posttoday

ฮือฮาหินประหลาดรอยตัดเรียบกริบราวกับฝีมือเอเลี่ยน

09 ตุลาคม 2564

หินก้อนใหญ่กลางทะเลทรายในซาอุดีอาระเบียสร้างความฮือฮาและความสงสัยในโลกออนไลน์ว่าเป็นฝีมือของเอเลี่ยนหรือไม่

เมื่อเร็วๆ นี้ภาพหินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งที่เรียกว่าหินอัล นาสลา (Al Naslaa) ซึ่งตั้งอยู่กลางโอเอซิสเทย์มา (Tayma) ของซาอุดีอาระเบียสร้างความฮือฮาให้ชาวโลก เพราะรอยตัดที่แบ่งหินออกเป็นสองก้อนเป็นเส้นตรงเรียบกริบสวยงามราวกับถูกตัดด้วยเลเซอร์

ผู้คนในโลกออนไลน์พากันตั้งคำถามถึงที่มาที่ไปของรอยตัดบนก้อนหินนี้ โดยคำตอบแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายชัดเจน

ฝ่ายแรกมองว่าเป็นฝีมือของมนุษย์ต่างดาวที่มาเยือนโลกในอดีต อาทิ ผู้ใช้ Reddit ชื่อ El_Hombre_Siniestro บอกว่า “ไม่ได้บอกว่ามันเป็นเอเลี่ยนหรอกนะ แต่มันคือเอเลี่ยน” ซึ่งผู้ใช้ชื่อ Mrkim420 เข้ามาแสดงความเห็นด้วยโดยบอกว่า “เอเลี่ยนแน่นอน”

ผู้ใช้รายหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่ารอยตัดนี้เกิดจากมนุษย์ต่างดาวบังเอิญปล่อยแสงเลเซอร์ลงมาที่ดาวเคราะห์ที่พวกเขาพบจึงตัดแบ่งหินออกเป็นสองก้อน

อีกทฤษฎีหนึ่งบอกว่าอารยธรรมโบราณมีความล้ำกว่าที่เราคาดไว้ โดยในคลิปของ YouTube คลิปหนึ่งคาดเดาว่าหินอัล นาสลาเป็นหลักฐานของความไฮเทคในยุคแรก เช่นเดียวกับผู้ใช้ชื่อ Ricopantalones ที่บอกว่า “ทำไมถึงคิดว่าเป็นเอเลี่ยนล่ะ มีหลักฐานกองเท่าภูเขาบ่งบอกว่าเทคโนโลยีในสมัยโบราณมีความล้ำกว่าที่เราคิดไว้ซะอีก เราไม่ได้อยู่ในยุคเทคโนโลยีล้ำสมัยยุคแรกนะ เราอาจจะเป็นยุคที่สองก็ได้”

อีกกลุ่มหนึ่งเปรียบเทียบหินสองก้อนนี้กับพีระมิดของยุคอียิปต์โบราณ อาทิ ผู้ใช้ชื่อ NicholasPileggi บอกว่ารอยแยกของหินที่ซาอุดีอาระเบียถูกตัดในลักษณะเดียวกับการตัดก้อนหินมาทำพีระมิด ซึ่งก็คือการใช้เชือกและทราย

ความเห็นอีกฝั่งหนึ่งมาจากนักวิชาการ อาทิ เชอร์รี่ ลูอิส นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยบริสทอล เผยกับ MailOnline ว่า อาจเป็นผลงานของธรรมชาติ

“มัน (รอยตัด) อาจเกิดขึ้นจากกระบวนการที่เรียกว่า การผุกร่อนแบบ freeze-thaw ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อน้ำซึมเข้าไปในรอยแตกเล็กๆ ของก้อนหิน และเมื่ออุณหภูมิลดลงน้ำเหล่านั้นก็แข็งและขยายตัวซึ่งทำให้รอยแตกของหินกว้างขึ้นและยาวขึ้น และเมื่อน้ำแข็งละลาย น้ำก็จะซึมลงไปในรอยแตกของหินลึกขึ้นๆ เมื่อกระบวนการนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ นับพันหรืออาจเป็นล้านปี หินจะแยกจากกันในที่สุด กระบวนการนี้เมื่อรวมกับการพังทลายที่เกิดจากลม ซึ่งในสภาพแวดล้อมทะเลทายก็เหมือนกับเครื่องพ่นทราย ก็สามารถอธิบายได้ว่าทำไมหินจึงตั้งอยู่ในลักษณะนี้” ลูอิสเผย

เธอยังเผยอีกว่า ปรากฏการณ์เครื่องพ่นทรายอาจทำให้พื้นผิวหน้าของหินเรียบขึ้นเมื่อรวมกับกระแสลมประจำปี

ลูอิสยังเห็นด้วยกับทฤษฎีที่ว่ารอยตัดดังกล่าวเกิดจากฝีมือมนุษย์ โดยบอกว่า “เนื่องจากอารยธรรมในอดีตได้สร้างสโตนเฮนจ์และประติมากรรมหินบนเกาะอีสเตอร์ด้วยเครื่องมือพื้นฐานที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่มันจะเกิดจากน้ำมือมนุษย์”

แต่สุดท้ายเธอสรุปว่า “ตอนแรกดูเหมือนว่ารอยแตกเกิดจากฝีมือมนุษย์ รวมทั้งพื้นผิวที่เรียบกริบด้วย แต่ฉันได้เห็นรูปที่มีรอยแตกขนานกันด้านหลัง ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าเกิดจากธรรมชาติ”

ด้าน ทิม เรสตัน นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมมองว่า รอยตัดดังกล่าวเกิดจากสองปรากฏการณ์ร่วมกันคือ รอยแตกตามธรรมชาติของหินซึ่งมักจะเกิดขึ้นจากการปลดปล่อยแรงดันและการขยายตัว ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อชั้นหินก่อตัวอย่างต่อเนื่อง จากนั้นก็ถูกสภาพแวดล้อมรอบๆ กัดกร่อน

ทั้งนี้ หินก้อนดังกล่าวเกิดจากหินทราย สูง 30 ฟุต กว้าง 25 ฟุต และมีรูปสลักที่ดูเหมือนผู้ชายนั่งอยู่บนหลังม้า และกลายเป็นจุดถ่ายรูปยอดนิยมของนักท่องเที่ยวที่ไปเยือน โดยพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งใช้เวลาขับรถจากกรุงริยาดราว 8 ชั่วโมง

ภาพ: saudi-archaeology.com