posttoday

อันเดรียส ครีเกอร์ นักกีฬาหญิงที่ถูกวางยาโด๊ปจนกลายเป็นผู้ชาย

23 มิถุนายน 2564

เปิดเรื่องราวของนักกีฬาหญิงทีมชาติเยอรมันตะวันออกที่ถูกรัฐบาลวางยาโด๊ปจนร่างกายบึกบึนเหมือนผู้ชาย

ก่อนที่กำแพงเบอร์ลินที่แยกเยอรมนีออกเป็นฝั่งตะวันออกและตะวันตกจะพังทลายลงในปี 1989 เยอรมันตะวันออกซึ่งเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียต ต้องการประกาศศักดาและความยิ่งใหญ่ของตัวเองไปทุกเรื่อง รวมทั้งเรื่องกีฬาในเวทีระดับโลก

รัฐบาลเยอรมันตะวันออกต้องการให้นักกีฬาโกยเหรียญทองให้ได้มากที่สุดจะได้เป็นที่จดจำของชาวโลก ดังนั้นนอกจากการฝึกหนักแบบรากเลือดแล้ว รัฐบาลยังตัดสินใจใช้ยาโด๊ป หรือสารกระตุ้นกับนักกีฬาด้วยวิธีสุดโต่งเกินคาดคิด คือให้ฮอร์โมนเพศชายกับนักกีฬาหญิงต่อเนื่องตั้งแต่อายุเพียง 10 ขวบเท่านั้น

แม้จะประสบความสำเร็จอย่างที่รัฐบาลตั้งใจไว้ เยอรมันตะวันออกคว้าเหรียญได้มากที่สุดเป็นอันดับ 2 หลายครั้งในโอลิมปิก อาทิ ปี 1976 ที่มอนทรีอัล ปี 1980 ที่มอสโก และปี 1988 ที่โซล แต่สุดท้ายการใช้สารกระตุ้นกลับส่งผลเสียกับสุขภาพของนักกีฬาจำนวนไม่น้อย แต่ไม่มีใครกล้าออกมาพูดจนกระทั่งระบบคอมมิวนิสต์ในยุโรปล่มสลายไปพร้อมกับกำแพงเบอร์ลินเมื่อ 32 ปีที่แล้ว

หนึ่งในนั้นคือ อันเดรียส ครีเกอร์ (Andreas Krieger)

ครีเกอร์เคยลงแข่งกีฬาทุ่มน้ำหนักหญิงของเยอรมันตะวันออกในชื่อ ไฮดี ครีเกอร์ (Heidi Krieger) ครีเกอร์ถูกหลอกให้รับอะนาโบลิค สเตียรอยด์ ซึ่งมีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศชายด้วยตั้งแต่อายุ 16 ปี จนอายุ 18 ปีก็เริ่มมีรูปร่างคล้ายผู้ชายมากขึ้น และมีรูปลักษณ์เหมือนผู้ชายเต็มตัวในที่สุดหลังรับยาต่อเนื่องหลายปี

หนังสือเรื่อง Doping: From Research to Deceit (การโด๊ป: จากการวิจัยสู่กลโกง) ของ เวอร์เนอร์ แฟรงค์ และบริจิตต์ เบเรนดองค์ ระบุว่า เฉพาะปี 1986 ครีเกอร์ได้รับสเตรียรอยด์เกือบ 2,600 มิลลิกรัม มากกว่าปริมาณที่ เบ็น จอห์นสัน นักวิ่งระยะสั้นทีมชาติแคนาดาใช้ระหว่างแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนเมื่อปี 1988 เกือบ 1,000 มิลลิกรัม

ภายหลังครีเกอร์เผยกับสำนักข่าว AFP ว่า “ผมไม่เคยมีโอกาสได้พูดว่าผมไม่ต้องการใช้ฮอร์โมน ผมอายุแค่ 16 ตอนที่โค้ชให้กินยาเม็ดสีน้ำเงินครั้งแรก” บวกกับในขณะนั้นนักกีฬามีหน้าที่เพียงทำตามคำสั่งของโค้ชเท่านั้น

นอกจากการใช้สารกระตุ้นที่ครีเกอร์ไม่รู้ตัว เจ้าตัวยังต้องซ้อมหนักชนิดรากเลือด โดยครั้งหนึ่งเจ้าตัวต้องยกน้ำหนักมากกว่า 100 ตันตลอดช่วงการฝึกซ้อม 2 สัปดาห์ จนทำให้หัวเข่า สะโพก และหลังของครีเกอร์เจ็บมาจนถึงทุกวันนี้

ในปี 1986 ขณะอายุ 20 ปี ครีเกอร์เข้าร่วมแข่งขันทุ่มน้ำหนักหญิงในรายการ European Athletics Championships ที่เมืองชตุตการ์ท และคว้าเหรียญทองมาครองได้สำเร็จ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโดนรัฐบาลโด๊ปจนได้เปรียบคู่แข่งด้านร่างกาย

ครีเกอร์เปิดเผยว่า โครงการโด๊ปนักกีฬาของเยอรมันตะวันออกนี้มีชื่อว่า State Plan 1425 มีการวางแผนอย่างเป็นระบบและเฝ้าจับตาดูทุกๆ ขั้นตอน ตั้งแต่การวิจัยไปจนถึงนักกีฬา โดยตัวเขาเป็น “นักกีฬาคนที่ 54” ในรายชื่อของโครงการนี้ เพื่อให้ประเทศหลังม่านเหล็กแห่งนี้กลายเป็นโรงงานผลิตเหรียญรางวัล

ส่วนยาที่ใช้กับเขาเรียกว่า Oral-Turinabol ซึ่งเป็นสารสเตียรอยด์ที่ยังตรวจไม่พบในสมัยนั้น ผสมกับยาคุมกำเนิด ซึ่งช่วยเพิ่มกล้ามเนื้อและในขณะเดียวกันก็ค่อยๆ ขโมยความเป็นผู้หญิงไปจาก ไฮดี ครีเกอร์

ครีเกอร์เป็นหนึ่งในนักกีฬาของเยอรมันตะวันออกราว 1,000 คนที่อยู่ในโครงการโด๊ปนี้ ทว่ากว่าครีเกอร์จะรู้ตัวว่าการใช้ฮอร์โมนเพศชายทำให้ตัวเองมีรูปร่างและลักษณะเหมือนผู้ชายก็ในช่วงที่ประกาศแขวนลูกเหล็กในปี 1990 และเพิ่งทราบระหว่างการให้การต่อศาลที่ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่การกีฬาของเยอรมันตะวันออกเมื่อปี 2000 ว่าเหรียญทองที่ ไฮดี ครีเกอร์ คว้ามาได้มาจากความช่วยเหลือด้วยวิธีการคดโกงของรัฐบาล

ครีเกอร์เผยว่า “ผมพบว่าความสำเร็จของผมไม่มีอยู่จริง ผมชนะเพราะสารเคมี แต่ผมไม่ได้จัดหามันด้วยตัวเอง”

ภายหลังครีเกอร์บริจาคเหรียญทองเหรียญนี้ให้กับสมาคมของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการใช้สารกระตุ้นในเยอรมันตะวันออก โดยบอกว่า “ตอนนี้เหรียญนั้นไม่มีความหมายกับผมแล้ว”

หลังจากรีไทร์ออกมาแล้ว ครีเกอร์เริ่มรู้สึกแปลกๆ และสับสนกับรูปลักษณ์และเพศของตัวเอง จนกระทั่งได้พบกับชายข้ามเพศคนหนึ่งเมื่อปี 1995 ทำให้ครีเกอร์รู้ตัวว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจเขามานาน ปี 1997 เขาจึงตัดสินใจผ่าตัดแปลงเพศเป็นชายข้ามเพศและเปลี่ยนเชื่อเป็น แอนเดรียส ครีเกอร์ นับแต่นั้นมา

ครีเกอร์เคยรู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกและมีความรู้สึกคล้ายๆ กับว่าอยากเป็นผู้ชาย และเผยกับ The New York Times เมื่อปี 2004 ว่า รู้สึกดีที่ได้เป็นผู้ชาย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังรู้สึกว่าการถูกหลอกให้ใช้ฮอร์โมนทำให้เขาหมดสิทธิ์ที่จะค้นหาด้วยตัวเองว่าต้องการจะเป็นเพศไหน

การผ่าตัดแปลงเพศของครีเกอร์เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วเยอรมนีและทำให้ประเด็นการใช้สารกระตุ้นของเยอรมันตะวันออกกลายเป็นจุดสนใจอีกครั้ง จนอดีตนักกีฬาหลายคนตัดสินใจออกมาตีแผ่ความจริงต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก

ต่อมาครีเกอร์แต่งงานกับอดีตนักว่ายน้ำของเยอรมันตะวันออกที่เป็นหนึ่งในนักกีฬาที่ออกมาเปิดเผยการกรณีใช้สารกระตุ้นของอดีตประเทศคอมมิวนิสต์แห่งนี้

ส่วน มานเฟรด อีวาลด์ หัวหน้าโครงการกีฬาเยอรมันตะวันออกและประธานคณะกรรมการโอลิมปิกเยอรมันตะวันออก และมานเฟรด เฮปป์เนอร์ ผู้อำนวยการการแพทย์เยอรมันตะวันออก ที่เกี่ยวข้องกับโครงการโด๊ปนักกีฬา ถูกดำเนินคดีและศาลตัดสินว่าทั้งสองคนร่วมกันทำร้ายร่างกายนักกีฬา รวมทั้งผู้เยาว์โดยเจตนา

ขณะที่ตอนนี้กรณีนักกีฬาข้ามเพศถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังจากนิวซีแลนด์ ส่ง ลอเรล ฮับบาร์ด นักกีฬายกน้ำหนักหญิงข้ามเพศ เข้าแข่งขันในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกซึ่งจะจัดขึ้นที่ญี่ปุ่นในเดือน ก.ค.นี้ โดยฮับบาร์ดจะเป็นนักกีฬาข้ามเพศคนแรกที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

การส่งฮับบาร์ดเข้าร่วมครั้งนี้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่ปรับปรุงใหม่ หลังจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (OIC) ออกแนวทางให้นักกีฬาข้ามเพศสามารถแข่งขันในฐานะผู้หญิงได้ หากระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนต่ำกว่า 10 นาโนโมลต่อลิตร เป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือนก่อนการแข่งขันครั้งแรก แต่เมื่อประกาศว่าอัตลักษณ์ทางเพศของคือเพศหญิงแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนเพศกลับในทางกีฬาได้อีกอย่างน้อย 4 ปี

แต่ถึงอย่างนั้นกรณีของฮับบาร์ดก็ก่อให้เกิดคำถามถึงความยุติธรรมสำหรับนักกีฬาหญิงคนอื่น โดยนักวิทยาศาสตร์บางคนบอกว่าแนวทางของ OIC แทบไม่ช่วยลดความได้เปรียบทางชีววิทยาของผู้ที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ในฐานะเพศชาย อาทิ ความหนาแน่นของกระดูกและกล้ามเนื้อ  

และเมื่อเดือน พ.ค. หลังจากฮับบาร์ดผ่านเกณฑ์ให้เข้าร่วมโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นแล้ว แอนนา แวนเบลลิงเงน นักยกน้ำหนักของเบลเยียมบอกกับเว็บไซต์ข่าวโอลิมปิกว่า กรณีนี้ไม่ยุติธรรมและเหมือนกับมุกตลกแย่ๆ  

ส่วนกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อคนข้ามเพศบอกว่า กระบวนการเปลี่ยนเพศได้ลดความได้เปรียบนั้นไปแล้ว   

ก่อนหน้านี้การเข้าร่วมแข่งขันยกน้ำหนักหญิงของฮับบาร์ดซึ่งเคยแข่งขันยกน้ำหนักชายก่อนผ่าตัดแปลงเพศในปี 2013 มาแล้ว กลายเป็นประเด็นถกเถียงมาครั้งหนึ่งแล้วในปี 2018

โดยในขณะนั้นสมาพันธ์ยกน้ำหนักออสเตรเลียพยายามขัดขวางไม่ให้ฮับบาร์ดเข้าร่วมการแข่งขัน Commonwealth Games แต่ผู้จัดการแข่งขันยืนยันให้ฮับบาร์ดเข้าร่วมได้ 

และในปี 2019 ที่ฮับบาร์ดได้เหรียญทองในการยกน้ำหนักในการแข่งขันกีฬา Pacific Games ที่ซามัวก็สร้างเสียงวิพาก์วิจารณ์ในประเทศเจ้าภาพมาแล้ว เนื่องจากฮับบาร์ดเอาชนะเจ้าของแชมป์กีฬายกน้ำหนักหญิง Commonwealth Games ของซามัวมาได้

การเข้าร่วมแข่งโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นครั้งนี้ของฮับบาร์ดจึงถูกซามัวเปรียบเทียบว่าไม่ต่างจากการปล่อยให้นักกีฬาใช้ยาโด๊ป  

นอกจากฮับบาร์ดแล้ว ยังมี เชลซี โวล์ฟ นักกีฬาปั่นขักรยาน BMX ข้ามเพศของสหรัฐ ที่จะเดินทางไปโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวด้วย แต่เธอมีชื่อในฐานะนักกีฬาตัวสำรองเท่านั้น ผิดกับกรณีของฮับบาร์ดที่จะเข้าแข่งขันในฐานะตัวจริง

Bundesarchiv, Bild 183-1986-0826-036 / Thieme, Wolfgang