posttoday

เดลตาดับฝันแนวทาง ‘สิงคโปร์อยู่ร่วมกับโควิด’

11 กันยายน 2564

แม้ว่าสิงคโปร์จะฉีดวัคซีนครอบคลุม 80% แล้ว แต่เดลตายังทำให้ตัวเลขติดเชื้อพุ่งไม่หยุด จนอาจต้องกลับไปล็อกดาวน์อีกครั้ง

ตัวเลขผู้ติดเชื้อของสิงคโปร์พุ่งสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี โดยวานนี้ (10 ก.ย.) พบผู้ติดเชื้อ 568 คน จากที่เมื่อช่วง 2 สัปดาห์ก่อนตัวเลยยังไม่แตะหลักร้อย ทางการจึงส่งสัญญาณว่าอาจจะต้องงัดมาตรการสกัด Covid-19 กลับมาใช้อีกครั้งหากยังคุมเดลตาไม่อยู่ ส่อเค้าว่าแนวทาง “อยู่ร่วมกับ Covid-19” จะสะดุด

ลอว์เรนซ์ หว่อง หัวหน้าทีมรับมือ Covid-19 ของสิงคโปร์เผยว่า สิ่งที่รัฐบาลสิงคโปร์กังวลตอนนี้ไม่ใช่แค่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอัตราการแพร่กระจายของเดลตาด้วย “เราเห็นตัวอย่างจากประเทศอื่นว่า เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น ผู้ป่วยที่ต้องเข้าไอซียูและผู้เสียชีวิตจะเพิ่มตาม”

สิงคโปร์เพิ่งปรับเปลี่ยนนโยบายจากการคุม Covid-19 ให้เป็นศูนย์โดยใช้มาตรการที่เข็มงวดอย่างการปิดร้านอาหาร หรือปิดประเทศ มาสู่การอยู่ร่วมกับไวรัส โดยจะเน้นที่การควบคุมการแพร่ระบาดด้วยการฉีดวัคซีนและเฝ้าจับตาจำนวนผู้ที่ต้องเข้าโรงพยาบาล แทนการจำกัดการใช้ชีวิตของประชาชน

แต่การระบาดระลอกล่าสุดที่เกิดจากสายพันธุ์เดลตาแม้ว่าจะฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมประชากรกว่า 80% ซึ่งสูงที่สุดประเทศหนึ่งของโลก กำลังท้าทายสิงคโปร์ว่าในที่สุดแล้วจะอยู่ร่วมกับ Covid-19 ได้ตามแผนหรือไม่

วันที่ 26 ก.ค. สิงคโปร์ประกาศแนวทางการอยู่ร่วมกับ Covid-19 ว่าอาจยกเลิกมาตรการสกุดการระบาดหากสิงคโปร์ทำให้ Covid-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นได้ ซึ่งหมายความว่าจะต้องฉีดวัคซีนในอัตราสูง บวกกับต้องมีตัวเลบผู้ป่วยหนักจาก Covid-19 ต่ำ แม้ว่าจะพบคลัสเตอร์อีกหลายครั้งก็ตาม

จากนั้นวันที่ 10 ส.ค. สิงคโปร์เข้าสู่ “ขั้นตอนการเตรียมพร้อม” โดยเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เช่น ให้รวมตัวกันได้ 5 คนจาก 2 คน อนุญาตให้คนที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วนั่งทานอาหารในร้ายได้ 5 คน เพิ่มจำนวนคนเข้าร่วมอีเว้นต์ และมีแผนเข้าสู่ “ขั้นเปลี่ยนผ่าน เอ” ซึ่งจะเปิดเศรษฐกิจ กิจกรรมทางสังคม และการเดินทางเพิ่มเติม ในเดือน ก.ย.

ทว่า สุดท้ายสิงคโปร์ยังไม่สามารถเดินหน้าไปสู่ขั้นตอนเปลี่ยนผ่าน เอ ได้ เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้น และพบคลัสเตอร์ใหม่เสียก่อน ทางการจึงยังไม่ยกเลิกมาตรการสกัดการแพร่ระบาด

วันที่ 6 ก.ย. กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ขอความร่วมมือประชาชนจำกัดการพบปะทางสังคมเหลือวันละ 1 ครั้ง รวมทั้งห้ามมีปฏิสัมพันธ์ในที่ทำงาน เพิ่มความถี่การตรวจโรคคนทำงานจากทุก 2 สัปดาห์ เป็นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และเพิ่มประเภทแรงงานที่ต้องตรวจโรคให้ครอบคลุมพนักงานค้าปลีก พนักงานส่งของ และเจ้าหน้าที่ขนส่งสาธารณะด้วย และยังไม่ตัดความเป็นไปได้ว่าจะกลับไปใช้มาตรการเฝ้าระวังเข้มงวด

มาตรการคุมเข้มนี้ก่อให้เกิดการถกเถียงในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญว่า สิงคโปร์ควร “กล้า” มากกว่านี้หรือไม่ เนื่องจากเป็นหนึ่งในประเทศที่ฉีดวัคซีนสูงที่สุดในโลก

Eng Eong Ooi ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจาก Duke-NUS Medical School เผยว่า “มันต้องมีการลองผิดลองถูกบ้าง แต่ผมคิดว่าอัตราการฉีดวัคซีนของสิงคโปร์ขณะนี้เปิดทางให้เรากล้าที่จะเดินไปข้างหน้า”

ขณะที่บางรายตั้งคำถามถึงการตรวจหาเชื้ออย่างเข้มงวดในขณะที่ 81% ของประชากรราว 5.7  ล้านคนฉีดวัคซีนครบโดสแล้วและเคสที่ตรวจพบการติดเชื้อในขณะนี้ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ

สิงคโปร์ไม่ใช่ปรดะเทศเดียวที่เปลี่ยนนโยบายจากการล็อกดาวน์เข้มงวดมาสู่แนวทางการอยู่ร่วมกับ Covid-19 ชาวออสเตรเลียนับล้านคนในรัฐนิวเซาท์เวลส์และวิกตอเรียอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์หลายเดือนเพราะรัฐบาลต้องการคุม Covid-19 ให้อยู่หมัด

ทว่าขณะนี้รัฐบาลออสเตรเลียยอมรับแล้วว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะคุม Covid-19 ให้เป็นศูนย์ เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมารัฐบาลออสเตรเลียประกาศว่าหากฉีดวัคซีนครอบคลุม 70% ของประชากรอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปครบ 2 เข็มแล้วจะผ่อนคลายมาตรการต่างๆ

อย่างไรก็ดี มาตรการเปิดประเทศอย่างระมัดระวังของสิงคโปร์ค่อนข้างแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่ฉีดวัคซีนในอัตราสูงแล้วเช่นกัน อาทิ อิสราเอล สหรัฐ และอังกฤษที่ยกเลิกมาตรการสกัดการแพร่ระบาดหลังฉีดวัคซีนให้ประชาชนส่วนใหญ่ แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเข้าโรงพยาบาลจะเพิ่มขึ้นก็ตาม

ทว่าประสบการณ์ของประเทศเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าหนทางที่จะอยู่ร่วมกับ Covid-19 ยังอีกยาวไกล อิสราเอลเริ่มคลายล็อกดาวน์ตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ. ตามด้วยการยกเลิกมาตรการเกือบทั้งหมดรวมทั้งการสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. หลังผู้ติดเชื้อลดลงเหลือน้อยกว่าวันละ 20 คนและมีผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสเกินครึ่ง

แต่ 10 วันหลังจากนั้นชาวอิสราเอลต้องกลับปสวมหน้ากากอนามัยในสถานที่ปิดอีกครั้งหลังจากตัวเลขผู้ตดเชื้อพุ่งเกินวันละ 100 คนหลายวันติดต่อกันจนต้องกลับมาใช้กรีนการ์ดแสดงว่าฉีดวัคซีนแล้วก่อนเข้าสถานที่ต่างๆ หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อยังพุ่งเนื่องจากสายพันธุ์เดลตา

ส่วนอังกฤษผ่อนคลายมาตรการเกือบทั้งหมดในวันที่ 19 ก.ค. เปิดร้านค้า ไม่จำกัดคนรวมตัว และไม่บังคับสวมหน้ากาก ทั้งที่ตอนนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อยังอยู่ที่วันละเกือบ 50,000 ราย แต่ด้วยอัตราการฉีดวัคซีนที่สูง หลังจากนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันหลังจากนั้นก็ลดต่ำลงไปทรงตัวอยู่ที่วันละประมาณ 20,000 ราย แต่จำนวนผู้ติดเชื้อในอังกฤษกลับเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งหลังเข้าสู่เดือนกันยายนเนื่องจากการระบาดของเดลตา

Photo by Roslan RAHMAN / AFP