posttoday

การกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ของ Merck หลังล้มเหลวกับวัคซีน

04 ตุลาคม 2564

เมื่อยักษ์ใหญ่อย่าง Merck กลับมาทวงบัลลังก์หลังยอมหลีกทางให้ผู้ผลิตวัคซีนโควิดมานาน

ก่อนหน้านี้ยักษ์ใหญ่ด้านเภสัชกรรมจากอเมริกาอย่าง Merck ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1891 ดำเนินธุรกิจวัคซีนมายาวนานกว่า 100 ปี และเป็นแถวหน้าในการต่อสู้กับโรคระบาดมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นโรคอีโบลา เอชไอวี ไปจนถึงโรคพยาธิตาบอด ถูกมองว่าตกขบวนเมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว

ขณะที่หลายบริษัทไม่ว่าจะเป็น Pfizer, BioNTech, Moderna, Eli Lilly, Johnson & Johnson, AstraZeneca, Sinovac, Sinopharm และอีกหลายบริษัทและหน่วยงานจากทั่วโลกต่างตบเท้าเข้ามามีส่วนในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่กลับไร้เงายักษ์ใหญ่อย่าง Merck

ส่อแววถูกโค่น

เมื่อเดือนก.พ. ที่ผ่านมา บิล เดอ บลาซิโอ นายกเทศมนตรีแห่งนครนิวยอร์กกล่าวว่า "Merck พยายามพัฒนาวัคซีนแต่ไม่สำเร็จ และตอนนี้กำลังวางแผนไปผลิตยาประเภทอื่น ซึ่งผมไม่เห็นด้วยนะ Merck ควรผลิตวัคซีนที่พวกเขากำลังประสบปัญหาขาดแคลนอยู่ในขณะนี้"

ในตอนนั้น รัฐบาลสหรัฐได้พิจารณาขอความช่วยเหลือจาก Merck ในการร่วมผลิตวัคซีนที่พัฒนาโดย Pfizer และ Johnson & Johnson ซึ่ง Merck เองก็กำลังพิจารณาทางเลือกต่างๆ ทั้งในสหรัฐและทั่วโลก

สำหรับสหรัฐมันอาจช่วยเพิ่มปริมาณวัคซีนให้มีเพียงพอถึงช่วงปลายปีนี้ หรือเพียงพอสำหรับใช้เป็นบูสเตอร์ แต่สำหรับประเทศอื่นที่ขาดแคลนวัคซีนแล้ว การสนับสนุนจาก Merck มีความสำคัญมากกว่านั้น

แต่ก็ยังไร้วี่แววว่า Merck จะเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตวัคซีน นั่นทำให้บริษัทซึ่งเคยสร้างรายได้จากวัคซีนกว่า 8,300 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020 ต้องหลีกทางให้กับ Pfizer และอดีตสตาร์ทอัพอย่าง Moderna ซึ่งพัฒนาวัคซีนโควิดโดยใช้เทคโนโลยี mRNA เป็นรายแรก และยังพบว่ามีประสิทธิภาพสูงทีเดียว

ตั้งแต่นั้นมา บรรดาผู้ผลิตวัคซีนจากหลากหลายประเทศทะยอยเปิดเผยผลการทดลองวัคซีนต้านโควิด-19 ของตัวเองออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนจับตามองว่า Merck จะทำอย่างไรต่อไป

เลือกเดินหน้าผลิตยาเม็ด

ในเดือนมี.ค. มีรายงานว่า Merck กำลังพัฒนายาเม็ดสำหรับต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ในชื่อโมลนูพิราเวียร์ (molnupiravir) ซึ่งเรียกเสียงฮือฮาอย่างมาก เนื่องจากตอนนั้นทุกคนกำลังโฟกัสอยู่กับวัคซีน จึงเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งเนื่องจากยังไม่มีการค้นพบยารักษาโรคโควิด-19 มาก่อน

พร้อมเปิดเผยผลการทดลองในระยะที่ 2 จากจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 202 รายที่มีอาการไม่รุนแรงและยังไม่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาจริงครบโดสอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 วันมีปริมาณเชื้อไวรัสลดลงอย่างมีนัยสำคัญโดยไม่มีผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ใดๆ และยังไม่พบปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ยา

หลายเดือนต่อมา Merck ยังคงเดินหน้าทดลองยาเม็ดอย่างเงียบๆ และปล่อยให้ผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นๆ กอบโกยรายได้กันอย่างเต็มที่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายพันธุ์เดลตาซึ่งส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ส่งผลให้หลายประเทศต้องการวัคซีนเพิ่มจำนวนมากเพื่อใช้เป็นบูสเตอร์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ขณะที่โลกยังคงประสบปัญาขาดแคลนวัคซีน

กลับมาทวงบัลลังก์

เมื่อปลายเดือนที่แล้วจนถึงตอนนี้ Merck กลับมาได้รับความสนใจจากทั่วโลกอีกครั้ง หลังจากที่ออกมาเปิดเผยความคืบหน้าในการทดลองยาเม็ดโมลนูพิราเวียร์ ว่ามีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสได้ทุกสายพันธุ์ รวมถึงสายพันธฺุ์เดลตา ท่ามกลางการจับตามองว่านี่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของโลกในการต่อสู้กับโควิด-19

โดยเจย์ โกรเบลอร์ หัวหน้าฝ่ายโรคติดเชื้อและวัคซีนของ Merck เผยว่ายาเม็ดดังกล่าวแตกต่างจากวัคซีนโควิด-19 ทั่วไปตรงที่ไม่ได้กำหนดเป้าหมายไปที่โปรตีนหนาม (spike protein) ของไวรัส ซึ่งเป็นตัวกำหนดสายพันธุ์ของไวรัส จึงมีแนวโน้มว่าจะสามารถยับยั้งโควิด-19 ได้แม้ว่าจะมีการกลายพันธุ์

พร้อมเผยผลการทดลองทางคลินิกว่าสามารถลดอาการป่วยที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลและอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตจาก Covid-19 ได้ครึ่งหนึ่ง

ส่งผลให้ราคาหุ้นของ Merck ทะยานขึ้นมาอีกครั้งอย่างรวดเร็วโดยขณะนี้อยู่ที่ 81.40 เหรียญสหรัฐ สวนทางกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนหลายแห่งที่ร่วงลงเพราะข่าวดีจาก Merck

โดยหุ้นของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่อย่าง BioNTech และ Moderna ซึ่งจดทะเบียนในตลาดนิวยอร์กร่วงลงในช่วงปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1 ต.ค.) ที่ผ่านมา

ขณะที่หุ้นของบริษัท Shanghai Fosun Pharmaceutical Group ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายวัคซีนของ Pfizer/BioNTech ในจีนแผ่นดินใหญ่ทรุดตัวลงมากถึง 21% ในตลาดฮ่องกงเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (4 ต.ค.)

ด้านบริษัท JCR Pharmaceuticals จากญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนร่วมกับ AstraZeneca และ หุ้นของ Fujifilm Holdings ซึ่งผลิตชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก็ร่วงลง 5% ในตลาดหุ้นโตเกียว

สำหรับ CSPC Pharmaceutical Group และ Wuxi Biologics (Cayman) บริษัทยาและเวชภัณฑ์ยักษ์ใหญ่จากประเทศจีนก็ดิ่งลงกว่า 7% เช่นกัน

ไมเคิล ยี ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพมองว่า ผู้คนจะกลัวโควิด-19 น้อยลงและไม่ต้องการวัคซีน เมื่อมียาเม็ดที่สามารถรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และใช้งานได้อย่างสะดวก

นอกจาก Merck แล้วยังมียาต้านโควิด-19 ชนิดเม็ด PF-07321332 จากบริษัท Pfizer ของสหรัฐ และ AT-527 จาก Roche Holding AG บริษัทเวชภัณฑ์สัญชาติสวิส ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการทดลองระยะที่ 3 เช่นเดียวกัน ท่ามกลางการจับตามองว่า

บริษัทใดจะสามารถพัฒนายาเม็ดรักษาโควิด-19 ได้สำเร็จเป็นเจ้าแรกของโลก

ที่มา: Bloomberg, Reuters, The New York Times

ภาพโดย: Kena Betancur / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / AFP