posttoday

เบื้องหลัง "กินเจ" อย่างจีน ประวัติศาสตร์การกินผักเอาบุญ

11 ตุลาคม 2564

การกินเจที่นิยมกันในเมืองไทยนั้น แน่นอนว่ารับอิทธิพลมาจากความเชื่อของชาวจีน แต่มันมีที่มาอย่างไร บทความนี้จะเป็นการสำรวจประวัติศาสตร์ในแง่มุมหนึ่งของการกินเจ จากแง่มุมหลายด้านของประวัติศาสตร์เรื่องนี้

กินเจอย่างจีนที่ว่านี้ไม่เหมือนกินเจที่บ้านเรา โดยเฉพาะที่ภูเก็ต ซึ่งเกี่ยวกับศาสนาเต๋า ศาสนาท้องถิ่น ที่เรียกว่า ลัทธิกินผัก (ภาษาจีนเรียกว่า "ไจเจี้ยว") เช่นลัทธิเซียนเทียนเต้า ในที่นี้จะเน้นอธิบายการกินเจดั้งเดิม และที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา ซึ่งแต่เดิมเรียกรวมๆ กันว่า "ไจเจี้ย" (ศีลของการกินผัก)

ไจเจี้ย ไม่ได้หมายถึงการกินผักอย่างเดียว แต่หมายถึงการปฏิบัติเนกขัมมะ เพื่อชำระกายใจให้บริสุทธิ์ เพื่อบวงสรวงฟ้าดิน เหตุบวงสรวงก็เพื่อจะครองราชย์สมบัติบ้าง เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินแก้บนบ้าง (เช่น หวางหมั่ง แห่งราชวงศ์ซิน กินเจทุกครั้งที่เกิดอุทกภัย-ทุพภิกขภัย) การทำไจเจี้ย จะมีทั้งการกินผัก และจัดของถวายฟ้าดิน ล้วนแต่ปลอดเนื้อสัตว์ แต่การทำไจเจี้ยไม่ใช่แค่ใช้ปากกินผักแล้วจะสะอาด ผัสสะอื่นต้องต้องสำรวมไปด้วย คือ กายไม่ข้องแวะสิ่งชั่วร้าย หูไม่ฟังดนตรี ใจไม่วอกแวก

ดังนั้น เรียกว่า "ถือศีล กินผัก" ก็นับว่าถูกต้องแล้ว เพียงแต่ "ศีล" (ภาษาจีนว่า "เจี้ย") ตัวนี้ไม่ใช่ศีลในพุทธศาสนา

กลุ่มคนที่จะทำไจเจี้ย จึงมักเป็นพวกเจ้านาย และนักพรต นักปราชญ์ ชาวบ้านนั้นโดยทั่วไปก็แทบไม่มีเนื้อกินกันอยู่แล้ว ในคัมภีร์จวงจื่อ มีตอนหนึ่งเล่าว่า เหยียนหุย ศิษย์เอกของขงจื๊อยากจนมากไม่มีโอกาสกินเนื้อ ไม่มีสุราดื่ม ได้แต่กินผัก คนถามขงจื๊อว่า อย่างนี้แล้ว เหยียนหุยถือว่ากายใจบริสุทธิ์หรือไม่ ขงจื๊อบอกว่า สิ่งที่เหยียนหุยทำเป็นแค่การถือศีลกินเจแค่รูปแบบ แต่ใจไม่เจ

หมายความว่า สักแต่ว่ากินผัก แต่ใจไม่ถือเนกขัมมะก็ได้แค่อิ่มท้องแบบเบาๆ

จะเห็นได้ว่า แต่เดิมไจเจี้ย ไม่เกี่ยวอะไรกับศาสนาพุทธเลย แต่เกี่ยวกับความเชื่อโบราณของจีน ค่อนไปทางสำนักหญู หรือลัทธิขงจื๊อมากกว่า ต่อมาพวกนักพรตศาสนาเต๋านิยมกัน ถือเป็นรากฐานของศาสนา และยังช่วยเกื้อหนุนการฝึกพลังภายใน และต่อมาเมื่อศาสนาพุทธแพร่เข้ามา พระสงฆ์ต้องคล้อยตามธรรมเนียมจีน ด้วยการหันมากินผัก หาไม่แล้วจะถูกมองว่าไม่บริสุทธิ์ เข้าทำนองมือถือสาก ปากถือศีล

ศาสนาพุทธในจีนเริ่มกินเจเมื่อไหร่ไม่ทราบชัด ย้อนกลับไปในบันทึกเดินทางไปชมพูทวีปของพระฝาเสี่ยน เมื่อประมาณปีค.ศ. 399 - 414 บันทึกว่า ในมัชฌิมเทศะ (คือแคว้นมคธ กาสี ฯลฯ แถบที่พุทธศาสนารุ่งเรือง) ผู้คนไม่ฆ่าสัตว์กินเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่กินหอมกระเทียม มีแต่คนจัณฑาลเท่านั้นที่กิน และยังไม่มีเนื้อหมู เนื้อไก่ ขายวัวควาย ไม่มีคนแล่เนื้อ มีแต่คนจัณฑาลเท่านั้นที่ตกปลาล่าสัตว์ป่า

ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าในแถบที่พุทธศาสนารุ่งเรือง ผู้คนไม่กินเนื้อสัตว์ คณะสงฆ์ในสมัยพุทธกาลก็น่าจะฉันผักเป็นหลัก เพียงแต่ศาสนาพุทธโปรดทุกชนชั้น เมื่อชนชั้นล่างที่กินเนื้อแสวงหาบุญด้วยการใส่บาตรด้วยเนื้อ พระสงฆ์ก็ต้องฉันโดยไม่บ่ายเบี่ยง

เมื่อพระฝาเสี่ยนกลับมายังจีนได้แปลมหาปรินิรวาณสูตร พระสูตรฝ่ายมหาสางฆิกะ ซึ่งมีข้อกำหนดว่าด้วยการกินมังสวิรัติ นับแต่นั้นการกินเจแบบพุทธก็เริ่มแพร่หลาย กอปรกับการกินเจเป็นไฟต์บังคับของบรรพชิตไปแล้วเพราะอาจถูกกล่าวหาว่า "มือถือสาก ปากถือศีล" สอนเรื่องเมตตาการุณแต่ยังกินเนื้อ

เพียงแต่ในพุทธศาสนาการกินเจต้องถือศีลแบบพุทธไปด้วย คือศีล 8 มีกำหนดเวลาเป็นช่วงๆ ว่า จะกินกี่วัน เช่น 6 วัน (ลิ่วไจ) หรือกินยะยะยาว (ฉางไจ) ข้อหลังมักนิยมกันในหมู่ผู้ถือศีลโพธิสัตว์ เช่น พระเจ้าซ่งหมิงตี้ แห่งราชวงศ์หลิวซ่ง (ค.ศ. 465 - 472) ทรงบวชเป็นโพธิสัตว์ รับสั่งให้ถือศีลกินผักทั้งราชสำนัก

อย่างไรก็ตาม ในหมู่พระสงฆ์จีนยุคนั้นก็ยังมีที่ฉันเนื้อบ้าง ฉันผักบ้างไม่เคร่งครัดนัก

กระทั่งในปีค.ศ. 507 พระเจ้าเหลียงอู่ตี้ มหาอุบาสกแห่งราชวงศ์เหลียง ทรงเป็นพุทธมามกะองค์สำคัญ ทรงบวชรับศีลโพธิสัตว์ ทรงมีศรัทธายิ่งยวดจนสละบัลลังก์ออกบวชมาแล้ว ร้อนถึงราชสำนักต้องนำข้าวของเงินทองไปไถ่พระองค์คืนสู่ทางโลก ทรงสั่งให้ถวายเครื่องบูชาบูรพกษัตริย์ด้วยของเจทั้งสิ้น

เมื่อมีพวกบัณฑิตสำนักหญูที่ชิงชังพุทธโต้แย้ง ก็ทรงอ้างว่าแต่โบราณก็ถวายของเจ คือการ ไจเจี้ย ไม่เกี่ยวกับพุทธ ด้วยเหตุนี้จึงทรงส่งเสริมการกินเจในพุทธจักรอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ทรงรจนาข้อเขียนเรื่องคุณแห่งการกินมังสวิรัติ แล้วจัดประชุมคณะสงฆ์กำหนดให้กินเจ พระสงฆ์จีนจึงเริ่มกินเจอย่างเป็นระบบระเบียบก็ตั้งแต่ยุคนี้เอง

ส่วนที่กินเจในบ้านเรานี้ ได้รับอิทธิพลของศาสนาเต๋า ศาสนาท้องถิ่น และความเชื่อของจีนโบราณ มีพุทธอยู่บ้าง จุดประสงค์นั้นมีทั้งกินเพื่อชำระกายใจ กินเพื่อบูชาเทพเจ้า และกินเพราะเมตตาการุณสัตว์โลก ยังไม่นับที่กินตามๆ กันโดยไม่รู้จุดประสงค์ที่แท้จริงอีกมากมาย แต่กินเจนี้มีประโยชน์ ใครศรัทธาก็ได้จิตศรัทธา ใครกินเพราะสงสารสัตว์โลกก็ได้กุศล ใครกินโดยไม่รู้ก็ได้ผลเรื่องสุขภาพ

ส่วนกระแสเหยียดหยามการกินเจนั้น มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง พร้อมกับการเข้ามาของฝรั่ง ศาสนาคริสต์และวิทยาการสมัยใหม่ การต่อต้านเกิดขึ้นก็เพื่อชักจูงชาวจีนที่นิยมกินผักเพื่อเอาบุญให้มานับถือศาสนาคริสต์และแนวคิดสมัยใหม่แบบตะวันตกที่กินเนื้อโดยปกติ กระแสต้านเจนี้กลายเป็นความขัดแย้งรุนแรง

กระทั่งเกิดลัทธิกินเจต่อต้านฝรั่งมิชชันนารี ที่มณฑลฝูเจี้ยน กลายเป็นเหตุการณ์สังหารหมู่ ที่อำเภอกู่เถียน เมื่อปี 1895

โดย กรกิจ ดิษฐาน

REUTERS/Wong Campion