posttoday

เอกชนนำเข้าวัคซีนเองอาจทำให้ของปลอมระบาด

22 เมษายน 2564

การเปิดโอกาสให้เอกชนนำเข้าวัคซีน Covid-19 ของไทย เสี่ยงผู้ไม่หวังดีแอบอ้างชื่อบริษัทขายวัคซีนปลอม

การระบาดระลอกใหม่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและธุรกิจมหาศาล เกิดเสียงวิจารณ์รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาเรื่องการจัดหาวัคซีนต้าน Covid-19 ซึ่งตามปกติเสียงตำหนิทำนองนี้ก็มีอยุ่แล้ว แต่ในช่วง "เวฟที่สาม" มันรุนแรงขึ้น 

จนในที่สุดภาคเอกชนของไทยก็ขยับตัว มีการรวมกันกว่า 40 บริษัทเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาช่วยเจรจาจัดหาวัคซีนและเร่งฉีดให้ประชาชน เพื่อจะได้รีบกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง

นอกจากนี้ ในเวลาไล่เลี่ยกัน เจ้าสัวธนินทร์ เจียรวนนนท์ ก็คงทนไม่ไหวเหมือนกันจึงออกมาฝากข้อความแบบตรงไปตรงมาถึงรัฐบาลว่า ให้ส่งเสริมและสนับสนุนเอกชนนำเข้าวัคซีน โดยอย่างน้อยก็ให้แต่ละบริษัทนำเข้ามาฉีดให้พนักงานของตัวเอง เพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาล

จนถึงวันนี้คนไทยได้รับการฉีดวัคซีนต้าน Covid-19 ไม่ถึง 1% ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ฉีดได้ตัวเลข 2 หลัก อาทิ สิงคโปร์ ที่ฉีดโดสแรกให้ประชาชนไปแล้วเกือบ 20% และอีก 10% ได้รับครบทั้งสองโดสแล้ว ส่วนในอิสราเอลฉีดแล้วกว่า 60% จนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยแล้ว

เพราะฉะนั้นการแก้ตัวว่ารัฐบาลไทยไม่สามารถซื้อวัคซีนให้เพียงพอ ในขณะที่ประเทศอื่นรวมทั้งเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียจัดหาวัคซีนนมาฉีดให้ประชาชนได้ ก็ไม่ต่างกับการยอมรับความไร้ประสิทธิภาพของตัวเอง จนเอกชนต้องออกหน้ากันเอง

การจัดหาวัคซีนถือเป็นการทดสอบภาวะผู้นำของไทย เพราะในช่วงเกิดโรคระบาด 1 วันที่ฉีดวัคซีนล่าช้าคือ 1 วันแห่งการเสียโอกาส และ 1 วันแห่งความสิ้นหวัง

ทว่า กว่ารัฐบาลไทยจะตัดสินใจสั่งวัคซีน 61 ล้านโดสจาก AstraZeneca (แอสตราเซเนกา) ผ่านบริษัท Siam Bioscience (สยามไบโอไซแอนซ์) ก็ปลายเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว ขณะที่สหรัฐ สหราชอาณาจักร และอิสราเอล ทำสัญญาตั้งแต่เดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว ส่วนเวียดนาม อินโดนีเซียเป็น 2 ประเทศแรกในอาเซียนที่สั่งวัคซีนตั้งแต่เดือน ส.ค.ปีที่แล้ว

เพราะเหตุนี้เอกชนจึงเสนอตัวเข้ามาช่วยจัดหาวัคซีนเองเพราะรอรัฐบาลไม่ไหวแล้ว

อย่างไรก็ดี การเปิดโอกาสให้เอกชนสั่งวัคซีนต้าน Covid-19 นอกจากจะติดข้อจำกัดที่ผู้ผลิตต้องการจำหน่ายให้รัฐบาลเท่านั้น เพราะมีข้อตกลงยกเว้นความรับผิดของบริษัทผู้ผลิต (indemnity) ในกรณีเกิดผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน โดยให้รัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบแทน เนื่องจากเป็นการอนุมัติวัคซีนแบบฉุกเฉิน ยังอาจมีปัญหาเรื่องวัคซีนปลอม

เมื่อเอกชนได้วัคซีน อาจมีคนฉวยโอกาสในช่วงที่คนกำลังต้องการวัคซีนทำวัคซีนปลอมขึ้นมาแล้วแอบอ้างว่าได้มาจากบริษัทต่างๆ แล้วนำออกมาขายเองฉีดเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองไทยที่เราก็ทราบกันดีว่ามีปัญหาเรื่องการขายยาปลอม ครีมปลอม ฉีดยาปลอมไม่น้อย

ความกังวลนี้มีตัวอย่างให้ดูที่ฟิลิปปินส์ที่ไฟเขียวให้เอกชนนำเข้าวัคซีนต้าน Covid-19 โดยตรงจากบริษัทผู้ผลิตเพื่อฉีดให้พนักงานของตัวเองแล้ว

ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตร์เต ถึงกับเตือนบริษัทเอกชนให้ระวังว่าจะได้วัคซีนปลอมหากซื้อจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ และขู่จะดำเนินคดีกับคนที่ผลิตวัคซีนปลอม

เช่นเดียวกับที่อินโดนีเซียที่มีเสียงคัดค้านการเปิดโอกาสให้เอกชนนำเข้าวัคซีน ดิกกี บูดิแมน นักระบาดวิทยาของอินโดนีเซียเผยว่า “วัคซีนคือสินค้าสาธารณะซึ่งไม่สามารถใช้กลไกราคาจากอุปสงค์และอุปทานเข้ามาทำหน้าที่จัดสินค้าและบริการได้ เราทราบดีว่ามีความต้องการวัคซีนจำนวนมาก และมีโอกาสที่จะเกิดวัคซีนปลอมหรือไม่ได้มาตรฐาน”

และล่าสุด บริษัท Pfizer (ไฟเซอร์) ตรวจพบการใช้วัคซีนต้าน Covid-19 ปลอมของบริษัทที่เม็กซิโกและโปแลนด์ โดยที่เม็กซิโกพบ 80 โดสในคลินิกแห่งหนึ่งที่รัฐนวยโวเลออง ซึ่งตัวเลขล็อตแตกต่างจากล็อตที่ส่งไปที่รัฐดังกล่าว ส่วนที่โปแลนด์พบว่าวัคซีนที่ยึดมาจากอพาร์ทเม้นต์ของชายรายหนึ่งเป็นทรีทเม้นต์ต่อต้านริ้วรอยแทนที่จะเป็นวัคซีนต้าน Covid-19

จริงอยู่ว่าภาคเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหาวัคซีนให้คนไทยเพื่อชดเชยความล่าช้าของรัฐบาล แต่การกระจายวัคซีนของเอกชนก็ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของนโยบายที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เพราะจุดประสงค์หลักของวัคซีนคือการลดอัตราการเสียชีวิตให้กับกลุ่มเสี่ยงเป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ

แต่หากเอกชนนำเข้าวัคซีนได้ คุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการฉีดจะขึ้นอยู่กับว่าคนคนนั้นเป็นพนักงานของบริษัทที่นำเข้าหรือเปล่า ซึ่งไม่ใช่นโยบายทางสาธารณสุข แต่เป็นนโยบายทางเศรษฐกิจ

บูดิแมนยังมองว่า การเปิดโอกาสให้เอกชนนำเข้ายังมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในสังคม นอกจากผู้คนส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์จากการฉีดวัคซีนแล้ว แนวทางนี้ยังทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ และยังเผยว่า “ข่าวลือเรื่องพลเมืองชั้น 1 พลเมืองชั้น 2 จะผุดขึ้นทันทีที่โครงการนี้เริ่มขึ้น”

เมื่อพูดถึง "ข่าวลือ" ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องกังวล เพราะข่าวลือเป็นศัตรูที่ร้ายกาจของความพยายามให้ความรู้มที่ถูกต้องเรื่องวัคซีน ในสถานการณ์กระแสต่อต้านวัคซีน (Antivax) มีให้เห็นอยู่ทั่วไปเพราะการปล่อยข่าวลือ/ข่าวปลอมผิดๆ เรื่องผลกระทบของวัคซีน แต่ในสถานการณ์ตอนนี้มีคนต้องการวัคซีนมากกว่าจนกลบกระแสต่อต้าน ยิ่งความต้องการมากแค่ไหน ยิ่งมีพวกหัวหมอในทางไม่ดีใช้ประโยชน์จากข่าวลือเพื่อขายของปลอมมากเท่านั้น

รัฐบาลหลายประเทศต้องรับศึกสองด้าน คือศึกต้านไวรัสและศึกข่าวปลอมที่เกี่ยวกับโควิด-19 จากการประเมินของเรา รัฐบาลทำหน้าที่ให้ความรู้แก่ประชาชนได้ดี แต่ยังขาดการทำงานในเชิงรุก คือการกำจัดข่าวปลอมหรือแม้แต่การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการระบาดด้วยข้อมูลที่ผิด เมื่อข้อมูลผิดๆ แพร่กระจายไป มันจะเป็นการปูทางให้สังคมเกิดความสับสนและชื่อในสิ่งที่ไม่ควรเชื่อ 

เช่น การให้ข้อมูลที่ไม่ชัดเจนหรือปล่อยให้ข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับโครงการวัคซีนค้างคาในอินเทอร์เน็ต จะทำให้ประชาชนไม่มั่นใจวัคซีนของรัฐ ไปเรียกร้องเอาจากภาคเอกชน เมื่อเรียกร้องเอาจากเอกชนไม่ได้ ก็จะเสาะแสวงหาเอาเองในตลาดมืด ซึ่งหลายๆ ประเทศเกิดเรื่องพวกนี้ขึ้นแล้ว

ดังนั้น รัฐบาลจะต้อง "ผูกขาด" การกระจายวัคซีนเอาไว้ก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดช่องโหว่ที่ทำให้ประชาชนคิดไปเองว่า "หาวัคซีนจากไหนก็ได้" แต่ไม่ได้หมายความว่าจะห้ามเอกชนนำเข้า สิ่งที่จะต้องระวังคือการนำเข้าของเอกชนจะไปทำให้เกิดปัญหาที่เอ่ยมาหรือไม่ และจะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร? 

ที่สำคัญที่สุดก็คือ "เอกชน" ที่เสนอตัวจัดหาวัคซีนเป็นธุรกิจที่แสวงหาผลกำไร สิ่งแรกที่ธุรกิจะคิดถึงคือผลกำไร ไม่ใช่การกุศล (แน่นอนว่าพวกเขาย่อมทำการกุศลด้วย แต่ถ้าเอาการกุศลนำหน้าพวกเขาก็คงไม่ถือเป็นบริษัทอีกต่อไป) 

ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้ารัฐบาลไทยมีประสิทธิภาพและมองการณ์ไกลมากพอ รีบจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยให้ได้มากที่สุดเร็วที่สุด งานนี้คงไม่ต้องถึงมือเอกชน 

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP