรทำตัวให้เหมาะสมซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในสังคมญี่ปุ่น”

แม้แต่ในวันที่ทั้งคู่จดทะเบียนสมรสกันแล้วก็ยังไม่วายมีเสียงวิจารณ์ตามมาเรื่องการไม่จัดพิธีต่างๆ ตามธรรมเนียมตามมาอีก หนังสือพิมพ์โยมิอุริชิมบุนให้ความเห็นว่า ถึงแม้เจ้าชายอากิชิโนะพระบิดาของเจ้าหญิงจะยินยอมให้ทั้งคู่แต่งงานกัน แต่การไม่จัดพิธีเสกสมรสก็แสดงว่าฝ่ายราชวงศ์จะไม่ติดต่อกับครอบครัวของโคมุโระอีก ไม่ต่างกับการ “หนีตามกันไป”

นอกจากนี้ ในการแถลงข่าวหลังจดทะเบียนสมรสที่สื่อทุกสำนักพากันถ่ายทอดสด มีอยู่สื่อหนึ่งที่นอกจากจะไม่ถ่ายทอดแล้ว ยังออกอากาศภาพยนตร์ล่าแวมไพร์เรื่อง Blade แทนตามผังเดิม นั่นคือ TV Tokyo และดูเหมือนว่าผู้ชมบางคนจะแฮปปี้กับ Blade มากกว่าข่าวของเจ้าหญิงมาโกะและสามี จากคอมเม้นต์เหล่านี้

“นี่คือ TV Tokyo ที่เรารู้จักและรัก”, “ฉันรักความมุ่งมั่นของ TV Tokyo”, “คนอื่นออกอากาศการแถลงข่าวกันหมด แถมยังวิเคราะห์พูดคุยกันสดๆ ร้อนๆ แต่ TV Tokyo เดินหน้าออกอากาศตามผังเดิม”, “พวกเขามีแนวทางของตัวเองจริงๆ ”

และเมื่อถูกถามว่ามีแผนจะออกอากาศการแถลงข่าวของเจ้าหญิงมาโกะไหม หรือจะมีรายการพิเศษวิเคราะห์ข่าวนี้ไหม อิจิโร อิชิคะวะ ประธานและซีอีโอของสถานี TV Tokyo เผยว่า “ผมไม่เข้าใจจริงๆ ว่าทำไมหลายๆ คนสนใจเรื่องนี้นัก...เราจะทำข่าวนี้ในรายการข่าวตามปกติของเรา ผมขอให้มาโกะซังและโคมุโระซังใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข เท่านั้นแหละ”

ทั้งนี้ เจ้าหญิงมาโกะต้องเผชิญแรงกดดันและความเครียดจากข่าวของโคมุโระจนมีอาการ PTSD หรืออาการผิดปกติทางจิตใจหลังจากประสบสถานการณ์รุนแรง โดย สึโยชิ อากิยะมะ แพทย์ที่วินิจฉัยอาการของเจ้าหญิงมาโกะเผยว่า เจ้าหญิงทรงอยู่ภายใต้เหตุการณ์ที่ทรงมองว่าเป็นการใส่ร้ายพระองค์และครอบครัว รวมทั้งว่าที่สามีและครอบครัวซ้ำแล้วซ้ำเล่า และพระองค์ไม่สามารถหนีออกจากเรื่องพวกนี้ได้

กรณีนี้จึงถูกนำไปเปรียบเทียบกับชีวิตของจักรพรรดินีมาซาโกะ พระปิตุจฉา (ป้า) ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับอาการป่วยที่เกี่ยวเนื่องกับความเครียดซึ่งทางสำนักพระราชวังระบุว่าเป็นภาวะการปรับตัวผิดปกติ (adjustment disorder) จนต้องเก็บตัวจากสาธารณชนมาเป็นสิบปี เนื่องจากถูกกดดันเรื่องการมีทายาทผู้ชาย

เช่นเดียวกับสมเด็จพระจักรพรรดินีพระพันปีหลวงมิชิโกะที่ต้องทนทุกข์กับพิธีรีตองของราชสำนักญี่ปุ่นและการถูกเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังบุลลี่จนมีอาการวิตกกังวลมากจนล้มป่วยและไม่สามารถพูดได้ชั่วคราว

หลายฝ่ายมองว่าการที่เจ้าหญิงมาโกะตัดสินใจเป็นสมาชิกราชวงศ์คนแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลอาจเป็นการบอกเป็นนัยๆ ถึงการตัดขาดจากราชวงศ์ญี่ปุ่น แม้จะต้องย้ายมาอยู่ในอพาร์ทเม้นต์ขนาด 1 ห้องนอนในนิวยอร์กในฐานะหญิงสามัญชน แต่ก็น่าจะสบายใจกว่าที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้กรอบประเพณีที่เคร่งครัดของราชวงศ์ญี่ปุ่น

Photo by Nicolas Datiche / POOL / AFP