posttoday

เมื่อจีนเชือดโรงเรียนกวดวิชาแต่สะเทือนถึงตลาดหุ้น

29 กรกฎาคม 2564

รัฐบาลจีนเดินหน้าควบคุมโรงเรียนกวดวิชาต่อไปนี้ห้ามแสวงหากำไร

การศึกษาในจีนมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดโดยพุ่งเป้าไปที่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เรียกว่า “เกาเข่า” โดยคนที่สอบได้คะแนนสูงจะมีสิทธิ์เลือกมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของประเทศอย่างมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยชิงหัว ด้วยเหตุนี้โรงเรียนกวดวิชาจึงผุดขึ้นราวดอกเห็ด ธนาคาร Goldman Sachs ของสหรัฐเคยประเมินไว้ว่าธุรกิจนี้มีมูลค่าสูงถึง 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

จากข้อมูลของสมาคมการศึกษาจีนพบว่า ในปี 2016 นักเรียนจีนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมัธยม 6 ราว 75% ใช้บริการโรงเรียนกวดวิชาในเมืองใหญ่อย่างกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว และเซินเจิ้น แถมยังเรียนกันอย่างเอาเป็นเอาตายทุกวัน

แต่ล่าสุดธุรกิจโรงเรียนกวดวิชากำลังเป็นเป้าหมายในการ “เชือด” ของรัฐบาลจีน หลังจากไล่เช็กบิลกับบรรดาบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ไปแล้ว

กฎใหม่ที่ประกาศเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (24 ก.ค.) กำหนดให้โรงเรียนกวดวิชาจดทะเบียนเป็นองค์กรไม่แสวงกำไรหากต้องการขออนุญาตสอนหลักสูตรของสถานศึกษา ไม่สามารถนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือรับเงินลงทุนจากต่างชาติ และห้ามสอนในวันหยุดสุดสัปดาห์ ส่วนคอร์สสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีต้องหยุดดำเนินการทั้งหมด

ข้อห้ามหลังสุดนี้ขัดกับระบบการศึกษาในโรงเรียนกวดวิชาส่วนใหญ่ในจีน ที่โดยปกตินักเรียนจะต้องเรียนหนักถึงวันละ 16 ชั่วโมง และอนุญาตให้นักเรียนพักเบรกสั้นๆ เพียง 2 ชั่วโมงในวันอาทิตย์

หลังจากนี้ทางการจีนจะไม่ออกใบอนุญาตให้เปิดโรงเรียนกวดวิชาแห่งใหม่ที่จะสอนหลักสูตรเดียวกับในโรงเรียน ขณะที่โรงเรียนกวดวิชาที่เปิดดำเนินการอยู่แล้วจะต้องถูกตรวจสอบและขอใบอนุญาตจากทางการ

นอกจากนี้ ทางการท้องถิ่นบางแห่งยังประกาศกฎใหม่ อาทิ เมื่อวันที่ 2 ก.ค. คณะกรรมการการศึกษาในกรุงปักกิ่งประกาศว่าคณะกรรมการการศึกษาของแต่ละพื้นที่จะเป็นผู้จัดโครงการติวภาคฤดูร้อนสำหรับนักเรียนชั้นประถมเอง ทั้งที่ตามปกติแล้วโรงเรียนกวดวิชาจะเป็นผู้จัด เช่นเดียวกับที่เซี่ยงไฮ้ อู่ฮั่น

ลดความเครียดนักเรียน

ทางการจีนให้เหตุผลที่ต้องเข้ามาควบคุมโรงเรียนกวดวิชาไว้ว่าต้องการลดความเครียดและการบ้านของนักเรียนทั้งจากโรงเรียนปกติและโรงเรียนกวดวิชา

นักเรียนจีนต้องเรียนกันอย่างหนักและมีการแข่งขันสูง บางคนต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 แล้วเรียนไปจนถึงเที่ยงคืนในวันธรรมดา ส่วนเสาร์อาทิตย์ก็ต้องเรียนพิเศษทั้งวันแทบจะไม่มีเวลาพัก

เมื่อเดือนที่แล้ว จางซีเฟิง นักเรียนหัวกะทิจากชนบทของจีนที่กำลังจะสอบเกาเข่าได้เผยถึงการเรียนหนักของเจ้าตัวจนกลายเป็นไวรัลว่า เขาและเพื่อนๆ ต้องตื่นมาเรียนตั้งแต่ตี 5 ทุกวันเพื่อให้สอบเกาเข่าผ่านและเปลี่ยนโชคชะตาที่พระเจ้าขีดไว้

จางซีเฟิงเชื่อว่าคนในชนบทอย่างเขาถูกลิขิตไว้ให้มีชีวิตแบบธรรมดาสามัญและถูกทิ้งไว้ข้างหลังเมื่อเทียบกับเด็กๆ จากครอบครัวที่มีฐานะที่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้มากกว่า

จางบอกอีกว่าเขากลัวว่าตัวเองจะไม่ได้เรียนสูงๆ และกลายเป็นคนที่ต้องก้มหน้าก้มตาทำงานหนักแลกกับเงินเพียง 2,000 หยวน หรือราว 10,179 บาทต่อเดือน

หรืออย่างลูกสาววัย 10 ปีของ เฮเลน ชุย พนักงานออฟฟิศในบริษัทต่างชาติ ที่ต้องเรียนสารพัดวิชาในวันหยุด อาทิ ภาษาอังกฤษ 3 ชั่วโมง, คณิตศาสตร์ 3 ชั่วโมง, ภาษาจีน 3 ชั่วโมง, ว่ายน้ำ 1 ชั่วโมง, เปียโน 1 ชั่วโมง, ภาษาอังกฤษออนไลน์กับครูชาวอเมริกันแบบกลุ่มเล็กๆ อีก 90 นาที รวมๆ แล้ววันหยุดของเธอหมดไปกับการเรียนพิเศษ 12 ชั่วโมงครึ่ง

ลดค่าใช้จ่ายพ่อแม่ กระตุ้นผลิตลูกเพิ่ม

ทางการจีนยังกังวลว่าค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าเรียนพิเศษของลูกจะเป็นภาระทางการเงินให้กับพ่อแม่จนเกินไปในช่วงเวลาที่รัฐบาลจีนต้องการเพิ่มอัตราการเกิดของประชากรด้วยการผ่อนปรนให้มีทายาทได้ 3 คน

สำหรับพ่อแม่ชนชั้นกลางตามเมืองใหญ่ๆ การเรียนพิเศษถือเป็นเรื่องจำเป็นไม่ต่างกับการตรวจสุขภาพประจำปี และพ่อแม่เหล่านี้ก็ยอมจ่ายเพื่อให้ลูกๆ มีอนาคตที่ดี มีผลการเรียนยอดเยี่ยม  มีคะแนนสอบสูง เพื่อให้ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดังและเป็นการการันตีหน้าที่การงานดีที่ในอนาคต

สมาคมการศึกษาแห่งประเทศจีนเผยว่า นักเรียนจีน 1 คนมีค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษเฉลี่ยต่อปีมากกว่า 12,000 หยวน หรือราว 61,075 บาท มากกว่าเงินเดือนของคนทำงานหลายๆ คน แต่บางบ้านต้องควักเงินมากถึง 300,000 หยวน หรือราว 1,526,124 บาท

ขณะที่รายงานของสถาบันสังคมศาสตร์เซี่ยงไฮ้เมื่อปี 2019 ระบุว่า การเลี้ยงเด็ก 1 คนนับตั้งแต่เกิดจนถึงชั้นมัธยมต้นสำหรับครอบครัวในย่านจิ้งอันของเซี่ยงไฮ้อยู่ที่ 130,000 เหรียญสหรัฐ หรือราว 4,274,140 บาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา 78,713 เหรียญสหรัฐ หรือราว 2,587,729 บาท

และครอบครัวที่มีรายได้น้อยในเซี่ยงไฮ้ซึ่งมีรายได้ต่อปีราว 7,700 เหรียญสหรัฐ หรือราว 253,022 บาท ใช้เงินจำนวนนี้กว่า 70% ไปกับการเลี้ยงดูลูก 1 คน

เมื่อค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูกโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาสูงลิบ บรรดาพ่อแม่จึงต้องการมีลูกเพียงคนเดียวแม้ว่ารัฐบาลจะอนุญาตให้มีได้มากกว่า 2 คนก็ตาม และในท้ายที่สุดอัตราประชากรเกิดใหม่ของจีนก็จะลดลง ส่งผลกระทบต่อแรงงานของประเทศในระยะยาว

ลดความไม่เท่าเทียม

กฎหมายดังกล่าวยังออกมาเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา เนื่องจากหลายครอบครัวไม่สามารถจ่ายค่าเรียนพิเศษที่แพงหูฉี่ให้ลูก

หุ้นโรงเรียนกวดวิชาดิ่ง

คำสั่งดังกล่างส่งแรงกระเพื่อมไปถึงหุ้นของโรงเรียนกวดวิชา ตั้งแต่วันศุกร์ (23 ก.ค.) ที่เริ่มมีข่าวหลุดออกมาก่อนที่คำสั่งจะประกาศอย่างเป็นทางการในวันถัดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอย่าง Gaotu Techedu, New Oriental Education & Technology (ร่วง 75%) และ TAL Education Group (ร่วง 54%)

ขณะที่หุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในจีน อาทิ Nio, Tencent ซึ่งลงทุนอย่างหนักในธุรกิจภาคการศึกษา และ JD ก็พลอยดิ่งไปด้วย เช่นเดียวกับดัชนี Hang Seng ของฮ่องกงที่ร่วงลง 4%

ทรัพย์สินลดหลุดโผมหาเศรษฐี

รายชื่อมหาเศรษฐีของโลกเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาระบุว่า แลร์รี่ เฉิน ผู้ก่อตั้ง Gaotu Techedu มีทรัพย์สิน 10,200 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ตอนนี้ชื่อของเฉินหลุดจากโผนี้แล้ว เนื่องจากทรัพย์สินลดลงเหลือ 390 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังคำสั่งดังกล่าวประกาศออกมา

เช่นเดียวกับคู่แข่งทางธุรกิจอย่าง ไมเคิล หยู หรือหยูหมิ่นหง แห่ง New Oriental ที่ทรัพย์สินลดลงจากเมื่อเดือน เม.ย. 70% เหลือ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่วนทรัพย์สินของจางปังซิน แห่ง TAL Education ลดลงเกือบ 90% เหลือ 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงเวลาเดียวกัน

นอกจากนี้ ทั้ง 3 บริษัทยังเตือนรัฐบาลว่า กฎใหม่ของทางการจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา

การควบคุมจะได้ผลไหม

สุดท้ายแล้วหากจีนยังมีระบบโรงเรียนชั้นนำที่มีที่จำกัดและการสอบเข้าต้องใช้คะแนนสูงๆ บรรดาพ่อแม่จะยังคงเดินหน้าผลักดันให้ลูกเข้าโรงเรียนกวดวิชาเพื่อเพิ่มเกรดให้ได้เข้าโรงเรียนชั้นนำ การยกเครื่องระบบที่เป็นอยู่นี้อาจไม่ใช่เรื่องง่ายหรือจะเปลี่ยนแปลงได้ทันทีทันใด

อินฟลูเอนเซอร์ที่ใช้ชื่อว่า Professor Strongart มองว่า รัฐบาลต้องเข้ามาควบคุมอย่างเข็มงวดจึงจะได้ผล ส่วนเอ็มม่า ซ่ง ซึ่งเป็นผู้ปกครองไม่แน่ใจว่าการปราบปรามโรงเรียนกวดวิชาจะได้ผล เนื่องจาก “หากคุณแบนโรงเรียนกวดวิชา บรรดาพ่อแม่ที่ร่ำรวยก็จะแอบจ่ายเงินให้ครูมาติวให้ลูกที่บ้านอยู่ดี”

เฮเลน ชุยมองว่า ปัญหาคือนักเรียนยังถูกประเมินโดยใช้คะแนนสอบ และการจำกัดหรือปิดโรงเรียนกวดวิชาก็ไม่ช่วยแก้ไขปัญหานี้ ตราบใดที่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยยังมีการแข่งขันสูง นักเรียนก็ยังจำเป็นต้องเรียนพิเศษ

ทว่า ไมเคิล หม่า ซึ่งทำงานในโรงเรียนกวดวิชาเผยกับ Voice of America ว่า เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการมีลูกนั้นรวมถึงการให้การศึกษากับพวกเขาด้วย การควบคุมโรงเรียนกวดวิชาที่มีราคาแพงเป็นวิธีหนึ่งที่ที่จะช่วยลดค่าใช้จ่าย 

ผู้ปกครองหวั่นยิ่งดันราคาค่าติว

ในเว็บไซต์ Zhihu ซึ่งคล้ายกับเว็บไซต์ถามตอบ Quora ของสหรัฐ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลเข้ามาควบคุมธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา ผู้ใช้รายหนึ่งเผยว่า “นี่มันเหมือนกับกฎหมายห้ามสุราของสหรัฐ แน่นอนว่าคุณแบนแอลกอฮอล์ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนไม่ต้องการแอลกอฮอล์นี่ ก็เหมือนกับการแบนโรงเรียนกวดวิชาแหละ ถ้าคุณปิดมัน ก็ไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่จะไม่อยากส่งลูกไปเรียนนี่ ความต้องการยังมีอยู่ มันก็ยิ่งแพงขึ้นเท่านั้นแหละ”

ส่วนอีกรายหนึ่งบอกว่า “นักเรียนที่จบมัธยมต้นเพียงครึ่งเดียวที่ได้เรียนต่อมัธยมปลาย ส่วนอีกครึ่งหนึ่งต้องเรียนต่อสายอาชีพ แล้วมันก็มีโควตา แล้วพ่อแม่ที่ไหนจะต้องการให้ลูกเป็นคนใช้แรงงาน พวกเขาจะทำทุกวิธีเพื่อให้ลูกได้คะแนนสูงๆ เพื่อให้อยู่ในกลุ่มครึ่งแรก”

ส่วน เฮเลน ชุย บอกว่า “ถ้าเราส่งลูกไปเรียนพิเศษไม่ได้และไม่มีเรี่ยวแรงสอนเองเราก็ต้องหาติวเตอร์ที่สอนตัวต่อตัว ซึ่งแพงกว่าการเรียนแบบกลุ่ม 3-5 เท่า มันทำให้เรากังวลมากขึ้น เราต้องจ่ายเงินมากขึ้น และเราไม่มีทางเลือกที่จะไม่ไป”

ต้องปฏิรูปการศึกษาเท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญมองว่าทางเดียวที่จะแก้ได้คือ จีนต้องปฏิรูปการศึกษา จีเฟิงหยวน ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียเผยกับ ABC ว่า “การศึกษาของจีนต้องการการปฏิรูปอย่างล้ำลึก ต้องมีช่องว่างให้เด็กมีเวลาส่วนตัว เพื่อปลดปล่อยพลังงาน และเป็นตัวของตัวเอง”

จียังเผยอีกว่า เธอเข้าใจว่าทำไมเด็กๆ จึงต้องเรียนหนัก เพราะการแข่งขันหยั่งรากลึกในวัฒนธรรมจีนมานานนับพันปี และมีเพียงวิธีเดียวที่จะได้รับการยอมรับทางสังคม นั่นคือผ่านการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น

เช่นเดียวกับ สวงปิงฉี ประธานสถาบัน 21st Century Education Research เผยว่า ต้องปฏิรูประบบการสอบเพื่อลดความจำเป็นการในเรียนพิเศษ “ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ประเมินนักเรียนจากคะแนนอย่างเดียวคือสาเหตุที่ผู้ปกครองกังวล ภายใต้ระบบการประเมินนี้ ผู้ปกครองทุกคนล้วนต้องการให้ลูกๆ ได้เกรดสูงและอยู่ในอันดับต้นๆ เพื่อให้เข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ได้”

REUTERS/Stringer