posttoday

ทำไมรถไฟญี่ปุ่นล้ำหน้ากว่าไทยทั้งๆ ที่เริ่มพร้อมๆ กัน

10 กันยายน 2564

รถไฟญี่ปุ่นเริ่มต้นไล่เลี่ยกับรถไฟไทยเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันญี่ปุ่นมีโครงข่ายรถไฟกระจายทั่วประเทศ มีรถไฟความเร็วสูงทุบสถิติ แต่รถไฟไทยแทบไม่เปลี่ยนไปจากเดิม

สืบเนื่องจากกระแสเกี่ยวกับการรับบริจาครถไฟมือสองที่ใช้งานมาแล้ว 40 ปีจำนวน 17 คันจากญี่ปุ่น โพสต์ทูเดย์จะพาไปย้อนประวัติศาสตร์รถไฟของประเทศญี่ปุ่นที่เริ่มขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับรถไฟของไทยเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว

ในขณะนั้นเทคโนโลยีที่ญี่ปุ่นใช้แทบไม่ต่างอะไรจากรถไฟของไทยเลย คือเป็นหัวรถจักรไอน้ำ ทว่าต่อมารถไฟของญี่ปุ่นพัฒนาแบบก้าวกระโดด เปลี่ยนจากไอน้ำเป็นเครื่องยนต์ดีเซล ก่อนจะขยับเป็นรถไฟหัวกระสุน และรถไฟฟ้าพลังงานแม่เหล็ก (Maglev) จนปัจจุบันนี้ญี่ปุ่นมีโครงข่ายรถไฟกระจายครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ ในขณะที่รถไฟไทยยังมีสภาพอย่างที่ทุกคนเห็น

1.การพัฒนาโครงข่ายรางรถไฟของญี่ปุ่นเริ่มขึ้นไม่นานหลังจากญี่ปุ่นเปิดประเทศติดต่อทำมาค้าขายกับประเทศตะวันตก หลังจากรัฐบาลโชกุนปิดประเทศโดยทำการค้าขายเฉพาะกับประเทศเอเชียด้วยกันและฮอลันดามากว่า 250 ปี

2.แม้ว่าขณะนั้นการขนส่งทางรางจะเป็นที่รู้จักผ่านการติดต่อกับต่างประเทศที่มีอยู่ไม่กี่ประเทศ อาทิ พ่อค้าชาวดัตช์ แต่โมเดลของทางรถไฟที่นำเข้ามาโดยชาวต่างชาติ รวมทั้งการนำหัวรถจักรไอน้ำมาโชว์ที่เมืองนะงะซะกิของอังกฤษ ก็เป็นที่สนใจของไดเมียวในขณะนั้น ถึงขั้นมีการร่างแบบและวางแผนก่อสร้างทางรถไฟ แต่ก็ยังไม่มีการก่อสร้างจนกระทั่งในสมัยเมจิที่จักรพรรดิกลับขึ้นมามีอำนาจอีกครั้ง

3.ปี 1868 โธมัส เบลค โกลเวอร์ พ่อค้าชาวสกอตรับผิดชอบในการนำหัวรถจักรไอน้ำคันแรกเข้ามาในญี่ปุ่น ทว่าหลังจากญี่ปุ่นปิดประเทศเพราะไม่เชื่อใจชาวต่างชาติมาราว 250 ปี การก่อสร้างรางรถไฟรางแรกเชื่อมระหว่างเกียวโตเมืองหลวงเก่าและโตเกียวเมืองหลวงแห่งใหม่โดยคนที่ไม่ใช่คนญี่ปุ่นถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ในทางการเมือง

4.รัฐบาลญี่ปุ่นจึงตัดสินใจสร้างรางรถไฟจากท่าเรือหลักในเมืองโยโกฮามะมายังกรุงโตเกียวโดยใช้เงินกู้จากธนาคารสัญชาติอังกฤษ เช่นเดียวกับอุปกรณ์ ราง ตู้โดยสารที่นำเข้าจากอังกฤษทั้งหมด โดยมีที่ปรึกษาด้านเทคนิค เช่น วิศวกรโยธา ผู้จัดการทั่วไป ผู้สร้างและคนขับหัวรถจักรไอน้ำจากอังกฤษและยุโรปราว 300 คน โดยมี เอ็ดมุนด์ มอเรล วิศวกรชาวอังกฤษเป็นคนคุมการก่อสร้างทางรถไฟสายแรกบนเกาะฮนชู

5.ญี่ปุ่นตั้งเงื่อนไขว่าผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ต้องถ่ายทอดความรู้ให้คนงานชาวญี่ปุ่นเพื่อที่วันหนึ่งญี่ปุ่นจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสร้างรางรถไฟโดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น

6.ทางรถไฟสายแรกระหว่างชิมบาชิและโยโกฮามะเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 1872 โดย 1 เที่ยวใช้เวลา 53 นาที (รถไฟฟ้าในปัจจุบันใช้เวลา 40 นาที) เริ่มแรกให้บริการไป-กลับวันละ 9 เที่ยว ดำเนินการโดย Japanese Government Railway (JGR) หรือการรถไฟแห่งรัฐบาลญี่ปุ่น

7.รางรถไฟรางแรกของประเทศเป็นรางเดี่ยวกว้าง 1,067 มิลลิเมตร (ชินคันเซนใช้รางกว้าง 1,435 มิลลิเมตร) สำหรับหัวรถจักรไอน้ำของอังกฤษที่วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 32.18 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

8.ญี่ปุ่นใช้เวลากว่า 17 ปีสร้างรางรถไฟเชื่อมระหว่างเมืองสำคัญๆ ตามเส้นทางโทไกโด (Eastern Sea Route) จนกระทั่งในปี 1889 ทางรถไฟครอบคลุมจนผู้โดยสารสามารถเดินทางได้ตลอดทางจากโตเกียวไปยังโอซากาด้วยรถไฟ

9.ระหว่างนี้ ญี่ปุ่นที่มีความเป็นชาตินิยมสูงขอก่อตั้ง Engineer Training College ที่เมืองโอซากา เพื่อผลิตบุคลากรด้านกิจการรถไฟให้กับประเทศญี่ปุ่น จนกระทั่งระหว่างปี 1880-1890 ชาวญี่ปุ่นก็สามารถเรียนรู้ระบบรถไฟและเข้ามาทำงานแทนผู้เชี่ยวชาญต่างชาติทั้งหมด และสามารถสร้างหัวรถจักรไอน้ำได้เองในปี 1893

10.ช่วงทศวรรษ 1880 บริษัท Nippon Railway Co. (NRC) กลายเป็นบริษัทแรกที่ได้รับสัมปทานให้ดำเนินการรถไฟสายหลักโทโฮคุจากอุเอโนะถึงอาโอโมริ และสายย่อยจากโอมิยะไปถึงทะคะซะกิ โดยการก่อสร้างทางรถไฟทั้งสองสายดำเนินการโดยรัฐบาล ส่วนบริษัทรับผิดชอบค่าใช้จ่าย หลังจากนั้นก็มีบริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการอีกหลายเจ้า

11.ปี 1892 ญี่ปุ่นออกกฎหมาย Railway Construction Act สำหรับเส้นทางรถไฟบนเกาะฮนชู คิวชู ชิโกกุ และฮอกไกโดโดยระบุว่า รัฐบาลจะส่งเสริมการสร้างรางรถไฟในเส้นทางเหล่านี้ของบริษัทเอกชน โดยรัฐบาลญี่ปุ่นจะควักเงินจ่ายเฉพาะเส้นทางที่เอกชนไม่สามารถดำเนินการได้เท่านั้น ในปีนั้นรางรถไฟที่เป็นของเอกชนแผ่ขยายเป็นระยะทาง 2,124 กิโลเมตร ขณะที่ของรัฐบาลอยู่ที่ 887 กิโลเมตร

12.ปี 1906 ถือเป็นปีสำคัญทางประวัติศาสตร์การรถไฟของญี่ปุ่น เนื่องจากสภาผ่านร่างกฎหมายการรถไฟแห่งชาติ ส่งผลให้เส้นทางรถไฟของเอกชน 17 เส้นทางถูกซื้อเป็นกิจการของรัฐ

13.การทุ่มงบประมาณไปกับการซื้อกิจการของเอกชนมาเป็นของรัฐทำให้รัฐบาลมีเงินไม่พอสำหรับการขยายเส้นทางไปยังแถบต่างจังหวัดจึงออกกฎหมาย Light Railway Act เปิดทางให้บริษัทเอกชนรายเล็กสร้างรถไฟรางเบา

14.ปี 1917 ญี่ปุ่นเริ่มสร้างระบบรถไฟใต้ดินในโตเกียวซึ่งเป็นรถไฟใต้ดินเส้นแรกของเอเชีย โดยเลียนแบบมาจากลอนดอน ปารีส และนิวยอร์ก และจัดตั้งบริษัท Tokyo Underground Railway Company เพื่อรองรับประชากรในเมืองหลวงที่มีถึง 4.1 ล้านคน และเปิดบริการในปี 1927 ปัจจุบันคือเส้นทางสาย Tokyo Metro Ginza

15.หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 รถไฟของญี่ปุ่นตกอยู่ภายใต้การควบคุมของทหาร รัฐบาลญี่ปุ่นซื้อกิจการของเอกชนเพิ่มอีก 22 แห่งในช่วงปี 1943-1944 และนับตั้งแต่ปี 1943 รถไฟของรัฐก็เริ่มลดการให้บริการประชาชนแล้วหันมาใช้ในกิจการของทหารเป็นอันดับแรก

16.ปี 1945 ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 หลังถูกสหรัฐทิ้งปรมาณูถล่ม 2 ลูก นอกจากจะมีคนเสียชีวิตนับล้านแล้ว รางรถไฟยังเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอกินะวะ แต่ส่วนใหญ่กลับมาให้บริการอีกครั้งในเวลาไม่นาน ทางรถไฟบางสายของรัฐกลับมาให้บริการ 1 วันหลังจากโตเกียวถูกถล่ม Sanyo Main Line กลับมา 2 วันหลังจากฮิโรชิมะถูกถล่ม ถึงอย่างนั้นก็ต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าเส้นทางรถไฟจะกลับมาเต็มรูปแบบ

17.ปี 1949 สหรัฐที่เข้ามาควบคุมญี่ปุ่นจัดการปฏิรูปรถไฟญี่ปุ่นโดยเปลี่ยนจาก Japanese Government Railway เป็น Japanese National Railways (JNR) หรือการรถไฟแห่งประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นบรรษัทรัฐวิสาหกิจ ส่งผลให้การก่อสร้างซ่อมแซมระบบรถไฟเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั้งยังเปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้าแทนดีเซล ติดตั้งสายนำไฟฟ้าไปตามเส้นทางหลักต่างๆ และยกเลิกการใช้รถจักรไอน้ำทั้งหมดในปี 1954

18.ยุคทองของรถไฟญี่ปุ่นเริ่มในช่วงทศวรรษ 1960 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัว ญี่ปุ่นคิดค้นรถไฟพลังแม่เหล็ก (Maglev) ในปี 1963 โดยมีรถไฟสาย Linimo ในจังหวัดไอจิที่เปิดตัวและให้บริการเมื่อปี 2005 เป็นรถ Maglev คันแรกของโลก และยังพัฒนาเพิ่มอีกหลายรุ่น อาทิ ML500 ที่มีความเร็ว 517 กิโลเมตรต่อชั่วโมง, SCMaglev ทำสถิติโลกด้วยความเร็ว 581 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในปี 2003 และ 603 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในปี 2015

19.ปี 1964 ญี่ปุ่นเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงสาย Tokaido Shinkansen ที่เชื่อมระหว่างโตเกียวกับโอซากา ระยะทาง 515 กิโลเมตร โดยเป็นการวางระบบรางใหม่ทั้งระบบเป็นรางคู่ ขนาดมาตรฐานกว้าง 1,435 มิลลิเมตร

20.เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น การเดินทางจากย่านชานเมืองเข้าสู่ตัวเมืองด้วยรถไฟเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่านโตเกียว Japanese National Railways จึงพัฒนาเส้นทางหลัก 5 เส้นทางในพื้นที่ดังกล่าวเป็น 4 ทางคู่ขนาน ทำให้เคลื่อนย้ายผู้โดยสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

21.อย่างไรก็ดี ค่าใช้จ่ายของโครงการนี้และการสร้างรถไฟชินคันเซ็น รวมทั้งเส้นทางอื่นๆ ทำให้การรถไฟเป็นหนี้หนักขึ้น ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างสหภาพการรถไฟและผู้บริหารจนนำมาสู่การสไตรค์หลายครั้ง

22.จนกระทั่งในปี 1987 ซึ่งการรถไฟมีหนี้สินสะสมถึง 280 ล้านเหรียญสหรัฐและเริ่มส่อเค้าว่าจะไปไม่รอด รัฐสภาจึงมีมติให้แปรรูปการรถไฟไปเป็นของเอกชน โดยแตกออกเป็น 6 บริษัทย่อยตามภูมิภาคเช่น JR-Central, JR-West, JR-East เรียกรวมๆ กันว่า Japan Railways Group (JR Group)

23.หลังการแปรรูปบริษัทเอกชนต่างแข่งขันกันปรับปรุงการให้บริการทั้งคุณภาพ ความรวดเร็ว ความตรงต่อเวลา ทำให้มีผู้โดยสารมากขึ้น การเดินทางด้วยรถไฟจึงกลับมาครองใจคนญี่ปุ่นได้อีกครั้ง

REUTERS/Kim Kyung-Hoon, Madaree TOHLALA / AFP