posttoday

ชี้ถ้าฉีดวัคซีนแล้วแต่ยังไม่มากพอยิ่งเสี่ยงเกิดเชื้อดื้อวัคซีน

30 กรกฎาคม 2564

วิจัยพบความเสี่ยงที่จะเกิด Covid-19 สายพันธุ์ดื้อวัคซีนยิ่งสูงขึ้นเมื่อคนส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนแล้วแต่ยังฉีดไม่มากพอ

ผลการวิจัยของทีมผู้เชี่ยวชาญในภาคพื้นยุโรปซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Scientific Reports พบว่า การผ่อนคลายมาตรการสกัด Covid-19 อาทิ การสวมหน้ากากอนามัยและการเว้นระยะห่างระหว่างกัน หลังจากคนส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนแล้ว เป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดเชื้อสายพันธุ์ดื้อวัคซีน

ในช่วงเวลาที่ชาวยุโรปเกือบ 60% ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส นักวิจัยเผยว่า การศึกษาผ่านแบบจำลองแสดงให้เห็นว่ามาตรการสกัด Covid-19 ยังจำเป็นต้องคงไว้จนกว่าทุกคนจะฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว

ทีมผู้เชี่ยวชาญจากยุโรปทำการจำลองความน่าจะเป็นที่เชื้อสายพันธุ์ดื้อวัคซีนจะอุบัติขึ้นในประชากร 10 ล้านคนในระยะเวลา 3 ปี เพื่อทำนายว่าเชื้อโคโรนาไวรัสจะกลายพันธุ์อย่างไรหลังการฉีดวัคซีน โดยมีตัวแปรต่างๆ อาทิ การฉีดวัคซีน อัตราการกลายพันธุ์และการแพร่เชื้อ รวมทั้งการระบาดระลอกใหม่และจำนวนเคสที่ลดลงหลังล็อกดาวน์

พบว่า การฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็วลดความเสี่ยงที่เชื้อดื้อวัคซีนจะอุบัติขึ้น และยังมีผลการวิจัยที่ทางทีมเรียกว่าเป็น “ผลที่ขัดกับความรู้สึก” ที่พบว่า ความเสี่ยงสูงสุดที่เชื้อดื้อวัคซีนจะอุบัติขึ้นเกิดขึ้นเมื่อประชากรส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนแล้ว แต่ยังไม่มากพอที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่

ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า แบบจำลองแสดงให้เห็นว่า เมื่อ 60% ของประชากรได้รับวัคซีนแล้ว หลังจากนั้นก็มีโอกาสที่จะเกิดเชื้อสายพันธุ์ดื้อวัคซีน

“วัคซีนคือทางออกที่ดีที่สุดในการเอาชนะโรคระบาดนี้” ไซม่อน เรลลา หนึ่งในทีมผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของออสเตรีย (IST) เผย “แบบจำลองของเราบอกว่า เมื่อคนส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนแล้ว สายพันธุ์ที่ดื้อวัคซีนมีข้อได้เปรียบเหนือสายพันธุ์ดั้งเดิม”

เรลลากล่าวต่อว่า นั่นหมายความว่าเชื้อสายพันธุ์ดื้อวัคซีนแพร่กระจายในประชากรได้เร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมในช่วงเวลาที่คนส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนแล้ว

ด้าน ฟีโอดอร์ คอนดราชอฟ หนึ่งในทีมวิจัยจาก IST เผยว่า “แน่นอนว่าเราหวังว่าจะไม่เกิดสายพันธุ์ดื้อวัคซีนตลอดช่วงการระบาดครั้งใหญ่นี้ แต่เราอยากให้ระวังไว้” และเผยอีกว่า “การวิวัฒนาการเป็นสิ่งที่ทรงพลังมาก และการคงมาตรการป้องกันตลอดช่วงการฉีดวัคซีนจะเป็นเครื่องมือที่ดีในการควบคุมการวิวัฒนาการนี้”

ทั้งนี้ ขณะนี้ประชากรทั่วโลกกว่า 1,000 ล้านคนฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ขณะที่หลายประเทศโดยเฉพาะในแอฟริกาและอเมริกาใต้ยังไม่เริ่มฉีดวัคซีนในวงกว้าง เนื่องจากขาดแคลนวัคซีน

งานวิจัยระบุอีกว่า “หากทั่วโลกไม่ร่วมมือกัน เชื้อดื้อวัคซีนอาจหมดไปจากประชากรบางกลุ่มที่อาจจะอยู่กับอีกกลุ่มหนึ่ง ดังนั้น ความพยายามในการฉีดวัคซีนทั่วโลกอย่างแท้จริงอาจมีความจำเป็นเพื่อลดโอกาสของการแพร่กระจายของสายพันธุ์ดื้อยาทั่วโลก” 

Photo by PEDRO PARDO / AFP