posttoday

อย่าให้เกิดกับไทย ถอดบทเรียนอินเดียล้มเหลวรับมือโควิด-19

27 เมษายน 2564

อินเดียกำลังเผชิญ "สึนามิ" Covid-19 จนระบบสาธารณสุขล่มสลาย

ขณะนี้ไม่มีประเทศไหนเผชิญวิกฤต Covid-19 รุนแรงเท่ากับอินเดีย ถึงขั้นมีคำเปรียบเปรยว่าเป็น “สึนามิ” Covid-19 ส่วนแพทย์ยอมรับว่า “ครั้งนี้ยากที่จะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” ระบบสาธารณสุขของอินเดียกำลังล่มสลาย ไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วย ไม่มีออกซิเจน ไม่มียา และยังมีเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงถึง 2 สายพันธุ์มาซ้ำเติมอีก

การระบาดระลอกที่สองกระจายไปอย่างรวดเร็วทั่วประเทศ สัปดาห์ที่แล้วอินเดียทุบสถิติโลกเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากที่สุดทะลุ 330,000 รายเมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา แซงหน้าสหรัฐที่เคยครองแชมป์ผู้ติดเชื้อรายวันสูงที่สุดในโลกเมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ 300,669 ราย และยังแซงหน้าบราซิลขึ้นเป็นประเทศที่ติด Covid-19 สูงสุดอันดับ 2 ของโลก

ระลอกแรกดูเหมือนอินเดียจะรับมือกับการแพร่ระบาดได้ดีกว่านี้ เหตุใดจึงล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการรับมือกับ Covid-19 ระลอกที่สอง

รัฐบาลประมาท

หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงในช่วงเดือน ก.ย.ปีที่แล้วจนถึงช่วงกลางเดือน ก.พ.ปีนี้ รัฐบาลอินเดียก็ไม่ฟังคำเตือนว่าอาจมีการระบาดในระลอกสอง ทั้งที่มีการพบเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ราเกศ มิชรา ประธานศูนย์วิจัยชีวโมเลกุลและเซลล์วิทยาในเมืองไฮเดอราบัดเผยว่า “พวกเราเตือนหลายครั้งว่าการระบาดยังไม่จบแต่กลับไม่มีใครฟัง”

รัฐบาลอินเดียดื้อและประมาทถึงขั้นที่ หรรษ วรรธน รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขประกาศว่า การแพร่ระบาดของ Covid-19 ในอินเดียสิ้นสุดแล้ว เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่ระลอกสองจะมาเยือน แล้วส่งวัคซีนไปให้ประเทศอื่นราว 193 ล้านโดส และส่งออกออกซิเจนเพิ่มขึ้นถึง 734% ในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

แต่ขณะนี้สถานการณ์กลับกัน วัคซีนในอินเดียกำลังขาดแคลนจนทางการต้องแก้ไขระเบียบให้นำเข้าวัคซีน Sputnik V ของรัสเซียมาใช้แบบฉุกเฉินได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น เช่นเดียวกับออกซิเจนที่หลายโรงพยาบาลอยู่ในภาวะวิกฤตมีไม่พอใช้ คนไข้บางคนต้องแบ่งกันใช้ออกซิเจนจากถังเดียวกัน

ผู้นำอินเดียยังหลงระเริงกับความสำเร็จในการควบคุม Covid-19 ระลอกแรกจนย่ามใจไม่มีการเตรียมการรับมือการระบาดในอนาคต หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงในระลอกแรกทางการอินเดียกลับไม่ใช้โอกาสนี้เสริมกำลังโรงพยาบาล

อนันต์ ภาน ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเผยว่า “เราไม่ได้เรียนรู้จากการระบาดระลอกแรกเลย เราได้รับรายงานว่าบางเมืองเตียงไม่พอแม้กระทั่งในระลอกแรก และนั่นน่าจะเป็นเหตุผลที่ดีเพียงพอที่เราควรจะเตรียมรับมือกับระลอกสอง”

ขณะนี้อินเดียกำลังขาดแคลนเตียงรองรับผู้ป่วยวิกฤตอย่างหนัก บางรัฐแทบไม่มีเตียงว่างแล้วและเพิ่งจะลงมือจัดหาสถานที่สำรอง อาทิ โรงแรม สนามกีฬา แข่งกับเวลา ทว่าผู้เชี่ยวชาญเผยว่า การติดตั้งเตียงสำหรับผู้ป่วยวิกฤตไม่ใช่เรื่องง่ายและจะกลายเป็นภารกิจที่สร้างความปวดหัวให้รัฐบาล เพราะต้องทำให้มีคุณภาพภายในเวลาอันสั้น

การประกาศชัยชนะเร็วเกินไปทำให้ Covid-19 ระลอกสองย้อนกลับมาเล่นงานรัฐบาลจนตั้งรับไม่ทัน

เชื้อกลายพันธุ์จู่โจม

นอกจากสายพันธุ์กลายพันธุ์จากอังกฤษ (B.1.1.7) วันที่ 24 มี.ค.อินเดียไวรัสกลายพันธุ์ชนิดใหม่ที่เป็นการกลายพันธุ์คู่ (Double Mutant) ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรัฐมหาราษฏระ (B.1.617) โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมสองตำแหน่งในไวรัสตัวเดียวกันในตำแหน่งที่ทำให้ไวรัสสามารถหลบภูมิคุ้มกันและทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้น

ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือ ในเวลาต่อมายังเกิดการกลายพันธุ์แบบ Triple Mutant กลายเป็นสายพันธุ์เบงกอล (Bengal strain) ที่ติดต่อได้ง่ายขึ้น

การกลายพันธุ์ของไวรัสถือเป็นเรื่องปกติ และส่วนใหญ่ไม่ได้มีนัยสำคัญหรือไม่ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับความสามารถในการแพร่เชื้อหรือทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง แต่การกลายพันธุ์บางชนิด เช่น ที่พบใน Covid-19 สายพันธุ์อังกฤษหรือสายพันธุ์แอฟริกาใต้ก็ทำให้ไวรัสติดต่อได้ง่ายขึ้น หรืออาจมีอันตรายถึงชีวิตมากขึ้นในบางกรณี

และแม้ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาว่าไวรัสกลายพันธุ์ในอินเดียมีส่วนทำให้เกิดการระบาดรุนแรงในอินเดียหรือไม่ แต่ผลการวิจัยของสถาบันชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันของสหรัฐ (IHME) ชี้ว่า การระบาดระลอกสองเกี่ยวข้องกับเชื้อสายพันธุ์กลายพันธุ์

การระบาดมีความซับซ้อน

ราจิบ ดาสกุบตา นักระบาดวิทยาและประธานศูนย์เวชศาสตร์สังคมและพยาบาลชุมชนในนิวเดลีเผยว่า การระบาดของอินเดียเกิดขึ้นเฉพาะในบางเมืองของรัฐ ซึ่งแตกต่างจากในอังกฤษที่พบเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษ 70-80% ของเคสทั้งหมด ขณะที่อินเดียเป็นประเทศใหญ่และมีความหลากหลาย เชื้อโคโรนาไวรัสหลากหลายสายพันธุ์จึงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ดังนั้นเมื่อเกิดสายพันธุ์ใหม่ขึ้นจึงนำมาสู่การแพร่ระบาดในวงกว้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งสายพันธุ์ที่หลบหลีกภูมิต้านทานได้ “โรคระบาด 1 โรคอาจกลายเป็นโรคระบาดหลายโรคในประเทศอย่างอินเดีย และคุณต้องมียุทธศาสตร์หลากหลายในการรับมือ”

แต่เหตุผลนี้อาจจะฟังไม่ขึ้นเสียทีเดียว เพราะจีนเองก็เป็นประเทศใหญ่ที่มีประชากรพอๆ กับอินดียและมีความหลากหลายพอๆ กับอินเดีย หากจะกล่าวว่าอินเดียมีความวับซ้อนเพราะความหลากหลายคงจะไม่ถูกต้อง ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลควรจะมาจากการล็อคดาวน์ที่ไม่เข้มงวด ประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ และสาธารณูปโภคไม่พร้อมเสียมากกว่า

ที่โชคร้ายก็คือ การระบาดระลอกสองเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ระบบสาธารณสุขของอินเดียอยู่ในระยะ “เปราะบาง” เนื่องจากต้องรับมือกับการระบาดระลอกแรกที่กินเวลายาวนานกว่า 1 ปี บวกกับหลังจากระลอกแรกผ่านไปแล้ว ระบบสาธารณสุขก็ต้องหันไปรับมือกับเหตุฉุกเฉินอื่นที่ถูกทอดทิ้งระหว่างการระบาดครั้งแรก และบรรดาสถานที่ที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นที่รองรับผู้ป่วย Covid-19 ถูกเปลี่ยนไปทำหน้าที่ดั้งเดิมแล้ว

เหตุผลเหล่านี้จะเป็นบทเรียนให้ไทยต้องทำในสิ่งต้องข้ามกับอินเดียเพื่อไม่ให้เจอสถานการณ์แบบเดียวกันในเวลานี้และในอนาคต

ประชาชนการ์ดตก

ไวรัสกลายพันธุ์อย่างเดียวคงไม่พาอินเดียมาถึงจุดนี้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้สถานการณ์วิกฤตคือ การ์ดตก การเดินสายหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาและสภาท้องถิ่นของนายกรัฐมนตรีโมดี ปรากฏภาพการรวมตัวของมวลชนจำนวนมากอย่างต่อเนื่องมาจนถึงเดือนเมษายนโดยไม่มีการเว้นระยะห่าง นำมาซึ่งเสียงวิจารณ์ถึงความเป็นไปได้ที่นำมาสู่การแพร่เชื้อ

อีกเหตุการณ์หนึ่งคือ เทศกาลกุมภเมลาเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ในรัฐอุตตรขัณฑ์ ที่ชาวอินเดียลงไปอาบน้ำว่า 25 ล้านคน เข้าร่วมพิธีลงไปชำระร่างกายในแม่น้ำคงคาเพื่อชำระบาป  โดยไม่มีการเว้นระยะห่าง ไม่มีการสวมหน้ากากอนามัย BBC รายงานว่าพบผู้เข้าร่วมงานระหว่างวันที่ 10-14 เม.ย.ติด Covid-19 กว่า 1,600 ราย ขณะที่ตัวเลขจากหน่วยงานราชการพบว่า เทศกาลนี้ส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในรัฐอุตตรขัณฑ์เดือน เม.ย. พุ่งไปที่ 2,000-2,500 คนต่อวัน จาก 30-60 คนต่อวันในเดือน ก.พ.

รัฐบาลอินเดียซึ่งเป็นพรรคฮินดูชาตินิยมยังมีท่าทีไม่ขัดขวางความต้องการของประชาชนชาวฮินดูที่จะประกอบพิธีทางศาสนา ทั้งๆ ที่มันจะนำไปสู่ภาวะ "ซูเปอร์สเปรดเดอร์" คาดว่าหากรัฐบาลขัดขวางจะกระทบต่อคะแนนเสียงของชาวฮินดู แน่นอนว่าเรื่องนี้อาจจะมีมูลเพราะอินเดียยังเดินหน้าเลือกตั้งไปพร้อมๆ กัน 

ตีรถ สิงห์ ราวัต มุขมนตรีรัฐอุตตรขัณฑ์ถึงกับโฆษณาด้วยตนเองว่า "ผมขอเชิญชวนผู้ศรัทธาทุกคนทั่วโลกให้มาที่หริทวารและแช่ตัวในคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ในช่วงมหากุมภ์ จะไม่มีใครหยุดยั้งได้โดยอ้างโควิด-19 เพราะเรามั่นใจว่าศรัทธาในพระเจ้าจะเอาชนะความกลัวของไวรัสได้"

พวกเขาอาจจะเอาชนะความกลัวได้ แต่ไม่สามารรถเอาชนะไวรัสได้

จนกระทั่งเมื่อสถานการณ์เริ่มเอาไม่อยู่โมดีจึงยอมบอกกับประชาชนว่าเทศกาลกุมภเมลา "ควรทำในเชิงสัญลักษณ์" และเทศกาลที่ควรยาวนานถึง 4 เดือนก็หดเหลือ 1 เดือน แต่มันสายเกินการณ์แล้ว

การชุมนุมใหญ่อาจไม่ง่ายอีก

การระบาดทั้งปีนี้และปีที่แล้วในอินเดียเกี่ยวข้องโดยตรงกับการชุมนุมทางศาสนาครั้งใหญ่ เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้วซูเปอร์สเปรดเดอร์คือการชุมนุมทางศาสนาของชาวมุสลิมคืองานตับลีฆ ญะมาอะห์ (Tablighi Jamaat) มีผู้ติดเชื้อจากงานนี้ 4,291 คน เหตุครั้งนั้นทำให้พวกชาตินิยมฮินดูโจมตีชาวมุสลิมอย่างรุนแรง

ต่อมาในเดือนพฤษภาคมเป็นงานแสวงบุญทางศาสนาของชาวสิกข์ทำให้เกิดซูเปอร์สเปรดเดอร์มีผู้ติดเชื้อ 1,225 คน และข้ามมาปีนี้ซูเปอร์สเปรดเดอร์คือการเทศกาลของชาวฮินดู

ตราบใดที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่หรือการฉีดวัคซีนในระดับที่นอนใจได้ การชุมนุมใหญ่คือกุญแจไปสู่หายนะ อินเดียคือบทเรียนในเรื่องนี้ ซึ่งโชคดีที่ไทยมีการชุมนุมใหญ่หลายครั้งแต่ไม่พบกับเรื่องแบบเดียวกัน แต่ไม่แน่ว่าหลังจากนี้อาจจะตกที่นั่งเดียวกับอินเดียที่ยังรับไหวหลังเจอซูเปอร์สเปรดเดอร์ปีที่แล้ว

แต่ต้องหมดสภาพเมื่อพบกับการกลายพันธุ์และจำนวนคนที่เข้าร่วมงานเทศกาลมหาศาล ทำให้การชุมนุมของชาวฮินดูให้ผลสะเทือนมากกว่าการชุมนุมของศาสนาอื่น

การชุมนุมต่างๆ นานาในไทยอาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน โจทย์ไปถึงนักชุมนุมทั้งหลายก็คือจะชุมนุมอย่างไรให้ปลอดภัยที่สุด

เกิดอะไรขึ้นกับการฉีดวัคซีน?

โครงการฉีดวัคซีนเริ่มเมื่อ 16 มกราคม 2021 ภายในเดือนกุมภาพันธ์ กรณีรายวันลดลงเหลือ 9,000 รายต่อวัน ในเดือนเดียวกันนั้นมีการนำเสนอบทความทางวิชาการโดยจำลองสถานการณ์และประเมินภูมิคุ้มกันหมู่ของประชากรอินเดียว่าใกล้เคียงกับ 60% และอ้างว่าอินเดียอาจเป็นเศรษฐกิจหลักเพียงแห่งเดียวที่ประสบความสำเร็จในการใช้กลยุทธ์การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

ทางการอินเดียและสื่ออินเดียเดูเหมือนจะภูมิใจมากกว่าการเริ่มโครงการฉีดวัคซีน (สื่อหลักอย่าง The Hindu ประโคมว่ามันคือโครงการฉีดวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดในโลก) และมีการประกาศว่าอินเดียเป็นประเทศที่จัดการฉีกวัคซีนเร็วที่สุดในโลก โดยข้อมูลจาก Our World in Data เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ระบุว่า อินเดียฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 142.52 ล้านโดส ซึ่งดูเหมือนจะมาก แต่หากเทียบกับจำนวนประชากรกว่า 1,350 ล้านคน มีผู้ได้รับวัคซีนโดสแรก 119.88 ล้านคน คิดเป็น 8.8% และได้รับครบ 2 โดส 22.63 ล้านคน คิดเป็น 1.7% ของประชากรเท่านั้น ยังไม่ถึงระดับที่คาดว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่

นอกจากนี้โครงการฉีดวัคซีนของอินเดียยังเริ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านอุปทาน จนอินเดียระงับการส่งออกวัคซีน Oxford–AstraZeneca ไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนี้ยังมีความลังเลของประชาชนที่จะรับการฉีดวัคซีน และการขาดความรู้เกี่ยวกับโครงการในหมู่คนยากจนและชุมชนในชนบทก็ส่งผลกระทบต่อโครงการเช่นกัน

ในจุดนี้ รัฐบาลไทยจะต้องศึกษาตัวอย่างเอาไว้โดยเฉพาะการเกิดความกังขาต่อวัคซีนจนไม่กล้าฉีด หากประชาชนเกิดความรู้สึกนี้ขึ้นมาเมื่อไร หายนะอาจจะตามมาแน่นอน 

แต่สิ่งที่ต้องตระหนักไว้ก็คือ แม้แต่อินเดียที่ผลิตวัคซีนได้เองยังเอาไม่อยู่ แล้วไทยที่ผลิตวัคซันได้บ้างในระดับหนึ่งและจะเข็นออกมาในเดือนมิถุนายนนี้จะประมาทไม่ได้เด็ดขาด ขนาดยักษ์ยังล้มมาแล้วกับเชื้อกลายพันธุ์และการกลายพันธุ์คงจะไม่หยุดแค่นี้แน่นอน

ไทยเราต้องระวังเอาไว้

แก้วิกฤตวัคซีนอย่างไร?

ประมาณหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่บทความนี้ถูกเขียนขึ้น รัฐบาลอินเดียอนุญาตให้ภาคส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่รัฐบาลสามารถจัดซื้อวัคซีรจากผู้ผลิตได้โดยตรงล้วโดยจัดระเบียบการแจกจ่ายวัคซีนเสียใหม่โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ โดย 50% จะดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐบาลกลางเพื่อฉีดให้กลุ่มเสี่ยงและอีก 50% เปิดให้เอกชนหรือรัฐต่างๆ จัดหากันเอง เพื่อรองรับภาวะขาดแคลน

ประเด็นนี้มีการนำเสนอในไทยเช่นกันและโพสต์ทูเดย์ได้เคยวิเคราะห์ไปแล้วถึงผลดีผลเสีย (เรื่อง "เอกชนนำเข้าวัคซีนเองอาจทำให้ของปลอมระบาด" ในกรณีของอินเดียมีผู้ติงว่าการเปิดเสรีวัคซีนอาจทำให้เกิดผลเสียคือราคาวัคซีนจะแพงขึ้นมาและเกิดความไม่เท่าเทียมกันขึ้นมาในสังคม เป็นประเด็นที่เกรงกันว่าจะเกิดกับไทยเช่นกัน

แต่ในสถานการณ์แบบนี้ดูเหมือนว่าอินเดียจะไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว ที่รัฐบาลต้องเปิดเสรีวัคซีนเพราะรัฐบาลรัฐท้องถิ่นต่างๆ และภาคส่วนอื่นๆ บ่นว่ารัฐบาลกลางชักช้าในการกระจายวัคซีน รัฐบาลจึงอาจใช้ไม้นี้โยนความรับผิดชอบให้ "พวกช่างบ่น" ไปแบกรับกันเสียบ้าง

อีกเหตุผลก็คือผู้ผลิตวัคซีนไม่ค่อยจะแฮปปี้กับราคาที่ขายให้รัฐซึ่งเป็นราคาอุดหนุน พวกเขาต้องการราคาที่สมเหตุสมผลในทางธุรกิจมากขึ้น เช่น AstraZeneca ที่ขายในอินดียราคาแค่ 3 ดอลลาร์ขณะที่วัคซีนยี่ห้ออื่นๆ ในตลาดโลกสูงถึงหลัก 10 -  30 ดอลลาร์

โปรดเข้าใจว่าผู้ผลผลิตวัคซีนในที่นี้คือผู้ผลิตในอินเดีย พวกเขาจึงต่อรองกันได้ไม่ต้องพินอบพิเทายักษ์ใหญ่วงการเวชภัณฑ์ที่เขี้ยวลากดิน ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ แทบไม่มีสิทธิ์ต่อรองอะไรแบบนี้เลยหากไม่มีฐานผลิตวัคซีนแบบอินเดีย

โดย จารุณี นาคสกุล / กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Prakash SINGH / AFP