posttoday

เมื่อไข้หวัดสเปนไม่ได้ไปไหน แล้วเราจะอยู่ร่วมกับโควิดได้ไหม?

01 กรกฎาคม 2564

หลังจากผ่านมา 100 ปีหลังการระบาดใหญ่ของไข้หวัดสเปน มันไม่ได้หายไปไหน แต่มันอยู่กับเรามาโดยตลอด เราจะใช้วิธีเดียวดันอยุ่กับโควิด-19 ได้หรือไม่?

มีบางคนเริ่มพูดว่า "เราต้องอยู่กับโควิด-19 ให้ได้" ซึ่งหมายความว่าเราจะต้องปรับตัวอยู่กับมันตลอดไป เพราะโรคจะไม่มีทางหายไปง่ายๆ ถึงแม้ว่าเราจะฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงก็ตาม

ในเวลาที่บทความนี้เขียนขึ้น ไม่กี่วันก่อนสิงคโปร์ผลักดันโรดแม็พการรับมือโควิด-19 ที่เสนอยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ ยกเลิกการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัว อนุญาตให้รวมตัวกันกลุ่มใหญ่ หรือแม้กระทั่งยกเลิกการนับจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน

เพราะสิงคโปร์มองว่าการควบคุมให้ผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ หากมัวแต่ใช้วิธีการเดิมๆ ข้างต้น ไหนจะมีการกลายพันธุ์ราวกับไม่มีที่สิ้นสุดของเชื้อไวรัสอีก จะทำให้สิงคโปร์วนอยู่กับการล็อคดาวน์และมาตรการจำกัดจนตามประเทศอื่นไม่ทันโดยเฉพาะคู่แข่งที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจการเงินอื่นๆ ของโลกที่เปิดเมืองกันแล้ว

มาตรการแบบนี้อาจดูเหมือนเกิดจากความสิ้นหวัง แต่จริงๆ แล้วตั้งอยู่บนหลักการที่สมเหตุสมผล คือสิงคโปร์ฉีดวัคซีนในสัดส่วนของค่อนข้างมากแล้ว และระบบสาธารณสุขรองรับไหวหากเกิดตูมตามอะไรขึ้นมา

ต่อให้เชื้อกลายพันธุ์อีกหรือพบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพน้อยลง สิงคโปร์และประเทศอื่นๆ ที่ฉีดวัคซีนถ้วนหน้าก็ต้องทำแบบเดียวกันคือเปิดเมืองซะทีและเลิกนับหัวคนป่วยมาประกาศแบบรายวัน เพราะถึงวัคซีนจะกันโรคไม่ได้ 100% แต่อย่างน้อยมันช่วยไม่ให้เกิดอาการรุนแรงได้และช่วยให้เกิดภูมิคุ้นกันหมู่ได้จนไม่ต้องติดเชื้อในวงกว้างอีก

ที่สำคัญคือหากมองย้อนกลับไปในอดีต โรคระบาดใหญ่ๆ แบบนี้ไม่มีทางจบลงตามใจนึกของมุนษย์ มันจะอยู่กับเราไปอีกหลายสิบปี เพียงแต่เชื้อจะมีวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับมนุษย์ที่พัฒนาการเอาตัวเองให้รอดไปเรื่อยๆ จนกระทั่งอยู่ร่วมกันได้ จนแทบไม่สังเกตว่ามีโรคนี้อยู่

ยกตัวอย่างเช่น ไข้หวัดสเปนที่ระบาดเมื่อ 100 ปีก่อน มันทำให้มนุษย์ชาติล้มตายไปถึง 40 ล้านคน ระบาดไปทั่วทุกหนแห่ง แม้แต่ในประเทศสยาม

ไข้หวัดใหญ่แพร่กระจายในสามระลอก ครั้งแรกในฤดูใบไม้ผลิของปี 1918 (พ.ศ. 2461) ครั้งที่สองตั้งแต่กันยายน 1918 ถึงมกราคม 1919 (พ.ศ. 2462) ซึ่งเป็นระลอกร้ายแรงที่สุด และครั้งที่สามตั้งแต่กุมภาพันธ์จากนั้นลากยาวไปจนถึงสิ้นปี

อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะเทียบกับการระบาดของโควิด แต่ตอนนี้เราเจอสถานการณ์คล้ายๆ กันคือการระบาดประมาณ 3 ระลอก ซึ่งระลอกที่ 3 อาจเรียกได้ว่าเป็นการคุกคามของเชื้อสายพันธุ์เดลตา

ในอินเดียนับการระบาดของสายพันธุ์เดลตาเป็นการระบาดระลอกที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงที่สาหัสที่สุดซึ่งคล้ายกับช่วงไข้หวันสเปนระบาดที่ระลอกสองหนักที่สุด เมื่อ 100 ปีที่แล้วอินเดียยังเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดจากไข้หวัดสเปนคือ 16.7 ล้านคน

ในเวลานั้นยังไม่มีวัคซีน แต่ละท้องที่ต้องอาศัย "ความฉลาดเฉลียว" ของผู้บริหารปกครองว่าควรจะล็อคดาวน์หรือไม่ เช่นในสหรัฐบางท้องที่ปล่อยปละละเลยทำให้ผู้คนล้มตายเป็นใบไม้ร่วง เศรษฐกิจเสียหายย่อยยับ บางท้องที่ล็อคดาวน์อย่างรวดเร็วทำให้รอดมาได้

ในออสเตรเลียมีอัตราการตายจากไข้หวัดสเปนเพียง 0.3% เพราะมาตรการกักกันโรค ในระหว่างการระบาดของโควิด-19 ออสเตรเลียยังมีอัตราการติดเชื้อและตายไม่สูงนักเช่นกัน

ในยุคโควิด เพราะการฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น หลายๆ ประเทศอาจจะหลุดพ้นจากการคุกคามหนักๆ ได้ภายในปลายปีนี้เหมือนกับไข้หวัดสเปนที่หมดฤทธิ์การระบาดไปช่วงปลายปีหลังเกิดในระลอกที่ 3

ผู้เขียนใช้คำว่า "หมดฤทธิ์การระบาด" หมายความว่าการระบาดใหญ่จบลง แต่ไม่ได้หมายความเชื้อไข้หวัดใหญ่จะอันตรธานไปจากโลกนี้

ในงานวิชาการเรื่อง The Persistent Legacy of the 1918 Influenza Virus (มรดกที่คงอยู่ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ปี 1918) เผยแพร่เมื่อกรกฎาคม 2009 ร่วมเขียนโดย ดร. แอนโทนี ฟอซี (Anthony S. Fauci, M.D.) ขึ้นต้นบทความก็บอกเลยว่าเชื้อไข้หวัดใหญ่สเปนไม่ได้หายไปไหน

"การสืบเชื้อสายของไวรัส H1N1 ไข้หวัดใหญ่ A ที่ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์และหายนะในปี 1918–1919 ยังคงมีอยู่ในมนุษย์มานานกว่า 90 ปี และยีนของพวกมันยังมีส่วนในการสร้างไวรัสใหม่ๆ ทำให้เกิดโรคระบาดใหญ่ โรคระบาดในท้องที่ และการระบาดของโรคที่เกิดกับสัตว์"

ไม่น่าเชื่อว่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ทำให้คนตายไปทั่วโลกยังไม่หายไปไหน มันยังคงอยู่ท่ามกลางพวกเรามานานถึง 100 ปีแล้วหรือผ่านมา 91 ปีตอนที่บทความข้างต้นถูกเขียนขึ้น

พูดง่ายๆ ตามคำอธิบายของบทความวิชาการนี้ก็คือ "วิธีคิดที่มีประโยชน์เกี่ยวกับเหตุการณ์ไข้หวัดใหญ่ A ในช่วง 91 ปีที่ผ่านมาคือการตระหนักว่าเรากำลังอยู่ในยุคโรคระบาดที่เริ่มขึ้นเมื่อราวปี 1918" สั้นๆ ก็คือเรายังไม่พ้นจากการระบาดเมื่อปี 1918 นั่นเอง เพราะเชื้อไม่ได้หายไปไหน

แต่ทำไมไข้หวัดใหญ่สเปนถึงไม่คร่าชีวิตผู้คนในคราวเดียวไปมากมายเหมือนระหว่งปี 1918 - 1920? อันที่จริงแล้วไม่ใช่ว่ามันจะหมดฤทธิ์ลง แต่มันหลบฉากไปก่อนเมื่อภูมิคุ้มกันของมนุษย์ต้านมันได้ เหมือนการทำสงครามที่มีชิงไหวชิงพริบ รู้หลบเป็นปีกรู้หลีกเป็นหาง แล้วค่อยโจมตีเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ไวรัสก็เช่นกัน บทความอธิบายว่า

"เมื่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ปรากฏขึ้นและทำให้เกิดการระบาดใหญ่ ภูมิคุ้มกันของประชากรต่อโปรตีน HA และ NA ของพวกมันจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แรงต้านอันทรงพลังของภูมิคุ้มกันของประชากรจะปะทะเข้ากับความสามารถที่โดดเด่นของไวรัสไข้หวัดใหญ่ในการวิวัฒนาการโดยการกลายพันธุ์ (drift)"

หรือถ้าไม่กลายพันธุ์ไวรัสก็จะผสานองค์ประกอบด้านพันธุกรรมจากโปรตีน HA ที่แตกต่างออกไป (shift) การ shift ของไวรัสแบบนี้ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ของลูกหลานไข้หวัดสเปนอีกรอบในปี 1957 (สายพันธุ์ H2N2) และ 1968 (สายพันธุ์ H3N2) ซึ่งเป็นระดับน้องๆ การระบาดใหญ่ และยังเกิดการระบาดที่กึ่งๆ การระบาดใหญ่ในปี 1947 (สายพันธุ์ H1N1), 1951 (สายพันธุ์ H1N1), 1997 (สายพันธุ์ H3N2), และปี 2003 (สายพันธุ์ H3N2) ทั้งหมดนี้สืบสายมาจากไข้หวัดสเปนทั้งสิ้น

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่บทความของดร. แอนโทนี ฟอซีและคณะจะบอกว่าเรายังไม่พ้นจากไข้หวัดใหญ่ เพราะเรายังอยู่กับลูกหลานของมันที่ก่อกวนเราเป็นระยะ

อีกคนที่บอกเหมือนกันคือ แอน รีด (Ann Reid) ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์การศึกษาวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งประสบความสำเร็จในการจัดลำดับองค์ประกอบทางพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดสเปนบอกกับ The Washington Post ว่า “มันไม่เคยหายไป”

เป็นเรี่องบังเอิญที่ดร. แอนโทนี ฟอซีผู้เขียนเรื่องไข้หวัดใหญ่สเปนจะกลายมาเป็นหนึ่งในผู้บัญชากรรด้านการแพทย์คนสำคัญของสหรัฐในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และ คุณหมอน่าจะมองเห็นความเหมือนระหว่างโควิด-19 และไข้หวัดสเปน

ว่ากันตามเนื้อผ้าแล้วโรคไข้หวัดสเปนกับโควิด-19 แตกต่างกันทั้งอาการและเป็นเชื้อคนละตัว บริบทยังต่างกันคือเมื่อ 100 ปีก่อนเทคโนโลยีทางการแพทย์ยังไม่ก้าวหน้าเท่าทุกวันนี้ ทุกวันนี้เราสามารถผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตไปได้มาก

อย่างไก็ตาม รายงาน ณ เวลานั้นชี้ว่าไวรัสไข้หวัดสเปนมีอัตราการเสียชีวิตน้อยลงเมื่อผ่านการระบาดระลอกต่างๆ แต่กับโควิดเมื่อถึงการระบาดระลอกที่ 3 เชื้อวิวัฒนาการเป็นสายพันธุ์ต่างๆ รวมถึงเดลตาที่ร้ายกาจยิ่ง สถานการณ์จึงต่างจากไข้หวัดสเปนที่ไร้วัคซีนและคนตายมาก แต่เมื่อถึงเวลานานๆ เข้าดูเหมือนมนุษย์จะสร้างภูมิคุ้มกันตัวเองจนเชื้อต้องหลบไปพักใหญ่

ส่วนโควิด-19 ในตอนนี้หลายประเทศคนติดและตายน้อยลงเพราะวัคซีน แต่กลับมีเชื้อสายพันธุ์รุนแรงกว่าเกิดขึ้นมา จะเป็นเพราะมันดื้อหรือวิวัฒนาการเอาตัวรอดจากวัคซีนหรือไม่? ยังไม่นับประสิทธิภาพของวัคซีนที่ยังไม่แน่นอนในเรื่องผลค้างเคียงและการรับมือสายพันธุ์ใหม่ๆ แม้แต่วัคซีนที่คนคิดว่าดีที่สุด

แต่ไม่แน่ว่าเราอาจจะต้องใช้สูตรแบบเดียวกับตอนไข้หวัดสเปนคือต้องหาทางอยู่กับมันให้ได้ เพราะมันจะไม่ไปไหน อาจจะอยู่ยาวไปเป็นร้อยปี และวิวัฒนาการตัวองเพื่อรบกับมนุษย์ไปเรื่อยๆ ดังนั้น ประเทศที่มองออกจึงปรับยุทธศาสตร์ใหม่เป็นการอยู่กับมันอย่างระมัดระวังตัว แทนที่จะอยู่อย่างหวาดกลัวไปตลอด

สิ่งที่สิงคโปร์ทำคือ ระดมฉีดวัคซีนให้ประชาชน, เริ่มกระบวนการที่จะนำมาสู่การกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ แต่ก็วางแผนวัคซีนล่วงหน้าหลายๆ ปี เนื่องจากในอนาคตอาจต้องฉีดวัคซีนกระตุ้น

คีย์เวิร์ดของโรดแมพของสิงคโปร์อยู่ตรงที่การฉีดวัคซีนให้มากทีสุ่ดแต่ไม่ใช่ฉีดแล้วฉีดเลย ต้องฉีดกันต่ออีกหลายปี จนกว่าเชื้อจะหมดแรงไป

บางคนอาจจะเถียงว่าสิงคโปร์เป็นเกาะจึงควบคุมการระบาดง่าย (เหมือนออสเตรเลียที่เป็นเกาะหรือทวีปโดดๆ ซึ่งอาจทำให้ควบคุมการระบาดของไข้หวัดสเปนกับโควิด-19 ได้ค่อนข้าง "โอเค") แต่เราจะต้องไม่ลืมว่าที่สิงคโปร์ทำแบบนี้ก็เพื่อจะเปิดพรมแดนให้คนนอกเข้ามานั่นเอง เพราะหากไม่เปิดสิงคโปร์จะติดแหงกอยู่กับความสำเร็จเฉาพะในบ้านตัวเอง จนสู้คู่แข่งที่เปิดประเทศไม่ได้

ถึงจุดนี้รัฐบาลไทยอาจะต้องคิดเหมือนแล้วว่าจะให้ประชาชนอยู่กับโรคอย่างไร (โดยให้ประชาชนด่าน้อยที่สุด) เพราะต้นทุนการล็อคดาวน์จะสูงขึ้นทุกทีๆ จนคำสั่งล่าสุดที่ห้ามนั่งในร้านอาหารมีผู้ประกอบการแสดงอาการขัดขืนกันมากขึ้น ส่วนอาชีพอื่นๆ นั้นไม่ต้องพูดถึง สายป่านขาดกันเป็นแถวๆ แล้ว

วิธีแก้ก็คือสูตรสิงคโปร์: ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมที่สุด แล้วเปิดประเทศให้ปกติ พร้อมกำชับให้ประชาชนป้องกันตัวเองอย่างเต็มที่เพื่ออยู่กับโรคไปสักระยะ เผื่อว่ามันจะสู้ภูมิคุ้มกันมนุษย์ไม่ไหวจนหลบหน้าไปแบบไข้หวัดสเปน

กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Oli SCARFF / AFP