posttoday

เกิดอะไรขึ้นกับประเทศ "กินี" เมื่อทหารยึดอำนาจ แก้รธน.

06 กันยายน 2564

กลุ่มทหารกินีเข้ายึดอำนาจปธน. หลังดำรงตำแหน่งมากว่า 10 ปี ท่ามกลางเสียงประณามจากนานาชาติ

คณะทหารสาธารณรัฐกินีประกาศยุบรัฐบาล ยึดอำนาจจากประธานาธิบดีอัลฟา คอนเดที่ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2010 และยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พร้อมประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ และปิดพรมแดนทั้งทางบกและทางอากาศอย่างไม่มีกำหนด

หลังจากที่กลุ่มทหารติดอาวุธบุกเข้าควบคุมตัวประธานาธิบดีคอนเด และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล ทีทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงโกนากรี ส่งผลให้เกิดเหตุยิงปะทะต่อเนื่องนานหลายชั่วโมงเมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา ก่อนที่กองกำลังความมั่นคงของกระทรวงกลาโหมจะเข้าควบคุมเหตุการณ์ดังกล่าวได้

ภายหลังมีภาพปรากฏว่าประธานาธิบดีคอนเดกำลังอยู่ในการควบคุมของทหาร แต่ไม่มีการเปิดเผยว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นที่ใด

ขณะที่กลุ่มทหารซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็น "คณะกรรมการความปรองดองและพัฒนาแห่งชาติ" ยืนยันว่าประธานาธิบดีคอนเดปลอดภัยดี และสถานการณ์ทุกอย่างจะเรียบร้อย พร้อมเผยว่าสาเหตุของการยึดอำนาจครั้งนี้คือการคอร์รัปชัน การบริหารที่ล้มเหลว ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาความยากจน โดยภายหลังจากนี้พวกเขาจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

โดยล่าสุดมีรายงานว่าผู้นำรัฐประหารจะพบกับคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดเก่าในวันนี้ (6 ก.ย.) เพื่อหารือเกี่ยวกับการถ่ายโอนอำนาจ โดยแหล่งข่าวเผยว่า มามาดี ดูมบัวยา ผู้บัญชาการกองกำลังพิเศษแห่งกองทัพกินีจะเสนอตัวเองเป็นผู้นำคนใหม่

ด้านสหภาพแอฟริกาเผยว่าจะจัดประชุมฉุกเฉินเพื่อหารือเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประชาชนชาวกินีจำนวนหนึ่งเห็นด้วยและสนับสนุนการยึดอำนาจ แต่นานาชาติได้ออกมาประณามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

โดยกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS) ได้ต่อต้านการกระทำดังกล่าวโดยเรียกว่าเป็นความพยายามก่อรัฐประหาร พร้อมระบุว่าจะกำหนดมาตรการคว่ำบาตรด้วย

ขณะที่อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ออกมาประณามการใช้ความรุนแรงในการยึดอำนาจครั้งนี้ และเรียกร้องให้ปล่อยตัวประธานาธิบดีคอนเด

เช่นเดียวกับกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งออกแถลงการณ์ประณามเหตุการณ์ดังกล่าว โดยระบุว่าการใช้ความรุนแรงและการกระทำที่ละเมิดรัฐธรรมนูญจะทำลายโอกาสในด้านสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของกินี นอกจากนี้อาจกำจัดความสามารถของสหรัฐและประเทศพันธมิตรอื่นๆ ในการสนับสนุนกินีด้วย

รวมถึงสหภาพยุโรป (EU) และฝรั่งเศส ซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาณานิคมของกินีก็ได้ออกแถลงการณ์ร่วมประณามการยึดอำนาจครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

Photo by CELLOU BINANI / AFP