posttoday

AUKUS จะส่งผลกระทบต่ออาเซียนอย่างไร?

17 กันยายน 2564

อินโด-แปซิฟิกร้อนระอุ เมื่อสหรัฐ-สหราชอาณาจักร-ออสเตรเลียผนึกกำลังคานอำนาจจีน

สนธิสัญญา AUKUS ซึ่งเป็นความตกลงด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกระหว่างสหรัฐ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ถูกระบุว่าทำขึ้นเพื่อส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ขณะที่หลายฝ่ายมองว่าเป้าหมายหลักอาจเป็นการคานอำนาจกับจีนซึ่งกำลังมีอิทธิพลในภูมิภาคดังกล่าว

Sam Roggeveen จากสถาบันโลวี (Lowy Institute) สถาบันวิจัยของออสเตรเลียชี้ว่าก่อนหน้านี้มีการตั้งคำถามว่าจะเกิดสงครามเย็นครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐและจีนจริงหรือไม่ และความเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดนี้อาจเป็นคำตอบ

โดย AUKUS จะส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีทางทหาร, ปัญญาประดิษฐ์ (AI), ควอนตัม และความมั่นคงด้านไซเบอร์ระหว่างทั้งสามประเทศ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าถือเป็นความร่วมมือทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดของทั้งสามประเทศในรอบหลายสิบปี

นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่หลายฝ่ายกำลังจับตามองคือ ความร่วมมือดังกล่าวจะส่งผลให้ออสเตรเลียสามารถสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นเป็นครั้งแรก และกลายเป็นประเทศที่ 7 ของโลกนอกเหนือจากสหรัฐ, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, จีน และอินเดีย ที่มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์เป็นของตัวเอง

ทั้งนี้ AUKUS จะมีผลบังคับใช้ในอีก 18 เดือนข้างหน้า โดยออสเตรเลียตั้งใจจะสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ถึง 8 ลำซึ่งจะได้รับความร่วมมือจากสหรัฐและสหราชอาณาจักร แต่ยืนยันว่าจะไม่ติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในเรือดำน้ำ

ขณะที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่าการช่วยเหลือออสเตรเลียในครั้งนี้ สหรัฐอาจคาดหวังให้ออสเตรเลียมีส่วนร่วมอย่างมากในการต่อกรกับจีนในอนาคต

ขณะเดียวกัน AUKUS มีแนวโน้มที่จะมีนัยสำคัญต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน ส่งผลให้บรรดาประเทศในภูมิภาคอาจเกิดความกังวลไม่เห็นด้วยกับความร่วมมือดังกล่าว

โดยกระทรวงการต่างประเทศออกแถลงการณ์ในวันนี้ (17 ก.ย.) ระบุว่า "อินโดนีเซียมีความกังวลอย่างยิ่งต่อการแข่งขันด้านอาวุธในภูมิภาคนี้" พร้อมกล่าวว่ากำลังจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเรียกร้องให้ออสเตรเลียรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค ตลอดจนเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ

แต่เป็นไปได้ว่าบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังเผชิญกับอำนาจทางทหารของจีนที่กำลังเติบโตในทะเลจีนใต้จะได้รับผลประโยชน์จาก AUKUS เพราะหลังจากนี้มันอาจช่วยขัดขวางท่าทีที่คุกคามของจีนในทะเลจีนใต้

ในทางกลับกันชาติอาเซียนอาจเกิดความไม่สบายใจจากการเคลื่อนไหวใดๆ ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งในภูมิภาค เพราะแม้ว่า AUKUS อาจช่วยยับยั้งภัยคุกคามทางทหารจากจีน แต่ก็อาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้เช่นกัน

ซึ่งผลกระทบจะตกมาอยู่ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอินโด-แปซิฟิก

ท่ามกลางความตึงเครียดบนพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ที่ร้อนระอุ โดยกองทัพเรืออินโดนีเซียเผยว่าได้เพิ่มเรือลาดตระเวนรอบหมู่เกาะนาทูนาในสัปดาห์นี้หลังพบเรือของจีนและสหรัฐในน่านน้ำของประเทศ

ขณะที่หลายประเทศพยายามต่อต้านการอ้างสิทธิ์ทางทะเลของจีน รวมถึงประเทศพิพาทอย่างบรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไต้หวัน ด้านบรรดาชาติตะวันตกก็กำลังกังวลต่ออิทธิพลของจีนที่กำลังแผ่ขยายไปทั่วภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

ด้านรัฐบาลจีนก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวกับความร่วมมือดังกล่าวแล้วโดยระบุว่าเป็นภัยคุกคามอย่างยิ่งต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการแข่งขันด้านอาวุธอีกด้วย

ขณะที่การยื่นคำร้องเพื่อสมัครเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของจีนซึ่งเกิดขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจากที่มีการประกาศเกี่ยวกับ AUKUS นั้นเป็นการตอกย้ำถึงความบาดหมางของสหรัฐและจีนท่ามกลางการแข่งขันระหว่างทั้งสองในภูมิภาคเอเชีย

ที่มา Reuters, The Diplomat

ภาพโดย Brendan Smialowski / AFP