posttoday

ซื้อก่อนผ่อนทีหลัง ทำคน Gen Z หนี้ท่วมหัวจริงหรือ?

15 มิถุนายน 2564

ฝ่ายหนึ่งบอกว่าคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ Gen Z เปย์ตัวเองเต็มที่จนหนี้ท่วมหัว แต่ก็มีข้อมูลอีกมุมหนึ่งว่าคนกลุ่มนี้มีความรู้ทางการเงินดีกว่าคนรุ่นก่อน

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ขณะนี้บริการทางการเงินประเภท Buy Now, Pay Later หรือซื้อก่อนจ่ายที่หลัง กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือ Gen Z (เกิดตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นมา) ของสิงคโปร์ และตลาดมีแนวโน้มจะโตขึ้นเรื่อยๆ จนทางการสิงคโปร์เริ่มกังวลว่าพฤติกรรมนี้จะก่อหนี้ในอนาคต

Buy Now, Pay Later หรือ point-of-sale loans (บริการทางการเงิน ณ จุดขาย) มีฟังก์ชันการใช้งานคล้ายกับบัตรเครดิตคือ ใช้ผ่อนค่าสินค้าโดยไม่มีดอกเบี้ย แต่มีตัวเลือกให้ผ่อนชำระที่ยืดหยุ่นกว่า เช่น แบ่งเป็นระยะสั้นๆ อย่างรายสัปดาห์ หรือนานกว่านั้นเป็นรายเดือนก็ได้ และหากไม่สามารถชำระได้ตามกำหนดก็ต้องเสียค่าปรับตามที่ตกลงกันไว้

ข้อแตกต่างอีกอย่างหนึ่งคือ การเปิดใช้บัตรเครดิตต้องการการตรวจสอบตัวตนของผู้ใช้และความน่าเชื่อถือทางการเงินอย่างละเอียดและยังต้องใช้เอกสารต่างๆ ประกอบ แต่บริการ Buy Now, Pay Later อนุญาตให้บุคคลอายุตั้งแต่ 18 ปีเปิดบัญชีโดยการใส่ข้อมูลส่วนตัวแล้วเชื่อมกับบัตรเดบิตอย่างน้อย 1 ใบ จากนั้นก็เริ่มช็อปปิงได้เลย โดยค่าปรับกรณีชำระเงินล่าช้าอยู่ระหว่าง 5-60 เหรียญสิงคโปร์ หรือ 117-1,407 บาท

ในมุมของคนรุ่นใหม่อย่าง สแตร์รี ลี นักวิเคราะห์ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีวัย 23 ปีและใช้บริการ Buy Now, Pay Later มองว่าสำหรับคนที่มีเงินใช้จ่ายในแต่ละเดือนไม่มาก การใช้บริการ Buy Now, Pay Later ช่วยให้เธอบริหารการเงินได้ยืดหยุ่นและมีเหตุมีผลมากขึ้น “มันช่วยไม่ให้ฉันใช้จ่ายมากเกินไป”

ทว่า บรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองของสิงคโปร์ไม่ได้มองว่าพฤติกรรมการบริโภคของคน Gen Z แบบที่ลีและคนอื่นๆ ทำอยู่นี้เป็นการใช้จ่ายที่ชาญฉลาด

ความนิยมที่นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้นของบริการ Buy Now, Pay Later ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ของสิงคโปร์ทำให้ผู้มีอำนาจและนักการเมืองกังวลใจ เนื่องจากบริการ Buy Now, Pay Later ที่ให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นพุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนวัยเลข 2 ซึ่งอาจจะขาดประสบการณ์ทางการเงิน

“คนหนุ่มสาวที่ยังขาดความระมัดระวังทางการเงินสามารถเข้าถึงเงินกู้ยืมก่อนที่พวกเขาจะมีความสามารถในการหาเงิน นี่ไม่ใช่เทรนด์ที่ดี” เชอริล ชาน สมาชิกสภาของสิงคโปร์เผยผ่านอีเมล

เรื่องนี้ยังร้อนไปถึง ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ที่ถึงกับออกเคมเปญทางสื่อขึ้นมาเพื่อตักเตือนคนหนุ่มสาวว่า การใช้จ่ายเงินแบบซื้อก่อนจ่ายทีหลังอาจทำให้เป็นหนี้และมีความเสี่ยงด้านสินเชื่อเพื่อการบริโภค

หนึ่งในนั้นคือบทความของธนาคารกลางสิงคโปร์ที่ลงในหนังสือพิมพ์ Straits Times ที่ระบุว่า “คุณควรใช้จ่ายให้เหมาะกับรายได้ของตัวเอง อย่ามองว่าการใช้จ่ายแบบซื้อก่อนจ่ายที่หลังเป็นช่องทางในการซื้อของราคาแพงกว่าที่คุณสามารถจ่ายได้ อย่าเป็นตัวประกันของพฤติกรรมการใช้จ่ายของตัวเอง”

นอกจากสิงคโปร์แล้ว บริการประเภทนี้ยังได้รับความนิยมทั้งในตะวันตกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย จากข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษา Coherent Market Insights คาดว่าในระดับโลกนั้น มูลค่าตลาดของบริการ Buy Now, Pay Later จะโตถึง 33,600 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2027 จาก 7,300 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2019

สำหรับผู้ใช้ในสิงคโปร์นั้น มีอายุระหว่าง 20-35 ปี ซึ่งชี้ให้เห็นว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่กำลังเปลี่ยนความเชื่อเดิมๆ เกี่ยวกับหนี้ที่หลายๆ คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยึดถือก่อนหน้านี้ว่า การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ

นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของ Covid-19 ยังกระตุ้นให้คนสิงคโปร์ใช้บริการ Buy Now, Pay Later เพิ่มขึ้นในสิงคโปร์ เนื่องจากทั้งผู้บริโภคและผู้ขายหันมาใช้ช่องทางซื้อขายออนไลน์มากขึ้น ทำให้นักช็อปเสาะหาดีลดีๆ ได้เร็วขึ้นและเลือกชำระเงินแบบผ่อนจ่ายได้ง่ายขึ้น

แม้ว่าบริการ Buy Now, Pay Later ส่วนใหญ่มักจะใช้กับการซื้อสินค้าราคาไม่สูงมาก แต่จากรายงานของแพลตฟอร์มเปรียบเทียบทางการเงิน Finder เมื่อปี 2020 พบว่า 27% ของชาวสิงคโปร์ระบุว่าการเงินแย่ลงเนื่องจากซื้อสินค้าแบบ Buy Now, Pay Later และ 9% บอกว่าต้องจ่ายค่าปรับเพราะผิดนัดชำระหนี้

ด้วยความที่กำลังเป็นที่นิยม บรรดาบริษัทเทครายใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างพากันเข้าสู่ตลาดนี้ ไม่ว่าจะเป็น PayLater ของ Grab Holdings ที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 2019 โดยให้บริการในสิงคโปร์และประเทศอื่นในภูมิภาค ขณะที่ Traveloka Indonesia กำลังขยายบริการนี้ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ประเทศไทยและเวียดนาม

และไม่ใช่เฉพาะวัยรุ่นสิงคโปร์เท่านั้นที่มีพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต การศึกษาของ TransUnion พบว่า 50% ของคน Gen Z ในสหรัฐถือบัตรเครดิต ซึ่งมากกว่าคนวัย Millennials หรือ Gen Y (เกิดปี 1981-1996) โดยเฉลี่ยหนุ่มสาวอเมริกันถือบัตรเครดิต 1.5 ใบ และมีวงเงินเฉลี่ยที่ 606 เหรียญสหรัฐ หรือ 18,858 บาท

ส่วนวัยรุ่นแคนาดาถือบัตรเครดิต 99.8%, ฮ่องกง 91%, โคลอมเบีย 32% และอินเดีย 11%

อย่างไรก็ดี อีกฝ่ายหนึ่งแย้งว่าคน Gen Z มีการศึกษาและอาวุธทางการเงินดีกว่าคนวัย Millennial เนื่องจากคนกลุ่มนี้เติบโตในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัว ทำให้ชีวิตทางการเงินของพวกเขาเริ่มต้นได้อย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ กลุ่มคน Gen Z ยังชำระหนี้คืนได้ง่ายกว่าที่กลุ่มคน Millennial ทำได้ในวัยเดียวกัน โดยครึ่งหนึ่งของคน Gen Z ที่ใช้บริการสินเชื่อทางการเงินมีคะแนนเครดิตอยู่ในระดับ prime คือ มีคะแนนเครดิตตั้งแต่ 661 คะแนนขึ้นไปตามการจัดอันดับเครดิตของ VantageScore ขณะที่คนกุล่ม Millennial มีเพียง 39%

การมีคะแนนเครดิตสูงๆ ตั้งแต่อายุยังน้อยย่อมส่งผลดีกับการเงินในอนาคตของคนคนนั้น โดยบริษัทวิจัย LendingTree ชี้ให้เห็นว่า คนที่มีเครดิตดีสามารถประหยัดเงินค่าดอกเบี้ยได้หลายหมื่นเหรียญสหรัฐเมื่อขอสินเชื่อ อาทิ จำนอง บัตรเครดิต เนื่องจากสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ตั้งแต่แรกและได้รับในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

แมตต์ โคมอส รองประธานบริษัทที่ปรึกษาด้านการเงิน TransUnion เผยว่า การมีการศึกษาดีและมีประสบการณ์กับการเป็นหนี้จะช่วยบ่มเพาะให้คน Gen Z ฟื้นตัวได้เร็วเมื่อใดก็ตามที่เศรษฐกิจกลับไปสู่ภาวะะถดถอย

“หากคุณมีอาวุธที่ดีและได้รับการศึกษาที่ดีกว่า คุณจะรับมือกับพายุนั้น (เศรษฐกิจถดถอย) ได้ดีกว่าเล็กน้อย” โคมอสกล่าว

REUTERS/Michalis Karagiannis