posttoday

Self-medicating ให้ประชาชนรับยามารักษาตัวเองอันตรายแค่ไหน?

22 กรกฎาคม 2564

ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก รวมทั้ง WHO เตือนใช้ยาต้านไวรัสเองโดยไม่มีใบสั่งแพทย์เสี่ยงเกิดเชื้อดื้อยาทำให้อาการ Covid-19 รุนแรงขึ้น

จากกรณีที่มีเสียงเรียกร้องให้ทางการไทยแจกยาให้ประชาชนใช้ยารักษาตัวเองเมื่อติด Covid-19 อาทิ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ที่ให้สัมภาษณ์กับโพสต์ทูเดย์ว่ารัฐต้องผลิตยาฟาวิพิราเวียร์แจกประชาชน

และดราม่าผู้ประกาศข่าวในเรื่องเดียวกันนี้ที่ทำให้ พญ.นงนลินี จัยสิน ต้องออกมาบอกว่า “...ถ้าการรักษามันง่ายแบบเอายาสักวิเศษสักตัวไล่แจกคนไข้แล้วหายได้ หมอทุกคนคงไม่เหนื่อย แต่สิ่งที่ทุกคนเหนื่อยต้องมาคัดกรองคนไข้แยกสี แยกแนวทางรักษา....เพราะกลัวคนไข้สีเขียวที่ได้ยาเร็วแล้วดื้อยา กลัวยากินเองไม่ครบโดสยิ่งดื้อมาก และกลัวเชื้อกลายพันธุ์เช่นที่อินเดียอังกฤษแจกยาคนไข้กินเอง”

และอีกโพสต์หนึ่ง พญ.นงนลินี บอกว่า “ถ้ารักษาคนไข้หนักกันเอาเอง เราก็จะเหมือนอังกฤษ ที่ช่วงนึงคนตายเยอะมากเพราะแจกยาต้านไวรัสและสเตียรอยด์ ผลที่ตามมาคือได้พันธุ์ไวรัสเป็นของตัวเอง”

แม้ว่าการรักษาอาการป่วยด้วยตัวเอง หรือ Self-Medicating ในช่วงที่ Covid-19 ระบาดหนักสามารถลดภาระของบุคลากรทาการแพทย์ได้ แต่การขาดความรู้ว่าความใจในการใช้ยาอาจนำมาสู่การใช้ยาเกินขนาดจนเชื้อดื้อยา

อันที่จริงมีการใช้ยาปฏิชีวนะ (antibiotics) อาทิ สเตียรอยด์ ยาต้านปรสิตอย่างไอเวอร์เมกติน (Ivermectin) หรือยาต้านไวรัสอย่างฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) และเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ในผู้ป่วย Covid-19 อย่างแพร่หลายในหลายประเทศ

งานวิจัยซึ่งเผยแพร่ในฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ของศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติของสหรัฐ (NCBI) ระบุว่า มีรายงานว่า 68.9% ของผู้ป่วย Covid-19 ใช้ยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะอะซิโทรมัยซิน (azithromycin) และเซฟไตรอะโซน (ceftriaxone) ก่อนเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และกินยาด้วยตัวเองอยู่ที่ 33%

หลายประเทศ อาทิ บราซิล โบลิเวีย เปรู แอฟริกาใต้ และสหรัฐ มีการใช้ Ivermectin ที่ใช้รักษาโรคพยาธิตาบอดที่เกิดจากแมลงวัน ทั้งโดยแพทย์และผู้ป่วย Self-Medicating โดยในสหรัฐ SingleCare ผู้จัดจำหน่ายยาตามใบสั่งแพทย์เผยว่า ระหว่างเดือน ม.ค.-ก.พ.ปีนี้ มีใบสั่งยา Ivermectin ถึง 817 ใบ ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วมีเพียง 92 ใบเท่านั้น

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าผลการศึกษาที่บอกว่ายานี้สามารถฆ่า Covid-19 ในหลอดทดลองในห้องปฏิบัติการแต่ยังเป็นการศึกษาเล็กๆ เท่านั้น และต้องใช้ยาในปริมาณมากกว่าปกติ และยังเร็วเกินไปที่จะแนะนำให้ใช้กับผู้ป่วย Covid-19

ส่วนในออสเตรเลียมีข้อมูลว่าผู้ป่วย Covid-19 ที่ใช้ยาปฏิชีวนะรักษาตัวเองราว 19.5%

เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนา อาทิ อินเดีย ที่ประชาชนใช้ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน (hydroxychloroquine) และคลอโรควิน (chloroquine) รวมทั้งสเตียรอยด์โดยไม่มีใบสั่งแพทย์เพื่อป้องกัน Covid-19 อย่างแพร่หลาย

ในกรณีของอินเดียนั้น เมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมาผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโควิด-19 มากเกินไปจะทำให้เกิดเชื้อดื้อยาหรือ superbug เสมือนเป็นการเติมน้ำมันลงกองไปในขณะที่อินเดียกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 หนักอยู่แล้ว

โดยในขณะนั้นผู้ป่วยในอินเดียได้รับยาปฏิชีวินะที่รุนแรงอย่างเช่น azithromycin และ doxycycline แม้ว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) จะไม่แนะนำให้ใช้หรือใช้ในกรณีผู้ป่วยที่ต้องสงสัยติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น

นอกจากนี้สภาวิจัยทางการแพทย์แห่งอินเดียแนะนำให้ใช้ยา ivermectin และ hydroxychloroquine เป็นยาทางเลือกในการรักษาโควิด-19 ขณะที่องค์การอนามัยโลกชี้ว่ายังไม่มีหลักฐานมากพอว่าควรใช้

แต่ด้วยความขาดแคลนยาและมีผู้ป่วยจำนวนมากจึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องใช้ยาเหล่านั้น ซึ่ง Kamini Walia นักจุลชีววิทยาของสภาวิจัยทางการแพทย์แห่งอินเดียชี้ว่า "ความกลัวว่าจะไม่สามารถรักษาผู้ป่วยและการขาดแคลนยารักษาโควิด-19 โดยเฉพาะนำไปสู่การใช้ยาปฏิชีวนะเกินขนาด"

นิตยสาร Infection And Drug Resistance ซึ่งเผยแพร่ในเดือนเดียวกันนั้นทีมนักวิจัยในอินเดียได้วิเคราะห์ผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 17,534 คนที่รักษาตัวในโรงพยาบาล 10 แห่ง พบว่าผู้ป่วย 640 คนมีการติดเชื้อทุติยภูมิ (secondary microbrial infection) หรือการติดเชื้ออื่นนอกเหนือจากโควิด-19 ซึ่งส่วนใหญ่ติดเชื้อในโรงพยาบาล

โดยเชื้อดื้อยาที่รุนแรงอย่างเช่น K.pneumoniae และ A.baumannii ซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่ติดเชื้อทุติยภูมิ

ทั้งนี้ อินเดียใช้ยาสเตียรอยด์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อลดอาการอักเสบของปอด ขณะเดียวกันมันส่งผลกระทบต่อภูมิคุ้มกันของร่างกายซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีแนวโน้มติดเชื้อดื้อยามากขึ้น

รวมถึงประชาชนบางคนซื้อยากินเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก็ทำให้เกิดการติดเชื้อดื้อยาได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้อีกหนึ่งสิ่งที่น่ากังวลอย่างมากในอินเดียคือเชื้อราดำ (Mucormycosis) ซึ่งผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์แห่งอินเดีย (AIIMS) ระบุว่าการใช้สเตียรอยด์โดยผิดวิธีก็เป็นสาเหตุสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการติดเชื้อเช่นกัน รวมถึงเชื้อราขาวและเชื้อราเหลืองซึ่งเกิดจากการได้รับสเตียรอยด์เป็นเวลานาน

ต่อมาในเดือนมิ.ย. กระทรวงสาธารณสุขอินเดียได้ประกาศเลิกใช้ยา ivermectin, hydroxychloroquine, doxycycline, zinc และวิตามินในการรักษาโควิด-19 ทุกกรณี

โดยอนุญาตให้ใช้ remdesivir สำหรับกรณีฉุกเฉินในผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางถึงหนัก สำหรับผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการเล็กน้อยไม่จำเป็นต้องใช้ยาใดๆ แต่ให้สังเกตอาการ วัดไข้ และวัดระดับออกซิเจน

ขณะที่ได้มีการอนุมัติใช้ 2-deoxy-D-glucose หรือ 2-DG ยารักษาโควิด-19 ที่ผลิตเองสำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการักษาในโรงพยาบาลเพื่อให้ฟื้นตัวเร็วขึ้นและลดการพึ่งพาออกซิเจนช่วยหายใจ แม้ว่าในตอนนั้นจะถูกวิพากษ์วิจารณ์และกังวลถึงความปลอดภัยเนื่องจากยาดังกล่าวยังไม่มีข้อมูลการทดลองในมนุษย์มากพอว่าสามารถรักษาอาการป่วยได้เพียงใด

ด้วยความที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะกันอย่างแพร่หลาย ผู้เชี่ยวชาญจึงเตือนว่าการใช้วิธีรักษาตัวเองอยู่ที่บ้านของผู้ป่วย Covid-19 อาจนำมาสู่การใช้ยาเกินขนาด เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ และอาจเกิดเชื้อดื้อยาดังที่ พญ.นงนลินี จัยสิน กังวลว่าจะเกิดกับประเทศไทย

องค์การอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) ประกาศว่า การใช้ยาไฮดรอกซีคลอโรควินและคลอโรควินในผู้ป่วย Covid-19 ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางไม่ปลอดภัย โดยอ้างอิงข้อมูลจากดัชนีการรักษาผู้ป่วย Covid-19 ในประเทศ

เช่นเดียวกับที่กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษออกคำเตือนว่า ควรใช้เดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) เฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหนักเท่านั้น ไม่ควรใช้ในกรณี Self-Medicating ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง เนื่องจากปัญหาเรื่องความปลอดภัยของยาชนิดนี้

ด้าน เทดรอส อัดฮานอม กรีเบเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกเตือนว่า การใช้ยาปฏิชีวนะกับผู้ป่วย Covid-19 เกินความจำเป็นจะทำให้เกิดเชื้อดื้อยา และในท้ายที่สุดจะนำมาสู่การเสียชีวิตเพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดและหลังจากนั้น และเผยอีกว่า มีผู้ป่วยเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่เกิดตามมา

คำแนะนำขององค์การอนามัยโลกสำหรับ Self-Medicating คือ ต้องทำภายใต้การควบคุมที่เหมาะสมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่รายได้ต่ำถึงปานกลางซึ่งกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ และมักจะมีมาตรฐานการศึกษาต่ำ และมีสถานบริการสาธารณสุขไม่เพียงพอโดยเฉพาะในช่วงที่ Covid-19 ระบาด

บรรดาแพทย์ในอินเดียซึ่งประสบปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะเกินจำเป็นต่างก็ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยซื้อยามาทานเอง

แพทย์จากสถาบันเพื่อการศึกษาและการวิจัยทางการแพทย์ของอินเดีย (PGIMER) เตือนว่า การใช้ยาต้านไวรัส สเตียรอยด์ ยาปฏิชีวนะโดยไม่ปรึกษาแพทย์อาจทำให้อาการป่วย Covid-19 รุนแรงขึ้น

ศาสตราจารย์ จีดี ปุริ หัวหน้าฝ่ายวิสัญญีและผู้ป่วยวิกฤตเผยว่า ยาบางชนิด อาทิ สเตียรอยด์ และการใช้เรมเดซิเวียร์ โทลิซูแมบ (Tocilizumab) และอิโตลิซูแมบ (Itolizumab) โดยไม่จำเป็นอาจเป็นอันตราย แทนที่จะช่วยผู้ป่วยแต่ยาพวกนี้อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น

ศาสตราจารย์ปุริเผยอีกว่า สเตียรอยด์สามารถทำให้เชื้อไวรัสในร่างกายเพิ่มขึ้น และหากได้รับหลังจากติดเชื้อในช่วงแรกจะเพิ่มความรุนแรงของความเสียหายที่เกิดจากไวรัส เวลาที่ถูกต้องในการใช้สเตียรอยด์คือ หลังจากเชื้อไวรัสหยุดแบ่งตัวในร่างกายผู้ป่วยแล้ว

การศึกษาของ PGIMER พบว่า หากให้สเตียรอยด์ก่อนที่เชื้อไวรัสจะหยุดแบ่งตัวจะเพิ่มอัตราการเสียชีวิตหรือทำให้อาการรุนแรงขึ้น โดยควรหลีกเลี่ยงการใช้สเตียรอยด์ในช่วงสัปดาห์แรกของการติดเชื้อ

ในขณะที่การเกิดภาวะเชื้อดื้อยา ซึ่งองค์การอนามัยโลกประกาศว่าเป็น 1 ใน 10 ภัยคุกคามด้านสาธารณสุขของมนุษย์ชาติ จะมีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ป่วยคือ เพิ่มอัตราการเสียชีวิตซึ่งการคาดการณ์ในแง่ร้ายพบว่าภายในปี 2050 จะมีผู้เสียชีวิตจากภาวะเชื้อดื้อยาราว 10 ล้านคน

ภาวะเชื้อดื้อยายังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ในกรณีมีการเกิดเชื้อดื้อยาจำนวนมากธนาคารโลกประเมินไว้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขโลกอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และจีดีพีจะลดลง 3.8% หรือ 6.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2050

โดยสรุปก็คือ สเตียรอยด์ ยาปฏิชีวนะ ไอเวอร์เมกติน ฟาวิพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ เป็นต้น เป็นยาที่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์และต้องใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์ เนื่องจากมีทั้งความเสี่ยงและประโยชน์