posttoday

สหรัฐโค่นรัฐบาลประเทศที่ตัวเองไม่พอใจด้วยวิธีไหน

23 เมษายน 2564

แต่ไหนแต่ไรมาสหรัฐมีวิธีจัดการเขี่ยผู้นำประเทศอื่นที่ขัดผลประโยชน์ทั้งที่ดำเนินการอย่างชัดเจนและทำแบบลับๆ โพสต์ทูเดย์จะพาไปดูวิธีเหล่านั้น

ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐพยายามเข้าไปแทรกแซงกิจการของประเทศอื่นมาโดยตลอดนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1800 สงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามเย็น เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งที่ดำเนินการอย่างชัดเจนและทำแบบลับๆ เพื่อถอนรากถอนโคนรัฐบาลต่างประเทศที่อยู่คนละฝ่ายกับตัวเอง

งานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า ระหว่างปี 1946–2000 สหรัฐแทรกแซงการเลือกตั้งของประเทศอื่นทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างน้อย 81 ครั้ง และอีกชิ้นหนึ่งระบุว่า ช่วงสงครามเย็นสหรัฐดำเนินการในทางลับ 64 ครั้ง และดำเนินการแบบเปิดเผย 6 ครั้ง เพื่อเปลี่ยนตัวรัฐบาลของประเทศอื่น

ต่อไปนี้คือเหตุการณ์ที่น่าสนใจ

1945–1949: จีน

รัฐบาลสหรัฐให้การช่วยเหลือทั้งทางทหาร การส่งกำลังบำรุงทางทหาร และความช่วยเหลืออื่นแก่พรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ซึ่งนำโดยเจียงไคเช็ก ในการทำสงครามสู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์ที่นำโดยเหมาเจ๋อตง ทั้งสองพรรคนี้ยังสู้รบกับกองกำลังของญี่ปุ่นที่เข้ามายึดครองจีนจนกระทั่งญี่ปุ่นยอมแพ้สหรัฐในเดือน ส.ค.1945

หลังจากญี่ปุ่นยอมแพ้ สหรัฐยังคงสนับสนุนพรรคก๊กมินตั๋งทำสงครามการเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์ต่อ ทหารสหรัฐราว 50,000 นายถูกส่งมารักษาการณ์ตามจุดยุทธศาสตร์ในมณฑลหูเป่ยและชานตง และยังฝึกอบรมให้ทหารของพรรคก๊กมินตั๋ง ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปีหลังจากสงครามจีน-ญี่ปุ่นจบลง พรรคก๊กมินตั๋งได้รับเงินสนับสนุนจากกองทัพ 4,430 ล้านเหรียญสหรัฐ

1952: อียิปต์ 

เดือน ก.พ. 1952 หลังเหตุจลาจลในกรุงไคโรท่ามกลางความไม่พอใจเป็นวงกว้างของชาวอียิปต์ชาตินิยมที่อังกฤษเข้ามายึดคลองสุเอซ และความพ่ายแพ้สงครามอาหรับ-อิสราเอลในปี 1948 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้ส่ง เคอร์มิต รูสเวลต์ จูเนียร์ เจ้าหน้าที่ซีไอเอเข้าพบพระเจ้าฟารูกที่ 1 แห่งอียิปต์ เพื่อโน้มน้าวให้พระเจ้าฟารูกทำการปฏิรูป เพื่อให้ข้อเรียกร้องของกลุ่มอียิปต์หัวรุนแรงอ่อนลงและช่วยให้อำนาจของพระเจ้าฟารูกมั่นคงขึ้น

สหรัฐได้รับการแจ้งล่วงหน้าถึงความสำเร็จของการปฏิวัติในปี 1952 ที่นำโดยทหารสายชาตินิยมในกองทัพอียิปต์ที่เรียกตัวเองว่า "Free Officers" ที่โค่นล้มระบบกษัตริย์ของอียิปต์แล้วเปลี่ยนประเทศเป็นสาธารณรัฐภายใต้การปกครองของนายพล โมฮาเหม็ด นากิบ ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีคนแรกของอียิปต์

ไมล์ส โคปแลนด์ จูเนียร์ เจ้าหน้าที่ซีไอเอ ระบุไว้ในบันทึกความทรงจำว่า รูสเวลต์ จูเนียร์ ทำหน้าที่ประสานงานในการประชุมก่อนการปฏิวัติ 3 ครั้งกับกลุ่มคนที่จะลงมือปฏิวัติ รวมทั้งญะมาล อับเดล นาสเซอร์ ซึ่งต่อมาได้เป็นประธานาธิบดีของอียิปต์ แม้ว่าข้อมูลของโคปแลนด์ จูเนียร์ จะยังไม่ได้รับการยืนยันจากเอกสารลับที่นำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่ก็มีพยานแวดล้อมยืนยัน

ด้านฮิวจ์ วิลฟอร์ด ระบุว่า “ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ซีไอเอจะติดต่อกับ Free Officers ก่อนการปฏวัติในปี 1952 หรือไม่ แต่หลังจากการปฏิวัติมีการติดต่ออย่างลับๆ ระหว่างสหรัฐกับอียิปต์”

1970–1973: ชิลี 

ในการเลือกตั้งของชิลีเมื่อปี 1964 รัฐบาลสหรัฐและซีไอเอทุ่มเงิน 2.6 ล้านเหรียญสหรัฐ สนับสนุน เอดูอาร์โด เฟรย์ มอนตัลวา ชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีกับ ซัลวาดอร์ อัลเยนเต นักการเมืองฝ่ายสังคมนิยมที่มีสายสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์ชิลีที่รัสเซียหนุนหลัง รวมทั้งเงินทุนในการโจมตีทำลายชื่อเสียงของอัลเยนเต แต่สุดท้ายเอเยนเต้ชนะการเลือกตั้ง

เมื่อแผนแรกไม่สำเร็จ ซีไอเอจึงส่งคนไปลักพาตัวนายพล เรเน ชไนเดอร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของชิลี เพื่อกล่อมให้นายพลชไนเดอร์ร่วมมือทำรัฐประหาร แต่นายพลชไนเดอร์ไม่เอาด้วยจึงถูกสังหารในปี 1970

หลังจากแผนล้มเหลวถึง 2 ครั้ง ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ของสหรัฐและเฮนรี่ คิสซิงเจอร์ ได้ประชุมกับ CIA เพื่อหาทางโค่นล้มอำนาจอัลเยนเต้  โดยได้ข้อสรุปว่าจำเป็นต้องมีรัฐประหารเกิดขึ้นในประเทศชิลี เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางธุรกิจของสหรัฐอเมริกาและสกัดกั้นการขยายตัวของแนวคิดสังคมนิยม ในที่สุดจึงมีการเลือกนายพลออกุสโต ปิโนเชต์ เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร โดยรัฐบาลสหรัฐสนับสนุนอาวุธ การข่าว รวมไปถึงงบประมาณสำหรับรัฐประหารครั้งนี้

รัฐประหารเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 11 กันยายน 1973 โดยกองทัพชิลีภายใต้การนำของนายพลปิโนเชต์ยกกองกำลังเข้าถล่มทำเนียบประธานาธิบดี จนกระทั่งในที่สุดกองทัพของชิลีภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาได้รับชัยชนะ ประธานาธิบดีอัลเยนเดกระทำอัตวินิบาตกรรม และการปกครองภายใต้ระบบทหารก็ได้เริ่มขึ้นในชิลี พร้อมไปกับการสิ้นสุดระบอบประชาธิปไตยของประเทศชิลี ทั้งหมดนี้ล้วนสร้างความมั่นใจให้กับสหรัฐว่ารัฐบาลที่มีแนวความคิดแบบมาร์กซิสจะไม่มีโอกาสเข้ามาปกครองชิลีอีกจากปฏิบัติการในครั้งนี้

1997–1998: อินโดนีเซีย 

หลังวิกฤตทางการเงินปี 1997 ในอินโดนีเซียเก้าอี้ประธานาธิบดีของซูฮาโตเริ่มไม่มั่นคง ทำให้รัฐบาลประธานาธิบดี บิล คลินตัน สบช่องกำจัดซูฮาโต ด้วยการร่วมมือกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ขัดขวางการตั้งบอร์ดควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราเพื่อให้ค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียมั่นคงขึ้นของซูฮาโต

IMF ยังแนะนำให้รัฐบาลอินโดนีเซียขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดเงินเฟ้อ โดยต่อมาซูฮาโตขึ้นดอกเบี้ยไปอยู่ที่ 70% ในปี 1998 เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอันเนื่องจากสินค้านำเข้าที่ราคาสูง แต่กลายเป็นว่านโยบายนี้ไปจำกัดการเข้าถึงเงินกู้ของภาคเอกชน จึงเกิดความไม่พอใจ จนเกิดจลาจลปล้นร้านค้าและเผาสิ่งของในกรุงจาการ์ตา

เหตุการณ์นี้ลุกลามบานปลายเป็นการประท้วงทั่วประเทศ กลุ่มนักเรียนนักศึกษาบุกยึดอาคารรัฐสภาและเกิดกระแสเรียกร้องจากฝ่ายที่เคยหนุนให้ซูฮาโตลาออกจากตำแหน่งจนความนิยมในตัวเขาลดลงเรื่อยๆ กระทั่งซูฮาโตยอมลาออกในวันที่ 21 พ.ค. 1998 หลังอยู่ในตำแหน่งกว่า 30 ปี

2019–ปัจจุบัน: เวเนซุเอลา 

หลังจาก ฮวน กุยโด ประธานสภานิติบัญญัติของเวเนซุเอลาประกาศให้ตัวเองเป็นประธานาธิบดีเฉพาะกาลคู่ขนานกับ ประธานาธบดี นิโกลัส มาดูโร ไม่นานสหรับก็ออกมารับลูกด้วยการยอมรับให้กุยโดเป็นผู้นำที่ถูกต้องตามกฎหมายของเวเนซุเอลา ส่วน ไมค์ เพนซ์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นก็สำทับว่า สหรัฐจะทำทุกวิถีทางเพื่อโค่นมาดูโร

ส่วนบันทึกที่สำนักข่าวเอเอฟพีได้มาระบุว่า  หน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (USAID) โยกงบประมาณ 41.9 ล้านเหรียญสหรัฐมาสนับสนุนกุยโด และอีก 19.4 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับเป็นเงินเดือนทีมงานของกุยโด รวมถึงเงินสนับสนุนฝ่ายค้านที่ดำเนินการต่อรองกับรัฐบาลมาดูโรอีก 2 ล้านเหรียญสหรัฐ  

รัฐบาลอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ยังกดดันให้มาดูโรลาออกด้วยการออกมาตรการคว่ำบาตรเวเนซุเอลาเพิ่มเติม โดยสั่งอายัดทรัพย์สินทั้งหมดของรัฐบาลเวเนซุเอลาที่อยู่ในสหรัฐ และห้ามไม่ให้ทำธุรกรรมใดๆ กับพลเมืองและบริษัทสหรัฐ

Photo by Brendan Smialowski / AFP