posttoday

จีน ซินเจียง กับตอลิบาน มันเกี่ยวกันยังไง?

06 สิงหาคม 2564

ความขัดแย้งที่พรมแดนตะวันตกระหว่างเอเชียตะวันออกและเอเชียกลางกำลังเข้าสู่โฉมหน้าใหม่ทางประวัติศาสตร์

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมคณะผู้แทนตอลิบานระดับสูงสุดเยือนจีน โดยคณะผู้แทนซึ่งรวมถึง มุลลอฮ์ อับดุล ฆอนี บาราดาร์ (Mullah Abdul Ghani Baradar) เข้าพบรัฐมนตรีต่างประเทศหวางอี้ เป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามากเพราะเกิดขึ้นในขณะที่สหรัฐและพันธมิตรถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน และยังเกิดขึ้นในขณะที่กองกำลังตอลิบานในอัฟกานิสถานรุกคืบยึดพื้นที่แบบยุทธการ "ป่าล้อมเมือง" เพื่อยึดพื้นที่ชายขอบก่อนจะเขมือบเมืองใหญ่เรื่อยๆ

สาระสำคัญของการหารือระหว่างแกนนำตอลิบานและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนได้รับการเปิดเผยโดยโฆษกของตอลิบานคือโมฮัมหมัด นาอีม ที่บอกกับสำนักข่าว AFP ว่า“เอมิเรตอิสลาม (การปกครองของตอลิบาน) รับรองจีนว่าดินของอัฟกานิสถานจะไม่ถูกนำมาใช้เพื่อสั่นคลอนความมั่นคงของประเทศใดๆ” และ “พวกเขา (จีน) สัญญาว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการของอัฟกานิสถาน แต่ช่วยแก้ปัญหาและนำสันติสุขมาแทน”

ว่ากันตามสภาพภูมิศาสตร์ พรมแดนของอัฟกานิสถานกับจีนมีความยาวเพียง 76 กิโลเมตร ตรงฉนวนวาคาน (Wakhan Corridor) จังหวัดบาดักชาน มีลักษณเหมือนเป็นหลอดยาวๆ ที่เชื่อมต่อเขตปกครองตนเองซินเจียงกับเข้าแผ่นดินส่วนใหญ่ของอัฟกานิสถาน "ช่องแคบ" นี้ยังมีความสูงมาก มีเส้นทางขรุขระปราศจากถนน

ปัญหาไม่ได้อยู่แค่ที่พรมแดน แต่อยู่ที่การใช้ดินแดนอัฟกานิสถานเป็นที่กบดานของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนซินเจียง อันที่จริงแล้วขบวนการนี้ไม่ได้เคลื่อนไหวแค่ในอัฟกานิสถาน แต่ยังใช้พื้นที่ใกล้เคียงคือตอนเหนือของปากีสถาน และทาจิกิสถานด้วย เพราะฉนวนวาคานมีพรมแดนติดกับทั้ง 3 ประเทศ (เรียกว่า Tripoint)

จุดนี้เป็นจุดหมิ่นเหม่ของจีนจุดหนึ่ง แม้จะเป็นพรมแดนช่วงเดียวที่ติดกับอัฟกานิสถาน แต่จีนระมัดระวังตัวมากกับพื้นที่นี้โดยไม่ยอมเปิดด่านเอาเลย รัฐบาลอัฟกานิสถานได้ขอให้จีนเปิดพรมแดนที่ฉนวนวาคาน หลายครั้งด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจหรือเป็นเส้นทางการจัดหาทางเลือกสำหรับการต่อสู้กับกลุ่มกบฏตอลิบาน แต่จีนไม่ยอมทำตามคำขอคาดว่าเพราะกังวลกับความไม่สงบในซินเจียง แม้แต่สหรัฐที่ปักหลักในอัฟกานิสถานก็ยังขอให้จีนเปิดพรมแดนจุดนี้

อันที่จริงแล้วจีนอาจจะระแวดระวังเกินไป เพราะฉนวนวาคานห่างไกลจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมในอัฟกานิสถาน เรียกได้ว่าเป็น "เมืองลับแล" ก็ว่าได้ แต่อาจเพราะจีนต้องป้องกันเอาไว้ก่อนจึงต้องระวังตัวขนาดนี้ เนื่องจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนซินเจียงนั้นมีสายสัมพันธ์กับตอลิบาน-อัลกออิดะฮ์มาก่อน

และแล้วความขัดแย้งก็เดินทางมาถึงฉนวนวาคาน เมื่อมีรายงานว่ากองกำลังตอลิบานยึดพื้นที่ฉนวนวาคานเอาไว้ได้ โดยในวันที่ 4 กรกฎาคมได้ยึดเมืองอิชคาชิม ประตูหน้าด่านของฉนวนวาคานเอาไว้ ขณะที่ทหารกองทัพอัฟกานิสถานหนีข้ามพรมแดนของไปในทาจิกิสถาน

ในเวลานั้นนักวิเคราะห์มองว่าการยึดฉนวนวาคานเป็นการแสดงท่าทีให้จีนมั่นใจว่าพื้นที่นี้จะมีผู้ควบคุมเป็นตัวเป็นตนสักที หลังจากเป็นเมืองลับแลมานานและเสี่ยงที่จะเป็นที่กบดานของฝ่ายต่อต้านจีน

หลังจากนั้นเพียง 20 กว่าวันก็มีข่าวว่าแกนนำตอลิบานบินไปเทียนจินและให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ยอมให้อัฟกานิสถานถูกใช้เป็นพื้นที่สั่นคลอนความมั่นคงของประเทศใดๆ - ซึ่งในที่นี้หมายถึงจีนอยางแน่นอน

มันเป็นการเดินเกมที่หลักแหลมของตอลิบาน เพราะก่อนหน้านี้ตอลิบานก็ได้ขอตกลงกับรัฐบาลสหรัฐในการประชุมที่โดฮาเมื่อปีที่แล้ว ทำให้ทางกลุ่มถูกมองว่ามีความชอบธรรมขึ้นมากมาในเวทีต่างประเทศ และการหารือกับจีนยิ่งทำให้ตอลิบานได้รับ "ตราประทับ" จากทั้งสหรัฐและจีน อย่างน้อยถ้าผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศนี้ไม่ถูกคุกคาม มหาอำนาจจะปล่อยให้อัฟกานิสถานสะสางเรื่องราวกันเอง

ตอลิบานได้สิ่งที่ต้องการแล้ว แล้วจีนได้สิ่งที่ต้องการหรือเปล่า?

กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในซินเจียงซึ่งมีอยู่หลายกลุ่มเป็นหนามยอกอกจีนมาหลายสิบปี เมื่อกลุ่มตอลิบานยึดกุมอัฟกานิสถานได้พร้อมๆ กับสนับสนุนอัลกออิดะห์ให้เคลื่อนไหวในประเทศ ตอนแรกมันไม่ใช่ปัญหาของสหรัฐสักเท่าไร จนกระทั่งเกิดเหตุวินาศกรรม 9/11 นั่นแหละ สหรัฐจึงเห็นว่าคนเหล่านี้ต้องถูกกำจัด

ตัดกลับมาที่จีน ก่อนที่จะเกิดสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ตอลิบานและอัลกออิดะห์ให้การสนับสนุน "องค์การปลดปล่อยเตอร์กิสถานตะวันออก" หรือ ETLO ซึ่งเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนซินเจียง (หรือที่พวกเขาเรียกว่าเตอร์กิสถานตะวันออก) จะขอยกกรณีนี้เป็นตัวอย่าง

ETLO ก่อเหตุวินาศกรรมร้ายแรงหลายครั้งตั้งแต่ปี 1998 จนถึงปี 2003 เช่น ก่อวินาศกรรมด้วยยาพิษที่เมืองคัชการ์ในซินเจียง และก่อวินาศกรรมข้ามในเขตทาจิกิสถานหลายครั้งในปี 200 รวมถึงการสังหารนักการทูตชาวจีนที่นั่น กลุ่มนี้ได้รับเงินสนับสนุนหลายทาง เช่น การค้ายาเสพติดและปล้นชิง รวมถึงเงินสนับสนุนจากอัลกออิดะห์ โดยที่ทางการจีนเผยว่า ETLO ได้รับการฝึกที่อัฟกานิสถานโดยมีตอลิบานให้การสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม ในปี 2003 (หลังจากสหรัฐประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้ายและทำการรุกเข้าอัฟกานิสถานแล้ว) หัวหน้ากลุ่ม ETLO ปฏิเสธกับ Radio Free Asia ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอัลกออิดะห์หรือโอซามา บิน ลาเดน และทางกลุ่มไม่มีเป้าหมายที่จะแยกดินแดนด้วยการใช้การก่อการร้าย และนับตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมากลุ่มนี้แทบไม่เคลื่อนไหวเลย จนอาจจะไม่มีตัวตนอยู่แล้ว

อีกกลุ่มหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับตอลิบานและอัลกออิดะห์คือ "ขบวนการอิสลามเตอร์กิสถานตะวันออก" หรือ ETIM เป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่เคลื่อนไหวด้วยวิธีการรุนแรงและมีอายุเก่าแก่กว่า ETLO ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับตอลิบาน เห็นได้จากการที่ในปี 1998 ทางกลุ่มได้ย้ายสำนักงานใหญ่ของ ETIM ไปที่กรุงคาบูลภายใต้การปกครองของตอลิบาน รัฐบาลจีนอ้างว่าผู้นำกลุ่มนี้ได้พบกับผู้นำของอัลกออิดะห์และกลุ่มตอลิบานรวมถึง โอซามา บิน ลาเดนในอัฟกานิสถานเมื่อปี 1999 เพื่อประสานงาน แต่หัวหน้ากลุ่ม ETIM ปฏิเสธเรื่องนี้

ETIM ยังสร้างปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับปากีสถานด้วย อย่างที่บอกว่าพวกแบ่งแยกดินแดนใช้โอกาสเคลื่อนไหวนอกจีนเพื่อโจมตีจีนโดยกบดานตามภาคเหนือของปากีสถานที่มีกลุ่มตอลิบานในปากีสถานเคลื่อนไหวอยู่ และในอัฟกานิสถานที่ตอลิบานเป็นรัฐบาลในเวลานั้น

กับอัฟกานิสถานนั้นจีนทำอะไรไม่ได้มาก แต่ปากีสถานที่เป็นพันธมิตรจีน จีนได้ร้องขอให้ทางการปากีสถานดำเนินการกับกลุ่มติดอาวุธตอลิบานสาขาปากีสถาน เพราะกล่าวกันว่า ETIM เป็นพันธมิตรกับกลุ่มตาลีบันของปากีสถาน (Tehreek i Taliban Pakistan) เรื่องนี้สร้างความลำบากใจให้ปากีสถานมาก เพราะรู้ๆ กันว่ารัฐบาลปากีสถานไม่ได้มีอำนาจเต็มที่ในการควบคุมพื้นที่ชนเผ่าต่างๆ 

ที่เอ่ยถึงเรื่องนี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่านอกจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอุยกูร์จะโจมตีจีนโดยตรงแล้ว ยังเป็น "ระเบิดเวลา" ได้ด้วยซึ่งหากใครช่วงใช้ได้ จะสามารถนำมาใช้บ่อนทำลายจีนด้วยวิธีการต่างๆ นานาได้ด้วย

ตอนนี้ ETIM และ ETLO กลายเป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างจีนสหรัฐไปแล้วโดยเป็นส่วนหนึ่งในภาพกว้างของ "สงครามเย็นใหม่" ที่มีซินเจียงเป็นหนึ่งในสมรภูมินั้น

สหรัฐนั้นเคยขึ้นทะเบียนกลุ่ม ETIM เป็นกลุ่มก่อการร้ายมาตั้งแต่ปี 2002 แต่นับตั้งแต่สหรัฐกับจีนเผชิญหน้ากันมากขึ้นในสมัยรัฐบาลทรัมป์ ทั้งกรณีสงครามการค้าและการที่สหรัฐกับชาติตะวันตกโจมตีจีนเรื่องวิธีการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ สหรัฐเริ่มที่จะ "ใช้งาน" กลุ่มพวกนี้เล่นงานจีนทางอ้อม

เราจะเห็นได้ว่าในปี 2020 สหรัฐที่เคยตราหน้ากลุ่มโน้นกลุ่มนี้ว่าเป็นพวกก่อการร้าย จู่ๆ ก็ปลดชื่อ ETIM จากบัญชีกลุ่มก่อการร้าย โดยให้เหตุผลว่า "ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่า ETIM ยังคงมีอยู่" (เหตุผลคล้ายกับที่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ETLO ไม่มีตัวตนอยู่แล้วเช่นกันหลังจากหายหน้าไปตั้งแต่ปี 2005)

แต่การถอนชื่อ ETIM ออกจากรายชื่อผู้ก่อการร้าย ทำให้จีนกล่าวหาสหรัฐว่าใช้สองมาตรฐาน Global Times สื่อของทางการจีนโจมตีว่า

"เมื่อวอชิงตันกำหนดให้ ETIM เป็นองค์กรก่อการร้ายต่างประเทศในปี 2002 สหรัฐยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากการโจมตี 9/11 อันน่าหวาดผวา ในขณะนั้น สหรัฐ ถือว่าการก่อการร้ายเป็นภัยคุกคามสูงสุด และกระตือรือร้นที่จะร่วมมือกับจีนในแง่ของการต่อต้านการก่อการร้าย อย่างไรก็ตาม ด้วยการผงาดอย่างรวดเร็วของจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สหรัฐได้ตราหน้าว่าจีนเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์หลัก และปราบปรามจีนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ชนชั้นสูงทางการเมืองของสหรัฐหลายคนโต้แย้งว่าความสามารถทางเทคโนโลยีและการทหารที่เติบโตอย่างรวดเร็วของจีนทำให้จีนเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐที่ใหญ่กว่าการก่อการร้าย"

จีนยังไม่ถึงกับกล่าวว่าสหรัฐใช้การถอนชื่อ ETIM เป็นเครื่องมือเล่นงาน เพียงแต่เตือนว่า "การเคลื่อนไหวที่หุนหันพลันแล่นโดยรัฐบาลของทรัมป์ที่มีต่อ ETIM ย่อมบั่นทอนความพยายามร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศในการต่อสู้กับการก่อการร้ายอย่างไม่ต้องสงสัย"

จีนเองก็ถูกวิจารณ์ว่าใช้สงครามการก่อการร้ายบังหน้าเพื่อกวาดล้างอุยกูร์เช่นกัน ข้อกล่าวหานี้มาจากองค์การ "ในร่มธงชาติตะวันตก" เช่น Amnesty International ระบุไว้ในปี 2007 ว่า "รัฐบาลจีนใช้คำว่า "การแบ่งแยกดินแดน" ครอบคลุมถึงกิจกรรมที่หลากหลายซึ่งส่วนใหญ่เป็นแค่การต่อต้านหรือแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยอย่างสันติ ในช่วงสามปีที่ผ่านมามีรายงานว่ามีผู้ถูกกักขังหลายหมื่นคนในภูมิภาคเพื่อนำมาสอบสวน และหลายร้อย อาจเป็นหลายพัน ถูกตั้งข้อหาหรือถูกพิพากษาภายใต้กฎหมายอาญา เชื่อว่าชาวอุยกูร์จำนวนมากถูกตัดสินประหารชีวิตและถูกประหารชีวิตในข้อหา "แบ่งแยกดินแดน" หรือ "ผู้ก่อการร้าย" แม้ว่าจำนวนที่แน่นอนจะเป็นไปไม่ได้ที่จะระบุชัด"

Amnesty International พยายามจะบอกเป็นนัยๆ ว่า จีนใช้ข้อหาก่อการร้ายและแบ่งแยกดินแดนเพื่อเป็นข้ออ้างในการ "กดขี่ชาวอุยกูร์" แต่การะบุเช่นนี้ละเลยข้อเท็จจริงที่ว่ามีการวินาศกรรมโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนจากซินเจียงหลายครั้งในจีนหลายครั้งนั้นมีคนตายเป็นจำนวนมากด้วย

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการกล่าวหาจีนแบบนี้ ในปี 2004 รายงานใน China Rights Forum อ้างว่านับตั้งแต่วัเหตุวินาศกรรม 9/11 จีนฉวยโอกาสในโลกกำลังหมกมุ่นกับสงครามต่อต้านการก่อการร้ายเพื่อสร้างพันธมิตรระดับนานาชาติเพื่อต่อต้านขบวนการแบ่งแยกดินแดนอุยกูร์

ข้อกล่าวหานี้ก็เหมือนกับข้อกล่าวหาของ Amnesty International คือละเลยความรุนแรงจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในซินเจียง และกระทั่งละเลยว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนเหล่านี้ร่วมมือกับตอลิบาน กลุ่มที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอยางรุนแรงจากชาติตะวันตกนั่นเอง

คงจะพอเห็นความซับซ้อนของเรื่องนี้กันแล้วกระมัง? แต่ถ้ายังไม่ซ้อนพอ ยังมีบางกลุ่ม (โดยเฉพาะชาวอุยกูร์) ที่เชื่อว่าสหรัฐกับจีนสมประโยชน์กันโดยใช้ตอลิบาน-อัลกออิดะห์-อุยกูร์ เป็นข้ออ้างในการผนึกกำลังกันกวาดล้างกลุ่มเหล่านี้ โดยที่จีนพยายามโหนกระแสสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐเพื่อฉวยโอกาส "ปราบซินเจียง" ขณะที่สหรัฐก็ทำเป็นเมินการปราบซินเจียงของจีนโดยขึ้นทะเบียนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนซินเจียงเป็นกลุ่มก่อการร้ายตามความปรารถนาของจีน

นักวิชาการตะวันตกบางคนไปไกลถึงขนาดชี้ว่าข้อมูลเรื่อง ETIM ส่วนใหญ่เมื่อสาวไปแล้วย้อนกลับไปที่ข้อมูลจากทางการจีน (พยายามจะบอกว่าจีนปั้นเรื่องขึ้นมาเพื่อหาข้ออ้างปราบอุยกูร์) บางคนพยายามชี้ให้เห็นว่าจีนอุปโลกน์กลุ่มแบ่งแยกดินแดนพวกนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นข้ออ้างปราบอุยกูร์ด้วยซ้ำ

แน่นอนว่า มีนักวิชาการต่างประเทศอีกกลุ่มคัดค้านทฤษฎีนี้เช่นกันโดยยกหลักฐานการปรากฏตัวของกลุ่มเหล่านี้ในซีเรียรวมถึงการถูกเอ่ยถึงโดยแกนนำอัลกออิดะห์

แต่สิ่งที่เราเห็นในเวลานี้คือ สหรัฐหมดผลประโยชน์ในอัฟกานิสถานแล้วและถอนกำลังทหารออกไป ปล่อยให้ตอลิบานกับรัฐบาลอัฟกานิสถานเคลียร์กันเอง ส่วนจีนทำการ "ปราบซินเจียง" อย่างอยู่หมัดแล้วและยังดีลกับตอลิบานได้ ไม่มีอะไรต้องกังวลอีกที่พรมแดนตะวันตก สิ่งที่จีนกับ "รัฐบาลตอลิบาน" ต้องกังวลก็คือ สหรัฐจะไม่รามือแค่นี้ เพราะเราจะเห็นว่าสหรัฐเลิกระรานตอลิบาน แต่มาระรานจีนเรื่องซินเจียงอย่างหนัก

แต่ในขณะที่สหรัฐถอนทหารจากอัฟกานินสถานแท้ๆ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐกลับบอก (ในวันที่ตอลิบานบินไปเทียนจิน) ว่า "อัฟกานิสถาน (ภายใต้ตอลิบาน) ที่ไม่เคารพสิทธิของประชาชน อัฟกานิสถานที่กระทำความทารุณต่อประชาชนของตนเองจะกลายเป็นรัฐนอกรีต (Pariah state)”

สหรัฐที่ดีลกับตอลิบานได้ พอเห็นตอลิบานดีลกับจีนสำเร็จก็หมายหัวให้เป็น Pariah state เสียอย่างนั้น!

กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Li Ran / XINHUA / AFP