posttoday

สังคมนิยมข่าวลือ ไม่ใช่นักวิทย์กลับเสียงดัง ยุคที่คนเลิกเชื่อฟังหมอ

13 พฤษภาคม 2564

ในขณะที่เทคโนโลยีการแพทย์ของโลกเราก้าวหน้าไปไกลกว่ายุคไหนๆ แต่มนุษยชาติก็ยังทำตัวเหมือนคนในยุคกลางที่เชื่อข่าวปลอมและเรื่องกุจากใครก็ไม่รู้ และกลับเอานักวิทยาศาสตร์มาขึงพืดเหมือนยุคล่าแม่มด

อิสราเอลเป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนต่ออัตราส่วนประชากรมากที่สุดในโลกคือ 62.61% (จากข้อมูลวันที่ 11 พฤษภาคม 2021) แต่อิสราเอลก็ยังมีความกังวลเรื่องกระแสต่อต้านการฉีดวัคซีน

ย้อนกลับไปเมื่อปลายเดือนเมษายน จากรายงานของ The Times of Israel ได้สัมภาษณ์ ศ. ชโลโม วินเกอร์ (Prof. Shlomo Vinker) แพทย์ชั้นแนวหน้าของอิสราเอลที่แสดงความวิตกว่ารัฐบาลจะต้องเร่งมือจัดการโดยเร็ว ก่อนที่วัยรุ่นจะตกเป็นเหยื่อของกลุ่มต่อต้านวัคซีน หรือพวกAnti-vaxxer ที่ปล่อยข้อมูลเท็จออกมาปั่นป่วน

ศ. วินเกอร์ ชี้ว่าก่อนที่รัฐบาลจะเริ่มการฉีดวัคซีนให้คนหนุ่มสาว จะต้องเร่งให้ความรู้ที่ถูกต้องกับพวกเขาก่อน หาไม่แล้วจะเกิดช่องว่างทำให้พวก Anti-vaxxer ตัวป่วนเข้ามาแทรกระหว่างกลาง ศ. วินเกอร์ แนะอย่างจริงจังว่า “ถ้าเรารอจนกว่าการฉีดวัคซีนสำหรับคนรุ่นเยาว์จะมาถึง เราจะสูญเสียวัยรุ่นไปเพราะตอนนี้นักเคลื่อนไหวต่อต้านการฉีดวัคซีนมีบทบาทมาก”

และย้ำว่าจะต้องไม่เปิดโอกาสให้พวกต่อต้านวัคซีนได้มีพื้นได้ร้องแรกแหกกระเชอ

เราจะเห้นได้ว่าแม้แต่ประเทศที่มีอัตราฉีดวัคซีนสูงสุดก็ยังหวั่นใจกับพวกปล่อยข้อมูลมั่วๆ เรื่องวัคซีน และเรายังจะเห็นว่ากลุ่มวัยที่ใกล้ชิดเทคโนโลยีมากที่สุดและน่าจะเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องได้ง่ายที่สุด ยังถูกมองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อข่าวปลอมเช่นกัน

ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่ากลุ่มไม่เอาวัคซีนนั้นมีทั้งแบบที่ไม่เชื่อหรือกังขาต่อผลของมัน คือ Vaccine hesitant กับกลุ่มที่ไม่ยอมฉีดและต่อต้าน คือพวก Anti-vaxxer จึงมีทั้งพวกต้านแบบอ่อนๆ และต้านแบบรุนแรง ทั้งสองกลุ่มนี้มีโอกาสปล่อยข้อมูลผิดๆ หรือข่าวปลอมพอๆ กัน

ก่อนการระบาดของโควิด-19 พวก Anti-vaxxer/Vaccine hesitant มักเป็นพวกที่กังขาต่อวัคซีนที่ต้องฉีดเป็นประจำให้ลูกๆ หลานๆ คนพวกนี้กลัวว่าวัคซีนบางตัวอาจทำให้ลูกหลาน "ไม่สมประกอบ" การต่อต้านการฉีดวัคซีนของคนกลุ่มนี้ (ซึ่งมีจำนวนพอสมควรและมีอิทธิพลไม่น้อย) ส่งผลให้เกิดการระบาดของโรคสำคัญๆ มาแล้ว

ในสหรัฐที่แสนจะเจริญก้าวหน้าแท้ๆ ยังมีพวก Anti-vaxxer เป็นจำนวนมาก ตัวอย่างความวอดวายที่เกิดขึ้นจากพวกนี้คือการระบาดของโรคหัดที่กลับมารุกรานนิวยอร์กระหว่างปี 2018 - 2019 เพราะพ่อแม่กังขาในผลวัคซีนต่อลูกๆ ของพวกเขา

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่องค์การอนามัยโลกจะบอกว่าความกังขาวัคซีน (Vaccine hesitancy) เป็นหนึ่งในสิบภัยคุกคามด้านสาธารณสุขของโลกเรา และตอนนี้อาจเป็นภัยคุกคามอันดับต้นๆ ด้วยซ้ำ

พลังของความเชื่อผิดๆ ข่าวลือ ข่าวเท็จ เรื่องมโน ไม่อาจดูแคลนได้เลย มันสามารถทำให้ประเทศๆ หนึ่งพ่ายแพ้โรคระบาดเอาง่ายๆ

ไม่น่าเชื่อว่าในโลกศตวรรษที่ 21 ที่เทคโนโลยก้าวหน้าที่ข้อมูลข่าวสารมีทุกหนแห่งๆ ผู้คนยังตกเป็นเหยื่อความเชื่อผิดอย่างง่ายดาย เหมือนบรรพบุรุษของเราในยุคกลางที่ตะเกียกตะกายหาวิธีรักษาโรค (แบบผิดๆ) ในยุคที่เกิดการระบาดของกาฬโรค จนผู้ล้มตายหลายล้าน ยุโรปแทบจะกลายเป็นป่าช้า

ไม่น่าเชื่อว่าผู้คนในยุคโควิด-19 แทนที่จะเชื่อฟังวิทยาศาสตร์ กลับเชื่อฟังทฤษฎีสมคบคิดจากฝีมือใครก็ไมรู้ แทนที่จะเชื่อฟังนักวิทยาศาสตร์และแพทย์ เหมือนกับว่าโลกของเราย้อนกลับไปใน "ยุคมืด" ที่นักวิทยาศาสตร์ถูกนำมาขึ้นศาลเพียงเพราะพูดความจริงที่สวนทางกับความเชื่อผิดๆ ของคนยุคนั้น

ตัวอย่างการย้อนยุคที่เห็นได้ชัดคือกรณีของโรคหัดในสหรัฐ

ในปี 2000 สำนักงานควบคุมโรคของสหรัฐ (CDC) ได้ประกาศว่าโรคหัดถูกกำจัดในสหรัฐเนื่องจากโครงการฉีดวัคซีนที่เข้มงวดและข้อกำหนดของโรงเรียน แต่แล้วในปี 2019 มีคนติดโรคหัดในสหรัฐถึง 1,249 ราย เหมือนกับว่าสหรัฐที่เคยนก้าวหน้าทางการแพทย์ถอยหลังกลับไปสู่ช่วงก่อนทศวรรษที่ 2000

ความถดถอยนี้ไม่ใช่เพราะการแพทย์ไม่เจริญก้าวหน้า ตรงกันข้ามการแพทย์ของเราก้าวหน้าไปทุกวันๆ แต่คนทั่วไปไม่ก้าวหน้าตามวิทยาการแพทย์ สะท้อนให้เห็นว่าสติปัญญาของมนุษยชาติมีปัญหาหรือเปล่า? หรือไม่ก็ศักยภาพของมุนษย์ก้าวไม่ทันเทคโนโลยีหรือไม่?

เรื่องนี้อาจเป็นเพราะเราตกอยู่ในกับดักของยุคข้อมูลข่าวสาร ในยุคที่รับข้อมูลได้หลากหลายมากโดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย แต่ข้อมูลเหล่านั้นมีทั้งที่จริงและเท็จ และน่าเสียดายที่คนจำนวนไม่น่อยชอบเรื่องเท็จมากกว่าเรื่องจริง นั่นเป็นสาเหตุให้สติปัญญาของมนุษย์ (บางคน) สวนทางกับวิทยากาทางการแพทย์

ในช่วงทศวรรษที่ 2000 ที่โรคหัดหายไปจากสหรัฐ โซเชียลเน็ตเวิร์กยังไม่เกิดขึ้น สาธารณชนได้รับข้อมูลผ่านสื่อที่เชื่อถือได้และจากนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่ใช่เนื้อหาจำพวก "ความเห็น" และยิ่งไม่ใช่ "ความเท็จ"

แต่พอถึงทศวรรษที่ 2010 ทุกคนเริ่มหันมาแสดงความเห็นและเสพความเห็นในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ดูเหมือนว่าศักยภาพการไตรตรองข้อเท็จจริงของเราก็เสื่อมถอยลงเรื่อยๆ

แต่จริงๆ แล้วอาจจะไม่ใช่ความถดถอยของสติปัญญาอย่างเดียวที่ทำให้การฉีดวัคซีนถูกตั้งคำถาม

มันอาจจะมาจากความเฉลียวฉลาดในทางที่ผิดของมนุษย์บางคนที่ใช่เล่ห์กลทางการเมืองเพื่อขัดขวางการฉีดวัคซีน โดยไม่แยแสว่าชีวิตของเพื่อนมนุษย์จะล้มตายไปสักเท่าไร

ในระดับการเมืองโลก การปั่นให้วัคซีนโควิด-19 เป็นประเด็นการเมืองเกิดขึ้นในหลายประเทศ

เช่นในสหรัฐมีผลสำรวจความเห็นพบว่าครึ่งหนึ่งของพรรครีพับลิกันหรือผู้ที่ระบุว่าเคยลงคะแนนให้อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ต้องการรอดูก่อนรับวัคซีนหรือบอกว่าจะไม่ยอมฉีดเลย และความลังเลใจในการฉีดวัคซีนในหมู่รีพับลิกันอาจขัดขวางการบรรลุภูมิคุ้มกันหมู่ในสหรัฐ

พวกรีพับลิกันหรือพวกอนุรักษ์นิยมที่หวงแหนเสรีภาพแบบอเมริกันนิยมจ๋านั้นยังกลัว "หนังสือเดินทางวัคซีน" อ้างว่าเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลมากเกินไป

เราจะเห็นตัวอย่างขอ เกรก แอ็บบ็อต (Greg Abbott) ผู้ว่าการรัฐเท็กซัสจากพรรครีพับลิกัน และรอน ดีแซนนติส (Ron DeSantis) จากฟลอริดาลงนามในคำสั่งของผู้บริหารรัฐห้ามไม่ให้หน่วยงานของรัฐและบริษัทต่างๆ บังคับให้ผู้บริโภคได้รับการฉีดวัคซีน - แน่นอนว่าพวกเขาไม่ได่กลัวโรค แต่กลัวถูกละเมิดสิทธิ์

เรารู้กันว่าสหรัฐปกครองแบบสหพันธรัฐ แต่ละมลรัฐมีอำนาจปกครองตัวเองอย่างมาก หากรัฐหนึ่งเห็นว่ารัฐบาลกลางเข้ามายุ่มย่ามมากเกินไปกับเสรีภาพของพวกเขา พวกเขาก็จะขัดขืน ไม่เว้นแม้แต่ช่วงที่เกิดโรคระบาดการยึดมั่นถือมั่นทางการเมืองก็ยังขึ้นสมองแบบนี้

ความเห็นต่างหากทางการเมืองเป็นอุปสรรคแบบนี้ ต่อให้สหรัฐมี Pfizer กี่ล้านโดสก็ไม่พอ เพราะจำนวนไม่แทบไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอยู่ที่ประเทศนั้่นผู้มีความคิดทางการเมืองแตกต่างกัน แล้วดันเอาความเห็นต่างนั้นมาผสมปนเปกับการควบคุมโรค

ในเกาหลีใต้ที่ฉีด AstraZeneca ตั้งแต่ผู้นำยันประชาชนคนทั่วไป ก็ยังไม่วายที่จะมีการปั่นกระแสการเมืองต่อต้าน AstraZeneca

เมื่อเดือนมีนาคม ดร. ซง มัน-กี รองผู้อำนวยการหน่วยวิทยาศาสตร์ของสถาบันวัคซีนนานาชาติ (IVI) ให้สัมภาษณ์กับ Corona Fighters Live ถึงการปั่นประเด็นการเมืองกับวัคซีนตัวนี้ เขาบอกว่าน่าเสียดายที่บางคนกำลังถกเถียงกันเรื่อง AstraZeneca ด้วยเหตุผลทางการเมือง และประเด็นเรื่องการเมืองนี้ลุกลามมากจากการเอาวัคซีนตัวนี้มาเป็นเครื่องมือความขัดแย้งระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป

ดร. ซง มัน-กี ชี้ว่าเยอรมนียิ่งทำให้สับสนเข้าไปอีกโดยรายงานด้วยความเข้าใจเข้าใจผิดว่าประสิทธิภาพของวัคซีน AstraZeneca ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีอยู่ที่ 8% ในขณะที่ในความเป็นจริง 8% ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีควรใช้ AstraZeneca ทำให้ประเทศในยุโรปอื่นๆ รวมถึงฝรั่งเศสระงับการฉีดวัคซีน AstraZeneca ชั่วคราว ขณะที่สหราชอาณาจักรก็ไม่ได้รวบรวมข้อมูลให้คงามกระจ่างได้ทันการณ์ ทำให้ความเข้าใจผิดฝังรอยลึกยากจะแก้ไขแล้ว

อาการผลข้างเคียงของ AstraZeneca นั้นมีอยู่ แต่สิ่งที่สาธารณชนไม่ได้ใส่ใจคือคำว่า “Rare” นั่นคืออาการแบบนี้เกิดขึ้นได้ยากมากในอัตรา 1/350,000คน กระนั้นมันอาจจะถึงแก่ชีวิตได้เหมือนกัน

ดร. ซง มัน-กี ทิ้งวรรคทองให้ผู้นำประเทศได้ใส่ใจว่า “การเมืองและยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีนเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป” เพราะในสถานการณ์ที่อลหม่านและเต็มไปด้วยความเข้าใจผิดแบบไม่ตั้งใจและตั้งใจให้ผิด ไม่มีทางที่ประชาชนจะมาฉีดวัคซีนอย่างว่าง่าย

ยิ่งหากประเทศนั้นมีความแตกยกทางการเมืองด้วยแล้ว ความพยายามฉีดวัคซีนยิ่งยากขึ้นไปอีก

ในบางประเทศมีความพยายามด้อยค่าทีมแพทย์และวิทยาศาสตร์ บางคนไปไกลถึงขนาดกระแนะกระแหนว่าการเรียกทีมแพทย์เป็น "นักรบชุดขาว" บ่งบอกถึงสังคมที่คลั่งไคล้การทำสงคราม!

การด้อยค่าทีมแพทย์แบบนี้มักมาจากคนที่ไม่ใช่แพทย์และไม่มีความรู้เรื่องแพทย์ แต่เป็นกลุ่มที่มีปากมีเสียงในสังคมนิยมคอมเมนต์ หรือที่เรียกว่าพวก "อินฟลูเอนเซอร์" เป็นกลุ่มคนที่ก้าวขึ้นมามีอำนาจชี้นำสังคมทั้งๆ ที่ไม่มีทักษะวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับระบาดวิทยา

"อินฟลูเอนเซอร์" ที่ปล่อยข้อมูลเท็จ (Disinformation) เพียงไม่กี่คนมีผลทำให้ชีวิตคนหลายล้านคนได้รับผลกระทบไปด้วย

เช่น ข้อมูลจากศูนย์ต่อต้านความเกลียดชังดิจิทัล (CCDH) เผยแพร่รายงานชื่อ The Disinformation Dozen พบว่า 2 ใน 3 ของเนื้อหาต่อต้านวัคซีนที่แชร์หรือโพสต์บน Facebook และ Twitter ในสหรัฐระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ถึง 16 มีนาคม 2021 มาจาก "อินฟลูเอนเซอร์" แค่ 12 คนเท่านั้น

"อินฟลูเอนเซอร์" ในที่นี้หมายถึงพวก Anti-vaxxer ตัวพ่อตัวแม่ที่มีเงินและมีคนติดตามจำนวนมาก ในประเทศไทยไม่มี "อินฟลูเอนเซอร์" ที่หากินกับกระแส Anti-vaxxer แต่ก็มีหลายคนทำตัวคล้ายๆ กัน ซึ่งเราไม่อาจทราบได้ว่าคนเหล่านี้ให้ข้อมูลผิดๆ เรื่องวัคซีนไปทำไม

อีกหนึ่งการวิจัยโดยสถาบัน Reuters เพื่อการศึกษาด้านวารสารศาสตร์พบว่า นักการเมือง, คนดัง, และบุคคลสาธารณะที่มีชื่อเสียงอื่นๆ ผลิตหรือเผยแพร่การกล่าวอ้างเท็จเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา 20% และโพสต์ของพวกเขาคิดเป็น 69% ของการมีส่วนร่วมในโซเชียลมีเดียทั้งหมด

แทนที่จะไปเพิ่ม social media engagement กับโพสต์ของคุณหมอ (ที่ไม่มีอคติ) แต่พวกเราหลายคนกลับไปเพิ่มให้กับคนที่ไม่มีความรู้เรื่องหมอแถมยังกล่าวเท็จด้วยซ้ำ ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมโลกถึงวุ่นวายปานนี้

ในประเทศไทย พวก Anti-vaxxer/Vaccine hesitant ไม่เคยมีพลังอำนาจขนาดคนทั่วไปต้องกังวล แต่ตอนนี้การต่อต้านวัคซีนและด้อยค่าวิทยาศาสตร์มีโมเมนตัมรุนแรงมากถึงกับทำให้วงการแพทย์อ่อนล้า

ทีมแพทย์ต้องทุ่มเทแรงกายเพื่อสกัดกั้นการระบาดยังไม่พอ ยังต้องกลายร่างมาเป็นประชาสัมพันธ์ให้คนเลิกต่อต้านวัคซีนกันอีก มิหนำซ้ำเมื่อทีมแพทย์ประกาศอะไรออกมาก็ไม่เชื่อฟังซ้ำยังเย้ยหยัน แต่กลับเชื่อฟังอย่างเชื่องๆ กับ "คนดัง" ที่ไม่ความรู้เรื่องการช่วยชีวิตคน

เป็นวิวัฒนาการที่เหลือเชื่อจริงๆ ของสังคมไทย!

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP